
"พระ"ถูกจับดำเนินคดีอาญา.. ต้องสึก ?
พระชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกกล่าวหา"คดีเงินทอนวัด"และถูกตำรวจควบคุมตัว และจับกุม"พระพุทธอิสระ "ข้อหาปล้นทรัพย์ ,อั้งยี่ ซ่องโจร จะนำไปสู่การต้องสละสมณเพศหรือไม่
กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ได้ปฎิบัติการควบคุมตัวพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปที่ถูกกล่าวหามีส่วนพัวพัน"คดีเงินทอนวัด" มาสอบปากคำที่กองบังคับการปราบปรามและจับกุม "พระพุทธอิสระ "ในข้อหาสนับสนุนปล้นทรัพย์นั้น จะนำไปสู่การที่ต้อง "สละสมณเพศ" หรือ "สึก" จากความเป็น"พระ" หรือไม่
" คำตอบ"ในประเด็นนี้ ต้องพลิกไปดู พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งมีมาตราสำคัญที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญากับ"พระ" อยู่ 2 มาตรา คือ
มาตรา 29 บัญญัติว่า พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้น"สละสมณเพศ"เสียได้
จะเห็นได้ว่า ตามมาตรา 29 นั้น มี 3 กรณี คือ
1. เมื่อพนักงานสอบสวน หรือ อัยการ( แล้วแต่กรณี) เห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราว(ไม่ให้ประกันตัว) สมควรควบคุมตัวไว้ และเจ้าอาวาสที่พระรูปนั้นสังกัด ไม่ยอมรับตัวไว้ควบคุม ( ถ้าเจ้าอาวาสที่พระรูปนั้นสังกัด รับตัวไว้ควบคุมก็ไม่ต้องสึก)
หรือ
2. เมื่อพนักงานสอบสวน หรือ อัยการ( แล้วแต่กรณี) เห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราว(ไม่ให้ประกันตัว) และพนักงานสอบสวน เห็นว่าไม่ควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม
หรือ
3. เมื่อพนักงานสอบสวน หรือ อัยการ( แล้วแต่กรณี) เห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราว(ไม่ให้ประกันตัว) และพระรูปนั้นไม่มีสังกัดวัดใด ซึ่งก็คือเป็น" พระจรจัด"
ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้น"สละสมณเพศ"เสียได้
มาตรา 30 เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้น"สละสมณเพศเสีย"ได้
การจัดดำเนินการให้พระภิกษุ "สละสมณเพศ" ก็เพื่อไม่ต้องการให้พระภิกษุในผ้าเหลืองต้องถูกกักขัง ถูกควบคุมหรือเข้าไปอยู่ในคุก นั่นเอง
สำหรับการดำเนินการให้"สละสมณเพศ" หรือ "สึก " นั้น ทำได้หลายวิธี
1.เปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ หรือ คนทั่วไป
2.เปลื้องจีวรออกและนุ่งหุ่มด้วยชุดอย่างคนทั่วไป หรือชุดขาว
3.ให้ลงชื่อปฏิญญาตนเป็น "คฤหัสถ์" ซึ่งก็คือ คนทั่วไปที่ไม่ใช่ภิกษุ