คอลัมนิสต์

เมื่อ “กติกา” ปรับตาม “อำนาจ”

เมื่อ “กติกา” ปรับตาม “อำนาจ”

27 ธ.ค. 2560

การประกาศใช้คำสั่งตาม ม.44 เรื่องการขยายเวลาให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมือง ทำให้เกิดคำถามว่า "หลักการ" และ "ความน่าเชื่อถือ" ของกฎหมายอยู่ที่ไหน

ร้องกันระงมทีเดียว ทันทีที่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2559 ที่ถูกรับรองความชอบธรรมโดยรัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ออกคำสั่งที่เกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง

อ่านรอบแรกคล้ายเป็นการปลดล็อก แต่อ่านอย่างพินิจจะพบว่าคำสั่งฉบับนี้ เป็นคำสั่งย้ำว่าจะไม่ปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเด็ดขาดจนกว่าจะถึง มีนาคมและเมษายนปี 2561 รวมถึงกำหนดด้วยว่าหลังจากนั้นก็จะเป็นเพียงการคลายล็อกเท่านั้น หากจะให้ทำอะไรได้อย่างอิสระก็ปาเข้าไปหลังกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ศึ่งน่าจะล่วงถึงกลางปีหน้า

นอกจากนี้ยังซ่อนกลการ “รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมือง” แม้จะไม่เขียนแบบโต้งๆว่าต้องให้สมาชิกพรรคสูญสลายหายไปและเริ่มนับหนึ่งพร้อมกัน แต่การเขียนกติกาชนิด “มิชชั่นอิมพอสสิเบิล” โดยให้สมาชิกพรรคทำหนังสือยืนยันในระยะเวลาจำกัดเพียง 30 วัน ถ้าเป็นภาษากฎหมายก็ต้องใช้คำว่า “เจตนาเล็งเห็นผล”

นอกจากนี้ในตอนท้ายยังมีการเขียนแบบให้ตีความได้ว่า อาจเป็นปัจจัยให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก ทำให้หลายคนตุ้มๆต่อมๆว่า “สัญญาหน้าหนาว” ที่นายกฯเคยสัญญาว่า พ.ย. 2561 จะมีเลือกตั้งจะกลายเป็นเพียงฝันค้างหรือไม่

แต่นอกจากนัยยะทางการเมืองที่ถูกตั้งคำถามว่าการกระทำดังกล่าว ส่งผลทางการเมืองอย่างไร จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งหรืออ่อนแอลง เป็นการตัดขาพรรคการเมืองเก่าเพื่อสร้างความได้เปรียบให้พรรคการเมืองใหม่หรือไม่ ยังมีสิ่งที่ต้องตั้งคำถามอีกเช่นกันคือ “หลักการ” และ “ความน่าเชื่อถือ” ของรัฐ และ รัฐบาลอยู่ที่ไหน

จริงอยู่ที่รัฐบาลนี้มี “ดาบอาญาสิทธิ์” อย่างมาตรา 44 คอยใช้จัดการงานต่างๆ แต่อำนาจตามมาตรา 44 ก็ไม่ใช่อำนาจที่ชอบธรรม หากแต่เป็นอำนาจที่คงอยู่ได้เพราะมีปลายกระบอกปืนหนุนอยู่ด้านหลัง

นอกจากนี้อำนาจตามมาตรา 44 ยังเป็นอำนาจที่อยู่นอกเหนือหลักการทั้งปวง เป็นอำนาจที่สามารถใช้ตามความต้องการ ตามแต่ใจของท่านผู้นำ  เป็นอำนาจที่ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบใดๆทั้งๆสิ้น  เป็นอำนาจที่รวบทั้งอำนาจบริหาร  นิติบัญญัติ และ ตุลาการ ไว้ในตัวเอง  

ดังนั้นต่อให้การใช้อำนาจผิดรูป หรือละเมิดสิทธิผู้อื่นอย่างไร ผู้ออกคำสั่งก็ย่อมพ้นจากการรับผิด   นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวยังยึดถือปฏิบัติได้   ยังมิพักต้องพูดถึงคำสั่งนี้สามารถล้มล้างอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ได้ เพราะทันทีที่มีคำสั่งนี้ออกมา ต่อให้ศาลตัดสินว่าผิด ก็จะไม่กลายเป็นความผิด หรือเป็นกระทั่งการตัดตอนไม่ให้เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำไป  หรือแม้กระทั่งคำสั่งหรือการออกกฎหมายใดที่มีการออกมาอย่างถูกต้องตามกระบวนการก็มิอาจทัดทานอำนาจนี้ได้

กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาซึ่งใช้ทั้งแรงกาย แรงสมอง การทำงานอย่างเป็นระบบ การรับฟังความเห็นของประชาชน และการรับเบี้ยประชุมของผู้มีหน้าที่ก็จะกลายเป็นเพียงกระดาษทิชชู่หนึ่งแผ่นเมื่อผู้นำตัดสินใจที่จะโยนมันทิ้งออกไป

กฎหมายพรรคการเมืองนี้ เอาเข้าจริงแล้วเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาลด้วยซ้ำไป  แม้จะบอกว่าร่างโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  และผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  แต่ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นองคาพยพของ คสช. ในชื่อ“แม่น้ำ 5 สาย”   หลายครั้งที่เราเห็นแบบชัดๆว่า ว่ากฎหมายผ่านหรือไม่ผ่านเป็นไปตามความต้องการของ คสช.

ดังนั้นการผ่านกฎหมายพรรคการเมืองจึงถือได้ว่าผ่านโดยรัฐบาล คสช. เอง  

แต่อยู่ๆกฎหมายนี้ก็ถูกแก้ไขโดยที่ยังไม่ได้ใช้เสียด้วยซ้ำไป ทำให้น่าคิดว่าเป็นเพราะอะไร  ที่แก้ไขเป็นเพราะครั้งแรกที่ให้ผ่านนั้นถูกใจและคิดว่าได้เปรียบหรือไม่ แต่กาลเวลาผ่านไปเมื่อพรรคพวกและองคาพยพของตัวเองเห็นว่าอาจจะเสียเปรียบก็ใช้ “ดาบอาญาสิทธิ์”  สั่งเปลี่ยนกฎหมายเอาเสียดื้อๆ  โดยไม่แคร์ว่าที่ผ่านมาตัวเองออกแบบหรือมีหลักการอย่างไร

ผลพวงจากการกระทำเช่นนี้ทำให้ระบบกฎหมายของประเทศถูกลบทิ้ง โดยใช้ความพอใจขอตัวเองหรือเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกตัวเองเป็นหลัก  และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการงัด ม.44 มาแก้กฎหมายที่ยังไม่ได้ใช้  แต่มีมาใช้อยู่เรื่อยๆ เช่นกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย 

หากกฎหมายที่ออกมาไม่ดีจริงๆจนรับไม่ได้และก่อปัญหาจนต้องแก้ไข นั่นก็ต้องเป็นเรื่องของคนเขียนกฎหมายที่ไม่เอาไหน ซึ่งก็ต้องย้อนกลับมาที่ คสช. ว่าคัดเลือกคนประเภทใดมาทำหน้าที่นี้ 

การแก้กติกากลับไปมาและมีคนได้เปรียบเช่นนี้  อย่าว่าแต่ระดับชาติเลย  เแค่เด็กข้างบ้านที่เล่นด้วยกันและมีหัวโจกกลุ่มเปลี่ยนกติกาเข้าข้างพวกตัวเองก็ตีกันมานักต่อนักแล้ว

-------------

 

คอลัมน์ "ขยายปมร้อน"  ทาง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ