
แป๊ะเจี้ยะ "สามเสน" เชือดไก่ให้ลิงดู!!มติ 6:0 ไล่ออก
แป๊ะเจี้ยะ "สามเสน" เชือดไก่ให้ลิงดู!!มติ 6:0 ไล่ออก "นายวิโรฒ สำรวล" โดย... เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ [email protected]
“แป๊ะเจี๊ยะสามเสน” มาถึงบทสรุปหลังยืดเยื้อมานาน 11 เดือน!! เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กศจ.กทม.) ที่มี นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ใช้เวลาพิจารณาราว 1 ชั่วโมง ก่อนมีมติเป็นเอกฉันท์ 6:0 ไล่ออกจากราชการ “นายวิโรฒ สำรวล” อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ฐานกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยมีผลทันทีตั้งแต่วานนี้ (10 เม.ย.)
นายวิโรฒ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกรณีผู้ปกครองเผยคลิปอ้างผอ.โรงเรียนดังย่านพระราม 6 รับเงิน 400,000 บาทแลกรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 โดยเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นบุคคลในคลิป แต่ยืนยันความบริสุทธิ์ ปฏิเสธไม่ได้รับเงิน ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กทม. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่ สพม.เขต 1 กทม. ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน จนกระทั่งผลการสืบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูลจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายวิโรฒ ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขณะที่ความก้าวหน้าในการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเพิ่งมาปรากฏชัดเจนในช่วงเดือนมกราคม 2561
กรณีดังกล่าวเป็นที่จับตามองของสังคมที่ต่างเฝ้ารอดูว่า ศธ.จะเอาจริงเอาจังในการจัดการผู้กระทำผิดหรือไม่ หรือจะเป็นแค่มวยล้มต้มคนดู ด้วยกระบวนการต่างๆ ยืดเยื้อข้ามปีซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ออกโรงยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องจบ ขีดเส้นตายว่าคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงสรุปผลการสอบสวนวินัย ภายในวันที่ 20 มีนาคม และอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 28 มีนาคม 2561 ตามที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้องขอ เพื่อดำเนินการสรุปสำนวน ก่อนจะแถลงคืบหน้าการจัดการปัญหาสารพัดทุจริตใน ศธ.
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน คณะกรรมการสอบสวนวินัย สรุปผลสอบเบื้องต้นว่า วิโรฒ กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง พร้อมมอบให้ต้นสังกัดดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบทุจริตในระบบราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาใช้กับนายวิโรฒ ซึ่งในวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา นายวินัย ยงเจตรการณ์ รองศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กรุงเทพฯ รักษาการตำแหน่งศธจ.กทม. ได้ลงนามในคำสั่งที่สำนักงาน ศธจ.กทม. ที่ 008/2561 มีสาระสำคัญว่าด้วย นายวิโรฒ ผอ.โรงเรียนสามเสนฯ สพม.เขต 1 กทม.รับเงินเดือนในระดับคศ.4(3) ขั้น 69,040 บาท มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสในการรับนักเรียน
โดยมีการรับบริจาคเงิน ในช่วงเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ในโรงเรียนสามเสนฯ ประจำปีการศึกษา 2561 และเมื่อมีผู้บริจาคเงินแล้ว ไม่ดำเนินการตรวจนับและออกใบเสร็จให้แก่ผู้รับเงินในทันที แต่กลับนำเอาเงินมาเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟของโรงเรียน โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อาศัยอำนาจตามความในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิของศธ. ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ข้อ 13 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มีนาคม 2561 ตามข้อ 2 ของมาตรการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ จึงให้นายวิโรฒ ออกจากราชการไว้ก่อน
จนถึงขณะนี้คดีแป๊ะเจี๊ยะสามเสนถือว่าสิ้นสุด เมื่อที่ประชุม กศจ.กทม.ที่ลงคะแนนเสียง 6:0 ให้ลงโทษวินัยอย่างร้ายแรงให้ไล่ออกจากราชการ ซึ่งจะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ ทั้งนี้ การลงโทษกรณีกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้นมี 2 กรณี คือ ปลดออก หรือไล่ออก ซึ่งแว่วมาว่ากรณีนายวิโรฒ คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพฯ ด้านบุคคล ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาโทษวินัยอย่าง “ปลดออก” ซึ่งจะยังได้รับบำนาญ เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา นายวิโรฒ ก็ปฏิบัติงานอย่างดีมีความดีความชอบ
แต่เนื่องจากคณะกรรมการทั้ง 6 คนได้พิจารณารอบด้าน และเห็นตรงกันว่าควรยึดมาตรฐานการลงโทษตามมติครม.ปี 2536 ว่าการทุจริตต่อหน้าที่ราชการกำหนดมาตรฐานโทษไว้ว่า “ไล่ออก” อย่างเดียว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานโทษ
ว่ากันว่า กรณีแป๊ะเจี๊ยะสามเสนกลายเป็น “สามเสนโมเดล” ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวในการแก้ไขปัญหารับแป๊ะเจี๊ยะแลกที่นั่งเรียนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร่วมกับสพฐ.กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา (แป๊ะเจี๊ยะ) กำหนดชัด การเรียกรับ ยอมที่จะรับและให้แป๊ะเจี๊ยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเงินบริจาค ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะไม่ถือว่าเป็นเงินบริจาคแต่ถือว่าเป็นสินบนซึ่งมีความผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายป.ป.ช.
ที่ผ่านมาแป๊ะเจี๊ยะอาจจะเป็นเรื่องที่สมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสถานศึกษาผู้บริหารและพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนที่ต่างอยากให้บุตรหลานได้เรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด จึงพยายามทุกวิถีทางจนลืมไปว่าสิ่งที่ทำนั้นอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเด็กคนอื่นๆ ที่น่าจะมีโอกาสได้เช่นกัน
กรณีของนายวิโรฒ เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อเป็นบทเรียนให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา หรือใครก็ตามหากกระทำความผิดก็ต้องรับผลต่อความผิดนั้น อย่าคิดว่าจะนำความดีความชอบที่สั่งสมมาใช้ลบล้าง เพราะไม่สามารถทดแทนได้ ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยเช่นกันว่าจากนี้เมื่อมีการกำหนดมาตรการที่เข้มข้น มีการใช้กฎหมายเข้ามาเอี่ยว หากกระทำในลักษณะเข้าข่ายการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำด้วยเช่นกัน
11 เดือนกว่าจะ “ไล่ออก”
สำหรับกรณีนายวิโรฒ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2560 ปรากฏมีการเผยแพร่คลิปผู้อำนวยโรงเรียนดังย่านพระราม 6 รับเงิน 4 แสนบาทแลกรับนักเรียน ซึ่งสพม.เขต 1 กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงและให้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นวันที่ 20 มิถุนายน นายวิโรฒได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนยอมรับว่าเป็นบุคคลในคลิปจริง
พร้อมปฏิเสธไม่ได้รับเงิน โดยอ้างว่าเป็นการกระทำของศิษย์เก่า ถ่ายคลิป ตัดต่อภาพและเสียง และเจ้าตัวได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่เผยแพร่คลิปซึ่งทำให้เสียชื่อเสียงด้วย ต่อมานายวิโรฒถูกสั่งย้ายให้มาปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กทม.เขต 1 ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2560 ภายหลังคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงพบมีมูลได้ในเดือนกรกฎาคม 2560 ได้เสนอตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายวิโรฒและพวก รวม 4 ราย
จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2561 มีความคืบหน้าโดยคณะกรรมการสอบสวนวินัย ได้เชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาและเปิดให้ยื่นข้อโต้แย้งปรากฏว่าทั้งหมดได้ยื่นข้อโต้แย้งภายใน 15 วัน โดยครบกำหนดเมื่อวันที่ 26 มกราคม ทั้ง 4 รายได้ยื่นข้อโต้แย้ง ทั้งนี้ นพ.ธีระเกียรติ กำหนดให้คณะกรรมการสรุปผลสอบภายในวันที่ 20 มีนาคม
แต่เนื่องจากต้องสอบพยานเพิ่มเติม คณะกรรมการเสนอขอขยายเวลาการสรุปผล โดยนพ.ธีระเกียรติ กำชับว่าต้องสรุปแล้วเสร็จภายใน 28 มีนาคมนี้ และคณะกรรมการสอบสวนวินัยได้สรุปผลว่ามีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กศจ.กทม.) ที่มี นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ 6:0 ไล่ออกจากราชการ