คอลัมนิสต์

ได้เวลา‘ยกเลิก-แก้ไข’กม.ขายฝาก เครื่องมือเงินกู้นอกระบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'กม.ขายฝาก' ไม่ยกเลิกก็ต้องแก้ไข อย่าให้ซ้ำรอย'ฆ่ายกครัว 8 ศพ'ล้างหนี้ขายฝาก

           หลังจาก ‘กฎหมายขายฝาก’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือขูดรีดดอกเบี้ยของนายทุนเงินกู้นอกระบบมานานนับ10ปี กระแสเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายขายฝากได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง หลังข้อเท็จจริงใน'คดีฆ่ายกครัว8ศพ' ระบุถึงชนวนความขัดแย้งในเรื่องที่ดิน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านวรยุทธ สันหลัง นำโฉนด2แปลง ในอ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ไปค้ำประกันเงินกู้ไว้กับนายซูริฟัต บ้านนพวงศ์สกุล หรือบังฟัต โดยการแปลงรูปการจำนองที่ดิน ให้เป็นการขายฝาก

           หลักของการขายฝาก คือ ทรัพย์จะถูกโอนเปลี่ยนมือไปให้นายทุนเงินกู้ ในวันทำสัญญาทันที หากลูกหนี้ไม่ผ่อนชำระหนี้ให้ครบถ้วนภายในระยะสัญญา ทรัพย์จะตกเป็นของเจ้าหนี้โดยสมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ไม่ต้องเสียเวลาฟ้องบังคับจำนอง และสามารถเลี่ยงกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดได้ โดยจะทำสัญญาบวก ‘ดอกเบี้ยทบต้น’ให้สูงเกินกว่าวงเงินกู้จริงไปเท่าไรก็ได้ และยังพบปัญหาด้วยว่า ลูกหนี้บางรายผ่อนชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญาแต่เจ้าหนี้ไม่ยอมคืนหลักทรัพย์ที่นำไปขายฝาก เป็นเหตุให้ลูกหนี้ต้องสูญทั้งเงินและที่ดินทำกิน ซึ่งนำไปค้ำประกันผ่านการขายฝาก

           เมื่อ‘คดีฆ่ายกครัว’ มาผนวกรวมเข้าเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมต่างๆนานา ที่โผล่ออกมาประจานกลโกงในการ‘ขายฝาก’ เป็นเหตุผลสำคัญให้ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมกระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) เตรียมเสนอให้นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ยกเลิกกฎหมายขายฝากโดยอ้างอิงถึงผลการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลา3ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบเกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกินจากการนำที่โฉนดที่ดินไปขายฝาก เพื่อแลกกับเงินกู้ยืมรวมถึงลูกหนี้ที่มาร้องขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯกว่า300ราย 

            พ.ต.อ.ดุษฎี ย้ำว่า ในเรื่องของการกู้ยืมเงินต้องแยกออกเป็น2ส่วน ระหว่าง การขายฝากและการจำนอง ทั้ง2กรณี มีเจตนารมณ์ของกฎหมายเหมือนกันคือ นำทรัพย์สินมาค้ำประกันเงินกู้ แต่ต่างกันตรงขั้นตอน การขายฝาก คือการขายที่ดิน ภายใต้เงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินถูกโอนย้ายต่อไปยังเจ้าหนี้ ในฐานะผู้ซื้อฝากตั้งแต่วันแรกที่มีการทำสัญญาแต่หากลูกหนี้นำเงินมาไถ่ถอนตามกำหนดก็จะได้รับกรรมสิทธิ์กลับไปตามเดิม  ส่วนการจำนอง คือ การนำที่ดินไปจำนองกับเจ้าหนี้เพื่อค้ำประกันเงินกู้ หากเจ้าหนี้ไม่ได้ชำระลูกหนี้ตามกำหนด เจ้าหนี้มีสิทธิ์ไปฟ้องร้องศาลเพื่อบังคับจำนอง ให้ยึดที่ดินและเมื่อชนะที่ดินจะถูกส่งต่อให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาด นำเงินมาชดใช้หนี้ ในกรณีที่ที่ดินมีมูลค่าสูงกว่ามูลหนี้กรมบังคับคดีจะคืนเงินส่วนต่างให้กับเจ้าของที่ดิน

             ความแตกต่าง คือ การจำนองระหว่างฟ้องร้องยังมีขั้นตอนที่ให้ลูกหนี้ต่อสู้ในชั้นศาลมีการไกล่เกลี่ยคดีในชั้นต่างๆไปจนถึงชั้นบังคับคดี แม้ที่ดินถูกยึดไปขายทอดตลาดลูกหนี้ก็มีสิทธิ์ไปประมูลซื้อที่ดินทำกินของตัวเองกลับมาได้ แต่ถ้าเป็นการกู้เงินด้วยการขายฝาก เมื่อลูกหนี้ขาดการส่งหนี้ หรือชำระเจ้าหนี้ไม่ทันภายในสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยึดที่ดินไปได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องบังคับจำนอง หรือขายทอดตลาดใดๆ

              นอกจากนี้ยังพบพฤติการณ์ฉ้อโกงของฝ่ายเจ้าหนี้ ซึ่งมักจะบ่ายเบี่ยงไม่รับโทรศัพท์เพื่อไม่ให้ฝ่ายลูกหนี้ติดต่อชำระหนี้รอให้พ้นระยะเวลาตามกำหนดขายฝากเพื่อให้กรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้ในทางกฎหมายเเทบจะช่วยเหลืออะไรลูกหนี้เหล่านี้ไม่ได้เลยเพราะสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ขาดลงไปแล้วซึ่งโดยมากลูกหนี้จะถูกเอาเปรียบตั้งแต่การเริ่มทำสัญญา รวมถึงขาดความรู้ทางกฎหมายที่จะนำไปใช้ต่อสู้คดี

              ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกันว่าให้เสนอยกเลิกกฎหมายขายฝาก อย่างน้อยที่สุดอาจจะต้องแก้ไขเพิ่มเงื่อนไขการขายฝากให้ยากขึ้นโดยเฉพาะระยะเวลาในสัญญาไม่ควรต่ำกว่า1-3ปี เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสผ่อนชำระและไถ่ถอนที่ดิน เพราะส่วนใหญ่ที่ตรวจสอบพบการขายฝากในระยะหลังจะบังคับทำสัญญากันเพียง3-6เดือนเท่านั้น”รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ

             ทางด้านสำนักงานกิจการยุติธรรมซึ่งเคยได้รับข้อสั่งการจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อ2ปีที่ผ่านมา ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของการยกเลิกกฎหมายขายฝาก จากสภาพปัญหาหนี้เกษตรกร แม้จะตระหนักถึงปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของการขายฝาก แต่ยังไม่ฟันธงให้ยกเลิกกฎหมายขายฝาก จนกว่ารัฐจะสามารถจัดหาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนให้เกษตรกรได้ดีกว่าปัจจุบัน เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือธนาคารออมสิน ก็ยังมีขีดจำกัดเรื่องเงินทุนกู้ยืม อีกทั้งการยื่นขอกู้และจำนอง ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ และผ่านการตรวจสอบเครดิตบูโร ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ขณะที่เกษตรกรมักอ้างว่าต้องการเงินด่วน รอไม่ได้ จึงต้องคงกฎหมายขายฝากไว้จนกว่าจะมีช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนที่แท้จริง หรือแม้แต่ในต่างประเทศเอง ‘การขายฝาก’ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่นำมาใช้อำนวยความสะดวกในการกู้ยืมพูดง่ายๆคือ กฎหมายดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาเกิดจากเจตนาของผู้นำกฎหมายขายฝากไปใช้บิดเบือนเพื่อหาประโยชน์

             ดังนั้น แม้จะเดินไปไม่ถึงขั้นยกเลิกกฎหมายขายฝาก แต่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกู้เงินในรูปแบบขายฝาก ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราด้วยการตีกรอบระยะเวลาสัญญาขายฝาก ไม่ให้ต่ำกว่า3ปี ปิดช่องไม่ให้ทำสัญญาระยะสั้น1เดือน3เดือน หรือ6เดือน และเพื่อปิดช่องทางการทำนิติกรรมลวง เงินกู้จากการขายฝากจะต้องโอนจ่ายผ่านสถาบันการเงินเท่านั้น ห้ามจ่ายกันเป็นเงินสด เพื่อไม่ให้ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลคนเดียวกัน เพราะที่ผ่านมานายทุนรู้เทคนิคทางกฎหมาย จะมอบอำนาจให้ลูกหนี้ไปรับโอนที่ดินกับสำนักงานที่ดิน เมื่อฝ่ายลูกหนี้นำคดีขึ้นฟ้องร้องว่าถูกบังคับทำสัญญากู้เงินไม่เป็นธรรม มักจะแพ้คดีเพราะฝ่ายนายทุนจะสู้คดีว่าการโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจตนาของฝ่ายลูกหนี้เอง

            ในระหว่างที่ศูนย์ลูกหนี้ฯกำลังรวบรวมตัวเลข เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานที่ตกเป็นหนี้ขายฝาก ว่ามีกี่รายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน รวมถึงงานวิจัยต่างๆ เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม ประกอบการพิจารณายกเลิก-แก้ไขกฎหมายขายฝากเพื่อไม่ให้การช่วยเหลือตกหล่น 

              จึงถึงเวลาที่ลูกหนี้ของ “บังฟัต” ต้องแสดงตัวออกมาให้ปรากฏ ว่า มีใครบ้างถูกบังคับทำสัญญาขายฝากไม่เป็นธรรม ถ้ามี “บังฟัต”ต้องถูกฟ้องเพิ่มโทษในคดีฉ้อโกง และเมื่อมีรายได้จากการปล่อยกู้ยังมีมาตรการทางภาษีเข้าไปตรวจสอบซ้ำได้อีก1ดอก ในที่สุดหาก “บังฟัต” ต้องรับโทษในคดีฆ่ายกครัว จะผ่อนชำระหนี้กันอย่างไร และเมื่อผ่อนชำระหนี้ครบ โฉนดที่ดินที่นำมาขายฝากจะคืนให้ลูกหนี้อย่างไร

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ