คอลัมนิสต์

"หมออนามัย" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้

"หมออนามัย" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้

29 พ.ค. 2561

"หมออนามัย" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน   โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ   [email protected]  

   
          “การส่งต่อผู้ป่วยจากที่เกาะหลีเป๊ะขึ้นฝั่งยังมีความเสี่ยงทั้งเจ้าหน้าที่และคนไข้ ในหน้ามรสุมผมเคยนำส่งผู้ป่วยโดยเผชิญคลื่นทะเลที่หนักสุดสูงถึง 5 เมตร และมีน้ำเข้าตัวลำเรือ" นราศักดิ์ บินดาโว๊ะ พยาบาลวิชาชีพเวชปฏิบัติชำนาญการ รพ.สต.หลีเป๊ะ
   

          ณ พื้นที่ห่างจากฝั่งท่าเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ออกไป 65 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยสปีดโบ๊ทราว 1.30 ชั่วโมง เป็นที่ตั้งของ “เกาะหลีเป๊ะ”  บนเกาะแห่งนี้มีสถานพยาบาลของรัฐเพียงแห่งเดียว คือ “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลีเป๊ะ” ที่นี่ไม่มีแพทย์อยู่ประจำ มีเพียงพยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข 4 คน ที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “หมออนามัย” ทำหน้าที่ดูแลชาวบ้าน  ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ในยามฤดูมรสุมหากมีคนไข้ต้องส่งต่อรับการรักษาบนฝั่ง บางคราต้องฝ่าคลื่นสูงถึง 5 เมตรอยู่บนเรือสปีดโบ๊ทธรรมดาเพื่อนำส่งผู้ป่วย!!!    

 

\"หมออนามัย\" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้

 

          พงษ์ธร แก้วผนึก อายุ 35 ปี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.หลีเป๊ะ หรือชาวบ้านเรียกติดปากว่า “หมอหนึ่ง” เล่าว่า ทำงานประจำที่นี่มานาน 6 ปี เพราะเห็นว่าการประจำอยู่พื้นที่เกาะจะทำให้สามารถช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนได้มากกว่าการอยู่บนฝั่ง โดยรพ.สต.หลีเป๊ะ ตั้งอยู่ตำบลเกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล โดย รพ.สตูลเป็นแม่ข่าย ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา รับส่งต่อและกระจายยา เวชภัณฑ์และวัคซีนต่างๆ รวมถึงส่งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาดูแลตรวจรักษาเดือนละ 2 ครั้ง  ซึ่ง รพ.สต.หลีเป๊ะ จะเจาะเลือดผู้ป่วยและแพ็กส่งไปยัง รพ.สตูล วิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ ก่อนที่แพทย์จะลงตรวจในพื้นที่ ส่วนในฤดูกาลท่องเที่ยวของเกาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม นักท่องเที่ยวเดินทางมาราว 5 แสนคนต่อปี จะมีคลินิกเอกชน 3 แห่งเปิดให้บริการด้วย 

 

 

\"หมออนามัย\" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้


          ในส่วนของยา รพ.สต.หลีเป๊ะ ได้รับการจัดสรรยาจากรพ.สตูล ครบทุกชนิดยาตามศักยภาพของรพ.สต. แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ ด้วยข้อจำกัดของการเป็นรพ.สต. ทำให้ไม่สามารถนำยาฉุกเฉินบางชนิดมาเก็บไว้ได้ เพราะเป็นยาที่จะต้องจัดไว้ในโรงพยาบาลระดับสูงกว่ารพ.สต. ทว่าเกาะหลีเป๊ะห่างจากฝั่งค่อนข้างมาก เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นและจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ก็ไม่มียาใช้ จะต้องส่งต่อผู้ป่วยหรือขอรับยาจากรพ.สตูล ซึ่งต้องใช้เวลาเร็วสุดในการเดินทางด้วยสปีดโบ๊ทถึงฝั่ง 1.30 ชั่วโมง หากเป็นในเวลากลางคืนหรือฤดูมรสุมเวลาการเดินทางก็จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งช่วงฤดูท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยอุบัติเหตุหรืออาหารเป็นพิษราว 12 คนต่อเดือน

          นอกจากนี้ยังต้องเผชิญปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยโดยจะต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากรถซาเล้งลงเรือหางยาว และต่อด้วยนำขึ้นสปีดโบ๊ท เพราะบางช่วงเวลาไม่สามารถเทียบท่าหน้าหาดได้ ซึ่งการเคลื่อนย้ายจะมีเพียงสายรัดอย่างเดียว เสี่ยงที่คนไข้จะร่วงตกได้ ขณะที่สปีดโบ๊ทก็จะเป็นเรือธรรมดาทั่วไปจึงไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตใดๆ เพิ่มเติม หากเกิดกรณีคนไข้หยุดหายใจก็ต้องปั๊มหัวใจบนเรืออย่างเดียว  ในช่วงมรสุมบางครั้งระหว่างทางที่นำส่งผู้ป่วยโดยเฉพาะยามที่มีฝนตกหรือคลื่นลมแรงจะเห็นถังออกซิเจนลอยไปกับทะเล  เพราะคลื่นกระแทกหนักมากทำให้เครื่องมือต่างๆ ที่นำไปปลิวและตกลงทะเล เป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว จึงอยากได้รับการสนับสนุน “เรือพยาบาลฉุกเฉิน” ที่มีอุปกรณ์พร้อมในการดูแลผู้ป่วยระหว่างการเดินทาง

 

\"หมออนามัย\" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้



          หมอหนึ่ง ​ให้ความเห็นว่า หากเป็นไปได้อยากให้มีการยกระดับรพ.สต.หลีเป๊ะ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง เพื่อให้มีศักยภาพในการเก็บรักษายาฉุกเฉินเพิ่มมากกว่าระดับรพ.สต. และมีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตที่มากขึ้น อีกทั้งมีแพทย์อยู่ประจำ จะส่งผลดีต่อการดูแลประชาชนชาวเกาะ อีกทั้งยังขยายผลสู่การดูแลนักท่องเที่ยวในรูปแบบการขายหลักประกันสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้จากข้อจำกัดที่ว่าสถานพยาบาลจะต้องมีแพทย์อยู่ประจำ​จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้หน่วยบริการจากที่ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ เพราะได้รับการจัดสรรเพียง 1,300 คนต่อปีตามจำนวนชาวบ้านในพื้นที่ แต่มีประชากรแฝงทั้งที่เป็นแรงงานต่างๆ และนักท่องเที่ยวราว 4,000-5,000 คน เนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด

          เช่นเดียวกัน นราศักดิ์ บินดาโอ๊ะ อายุ 29 ปี พยาบาลวิชาชีพเวชปฏิบัติชำนาญการ รพ.สต.หลีเป๊ะ สะท้อนว่า  ทำงานที่นี่มา 3 ปี การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของที่นี่ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างมาก แม้ที่ผ่านมาจะร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่โดยการอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการฟื้นคืนชีพเบื้องต้นให้แก่ไกด์นำเที่ยวเพื่อช่วยดูแลนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะลำพังเพียงเจ้าหน้าที่รพ.สต. 4 คนไม่สามารถดำเนินการได้ทัน โดยเฉพาะในฤดูกาลท่องเที่ยว ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนไกด์ฉุกเฉินราว 50 คน จึงอยากให้มีการยกระดับรพ.สต. เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก เนื่องจากที่นี่เป็นสถานพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียวบนเกาะ จะทำให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยมีศักยภาพมากขึ้น 

 

\"หมออนามัย\" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้

 

          “การส่งต่อผู้ป่วยจากที่เกาะหลีเป๊ะขึ้นฝั่งยังมีความเสี่ยงทั้งเจ้าหน้าที่และคนไข้ ในหน้ามรสุมผมเคยนำส่งผู้ป่วยโดยเผชิญคลื่นทะเลที่หนักสุดสูงถึง 5 เมตร และมีน้ำเข้าเรือ แม้ตามหลักการการส่งต่อผู้ป่วยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงเมิื่อเห็นอยู่ตรงหน้ามีคนไข้ที่มีสิทธิ์รอดก็จำเป็นต้องเสี่ยง แม้การประกันภัยของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนก็ตาม” นายนราศักดิ์เล่า  
     
          นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ดอภ.) กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม รพ.สต.หลีเป๊ะ และรับฟังปัญหาว่า  สำหรับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอาจจะพิจารณาในรูปแบบของ “เขตสุขภาพพิเศษ” ตามนโยบายของสธ. เนื่องจากเป็นพืื้นที่เกาะจำเป็นต้องพัฒนาเป็นระบบเขตพิเศษเพื่อดูและประชาชนที่อยู่ห่างไกลรวมถึงนักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยและการส่งต่อ ทำให้สามารถช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น
   
          รวมถึงการให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงยาที่เป็นภารกิจหนึ่งของอภ. ในส่วนของเกาะหลีเป๊ะการเข้าถึงยาสามัญพื้นฐานไม่มีปัญหา แต่พื้นที่นี้มีลักษณะเฉพาะคือเป็นเกาะและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงมีความต้องการที่จะใช้ยาฉุกเฉินบางชนิดที่มีปัญหาไม่สามารถสำรองไว้ที่รพ.สต.ได้เพราะข้อกำหนดให้สำรองไว้เฉพาะในโรงพยาบาล ดังนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สตูล จะต้องลองพิจารณาจัดระบบในเรื่องนี้ซึ่งหากเป็นยาที่ผลิตหรือจำหน่ายโดยอภ.ก็พร้อมให้ความร่วมมือ         
  

 

\"หมออนามัย\" แห่งหลีเป๊ะฝ่าคลื่น5เมตรส่งต่อคนไข้


          “อีกหนึ่งปัญหาที่รับทราบจากระดับพื้นที่ในเรื่องการเข้าถึงยาของอภ. เช่นที่โรงพยาบาลสตูล คือกรณียาขาดคราว หรือไม่สามารถส่งยาในคราวเดียวกันได้ครบตามใบสั่งซื้อ ต้องทยอยส่งเป็นครั้งๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่อภ.จะรับไปดำเนินการปรับเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก อาจจะมีการขยายกำลังการผลิตรวมถึงพิจารณาเรื่องการจัดส่งให้มีความรวดเร็วขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว

          สำหรับระบบการกระจายยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ของอภ.ไปยังพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ จะมีกระบวนการโดยอภ.จะส่งยาและเวชภัณฑ์จากโรงงานผลิตไปเก็บสำรองไว้ที่คลังของอภ.สาขาภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่จะรับผิดชอบการจำหน่ายให้พื้นที่ 7 จังหวัด คือ ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล นราธิวาส ปัตตานี และยะลา เมื่อโรงพยาบาลสตูลที่เป็นแม่ข่ายสั่งซื้อยาก็จะดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์ให้ถึงภายใน 3 วันนับจากวันที่ได้รับใบสั่งซื้อ จากนั้นโรงพยาบาลสตูลจะเป็นหน่วยงานกระจายยาต่อไปยังรพ.สต.ที่เป็นลูกข่าย ซึ่งมีรพ.สต.ที่เป็นพื้นที่เกาะ 6 แห่ง ได้แก่ เกาะสาหร่าย ตันหยงกลิง เกาะยาว ปูยู ตำมะลัง และหลีเป๊ะ