คอลัมนิสต์

ล่าเสือดำ กับสิทธิสัตว์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์- รู้ลึกกับจุฬา

                 ข่าวนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เข้าล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ ในโลกออนไลน์และออฟไลน์มีการกล่าวถึงหลายประเด็น

               ทั้งเรื่องการล่าสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ การบุกรุกป่าสงวน ตลอดจน ความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

                จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบซากสัตว์ ได้แก่ เสือดำ ไก่ฟ้า และเก้ง เป็นเหยื่อถูกยิง กระแสสังคมยิ่งไม่พอใจหนักขึ้นเมื่อสื่อมวลชนมีการลงรูปซากสัตว์ พร้อมรายละเอียดตามหลักฐานที่ปรากฏ โดยเฉพาะการฆ่าเสือดำ กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกคนให้ความสนใจ

                ในงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 11 เรื่อง “สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม : วาระที่รอการแก้ไข” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญนักวิชาการมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้จากหลายมุมมอง

               หนึ่งในนักวิชาการที่มาร่วมเวทีคือ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งตั้งคำถามเบื้องต้นไว้ว่า “ในศตวรรษที่ 21 นี้แล้ว ทำไมคนต้องล่าสัตว์อีก”

                อาจารย์โสรัจจ์ชี้ว่า สมัยโบราณมนุษย์ต้องล่าสัตว์เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร แต่เมื่อโลกเจริญขึ้น มีระบบปศุสัตว์ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่มนุษย์ต้องล่าสัตว์อีก

             “แต่มันก็มีสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ผมยกตัวอย่างในอังกฤษ ทุกวันนี้ก็ยังมีกีฬาคนขี่ม้าล่าหมาจิ้งจอก เป็นที่นิยมในหมู่คนรวยมีเงิน รวมถึงสัตว์ที่ถูกล่าเพราะความเชื่อผิด ๆ เช่น แรด ถูกฆ่าเพราะเชื่อว่าเอานอใช้เป็นยา หรือฉลาม ที่ถูกฆ่าเพราะต้องใช้ครีบมาทำเป็นหูฉลาม”

                  อาจารย์โสรัจจ์อธิบายเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ที่มนุษยชาติมีความก้าวหน้าขึ้น มนุษย์ก็เริ่มมีจริยธรรมต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ สังคมมีการพูดถึงสิทธิสัตว์ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานชั้นสูง มีระบบประสาทและรับรู้ความเจ็บปวดได้เหมือนมนุษย์

               นักปรัชญาชื่อดังอย่าง Peter Singer เป็นคนหนึ่งที่เอ่ยถึงหลักการสิทธิสัตว์ โดยระบุว่า มนุษย์ไม่ควรก่อความเจ็บปวดใด ๆ ต่อสัตว์ รวมถึงมนุษย์มีหน้าที่ดูแลและปกป้องสัตว์ อย่างไรก็ตาม ร่างกายของมนุษย์ยังมีความต้องการเนื้อสัตว์นำมาเป็นอาหาร

                “ซิงเกอร์เชื่อว่าเราไม่ควรทรมานสัตว์ ในชีวิตจริงแกเป็นมังสวิรัติ แต่ไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะเป็นอย่างนั้นได้ ตามความคิดของซิงเกอร์ เราอาจมีข้อยกเว้นได้ถ้าเราเลี้ยงสัตว์ไม่ให้มีความเจ็บปวดมากไปกว่าความเจ็บปวดตามธรรมชาติ ก็อาจจะผ่านเกณฑ์นี้” อาจารย์โสรัจจ์อธิบาย พร้อมระบุว่า หลักการ “สิทธิสัตว์” ดังกล่าวได้ถูกพัฒนาระบบปศุสัตว์ให้มีจริยธรรมมากขึ้น

             เมื่อเทียบจากในอดีต ระบบปศุสัตว์ในปัจจุบันโหดร้ายต่อสัตว์น้อยลงมาก มีการใช้วิธีการเลี้ยงสัตว์แบบไม่กักขัง มีการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ที่มีความเมตตามากขึ้น ในเดนมาร์กมีการฆ่าวัวแบบไม่รู้ตัว วัวจะไม่ส่งเสียงร้องทรมาน

              ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายๆ ประเทศ เริ่มมีการถกเถียงถึงความไม่สมเหตุสมผลทางจริยธรรมหลายประการของระบบปศุสัตว์ เช่น การฉีดฮอร์โมนให้วัวนมและไก่ไข่เพื่อให้ออกไข่ตลอดปี การฆ่าลูกวัว ลูกไก่เพศผู้ทิ้ง เพราะไม่มีคุณค่าทางอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขแล้ว

            ขณะที่ประเด็นเรื่องของสัตว์ป่าก็จะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการดูแลป่า เพราะตามหลักการสิทธิสัตว์ สัตว์ป่าไม่สมควรถูกล่า แต่ในวงการปรัชญา ก็มีการถกเถียงกันว่าวิธีไหนจะเป็นวิธีที่สุดในการดูแลป่า และมีการถกเถียงกันว่าใครควรเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า รัฐ หรือว่าเอกชน

               “ในไทย รัฐเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เรียกว่า Tragedy of the Commons หมายความว่าอะไรก็ตามที่เป็นของส่วนกลาง เป็นทรัพยากรที่ร่วมกันของสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะให้รัฐเป็นผู้จัดการดูแล ก็มักจะย่อหย่อน ทำได้ไม่ดีพอ เลยเละ บางต่างประเทศเลยให้เอกชนเป็นคนจัดการ” อาจารย์โสรัจจ์ยกตัวอย่าง

               อาจารย์โสรัจจ์กล่าวต่ออีกว่า ประเด็น “เสือดำ” ที่คนไทยให้ความสนใจกันมาก เป็นเพราะเสือดำคือสัตว์ป่าที่ไม่สมควรจะถูกล่า เป็นสัตว์ใหญ่ที่มีสถานะในป่าสูง เพราะเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร และในความรู้สึกของมนุษย์ มนุษย์จะมีความใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ฉลาด และสมองมีพัฒนาการมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เห็นได้ชัดว่า ไก่ฟ้าและเก้งเองก็ถูกฆ่า แต่ไม่เป็นประเด็นเท่าเสือดำ

                 “มีคนชอบยกตัวอย่างว่าทำไมเสือ 1 ตัวถูกฆ่าถึงฟูมฟาย ทีหมูถูกฆ่าทุกวันไม่เป็นไร ผมต้องบอกว่าเส้นแบ่งระหว่างสัตว์ป่ากับสัตว์ที่เลี้ยงมากินมันไม่เหมือนกัน การฆ่าเสือดำ มีผลกระทบทางความหลากหลายทางชีวภาพ และจำนวนเสือดำ ก็น้อยกว่าหมูมากนัก”

                ขณะเดียวกัน การที่ข่าวนี้กลายเป็นกระแสใหญ่ อาจมีสาเหตุจากความรู้สึกของคนที่โกรธแค้นความไม่ยุติธรรมในสังคม คนรวยมีสิทธิ์ มีอำนาจในการทำสิ่งผิดกฎหมาย หรืออาจเป็นไปได้ว่าความเคร่งเครียดทางการเมืองในสังคมไทย ก็มีส่วนทำให้คนโกรธแค้น จนต้องไปหาทางระบายกับกรณีนี้

                   “ผมขอเสนอว่าการแก้ไขเราควรต้องเสนอความเห็น รณรงค์เท่าที่เราทำได้ การใช้โซเชียลมีเดียนับว่ามีผลมากกับเรื่องนี้ และเราก็ควรกำจัดความเชื่อผิดๆ ของการล่าสัตว์ป่าให้หมดไป ต้องให้การศึกษาที่ถูกต้องว่ากินเสือไม่ได้ช่วยเพิ่มสมรรถนะอย่างที่เชื่อกันมาผิดๆ รวมถึงฉลาม นอแรด” อาจารย์โสรัจจ์กล่าว พร้อมบอกว่า

              เห็นแนวโน้มดีขึ้นในสังคมคนรุ่นใหม่ ก็เริ่มไม่เชื่อข้อมูลผิด ๆ เหล่านี้กันแล้ว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ