คอลัมนิสต์

เปิด‘หลักฐานใหม่’? คลองด่าน

เปิด‘หลักฐานใหม่’? คลองด่าน

01 ก.ค. 2560

หลักฐานใหม่?... ในหนังสือ ‘โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย(คลองด่าน)ใครสั่งเลิก รัฐต้องจ่ายค่าโง่9พันล้าน’ มีอะไรบ้าง เชิญติดตาม

           หนังสือ ‘โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย(คลองด่าน)ใครสั่งเลิก รัฐต้องจ่ายค่าโง่9พันล้าน’ กลายเป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักกฎหมาย นักสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ติดตามคดีนี้ ถึง ‘ข้อมูลใหม่’ ที่มีผู้‘ปกปิด’ ‘ซ่อนเร้น’ ไม่เป็นที่เปิดเผยให้สาธารณชน ได้รับรู้มานานกว่า 10 ปี

            นักกฎหมายบางคน บอกว่า หนังสือเล่มนี้เปิดเผยทุกเรื่องที่สังคมยังไม่รู้ และจะกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ย้อนแย้ง‘คดีคลองด่าน’ในพิพิธภัณฑ์ปราบโกง

             หลักฐานใหม่ชิ้นนี้ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การในศาลอาญา ว่า มี ‘ระดับบิ๊ก’ ในกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มาบอกภายหลังว่า ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG  โดยมี‘ระดับบิ๊ก’ คนดังกล่าว  เป็นผู้ลงนาม

           ทั้งนี้ หลังบอกเลิกสัญญามีผู้เก็บไว้ 13 ปี กระทั่งมีเอกสารรายงานผลการสอบสวนของ‘คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดของเจ้าหน้าที่’ ออกมาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ระบุว่า “กรมควบคุมมลพิษได้มีการตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใด เป็นผู้เสนอความเห็นในร่างหนังสือฉบับดังกล่าว”

           ตามเอกสารหลักฐาน ก่อนการบอกเลิกสัญญาการก่อสร้างแบบลับๆ แจ้งไปยังกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เพียง 3 วัน มีการนัดหารือกันระหว่าง 3+1 คือ 3 คน จากกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารสัญญา โครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน  ส่วน 1 คน คือ ‘ระดับบิ๊ก’ ในกรมควบคุมมลพิษคนดังกล่าว  เพื่อร่างหนังสือบอกเลิกสัญญา โดยมอบหมายให้‘ระดับบิ๊ก’ในกรมควบคุมมลพิษคนดังกล่าว  เป็นผู้ลงนาม วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546

           เอกสารนี้ใครเป็นผู้เก็บไว้?  ส่งผลให้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ เอกชนเบิกจ่ายเงินตามงวดงานไปแล้ว ถึง 24,000 ล้านบาท จากหนังสือที่แอบทำกัน และ‘ระดับบิ๊ก’ในกรมควบคุมมลพิษดังกล่าว เป็นคนลงนามแล้วส่งให้เอกชน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 ทำให้คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้รัฐต้องจ่ายค่างวดงานที่เหลือ รัฐเสียค่าโง่ กว่า 9,000 ล้านบาท!!!

            นี่คือ “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฏหลังล่วงเลยมานาน 13 ปี ความเห็นตามรายงานของ 3+1 ทำให้เชื่อได้ว่า การสั่งยกเลิกโครงการกระทำกันเพียง 4-5 คน โดยที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานในกรมควบคุมพลพิษ ไม่ทราบเรื่องมาก่อนเลย

            ประเด็นที่สอง พบเอกสารว่าคดีคลองด่าน อ้างประกาศผู้ว่าฯ 2472 ว่าบริเวณสถานที่ก่อสร้าง 55 แปลง เป็นที่ทิ้งขยะ เขตหวงห้าม เพื่อใช้เป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่กรมที่ดิน ยืนยันมาตลอด 6 ปี ระหว่างการสอบสวนว่า ประกาศผู้ว่าฯ พ.ศ 2472 สิ้นสภาพไปแล้ว (ตามรายละเอียดหน้า 88-89 และภาคผนวก 3 หน้า 80-86ของหนังสือเล่มนี้) แต่คณะกรรมการสอบสวนยุคนั้นก็ยังเห็นว่าประกาศผู้ว่าฯ พ.ศ 2472 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ขณะออกโฉนดที่ดิน

           จนกระทั่งเมื่อปี 2553 คณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติชี้ขาดเป็นข้อยุติว่า ประกาศผู้ว่าฯ พ.ศ. 2472 ยกเลิกไปแล้ว ไม่มีสถานะทางกฎหมายเป็นที่หวงห้ามในขณะออกโฉนด เอกสารเหล่านี้ก็เพิ่งค้นพบ” เชื่อหรือไม่ว่า เอกสารจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา (คณะที่ 7) ที่แจ้งไปยังคณะกรรรมการสอบสวน ไม่ได้นำมาพิจารณา แต่มีผู้เก็บไว้ จึงไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน หรือแม้แต่ในคำพิพากษาของศาล กระทั่งเมื่อปี 2559 จึงมีการค้นพบเอกสารนี้ (หน้า 91-93 และภาคผนวก 8 หน้า 333-340 ของหนังสือ)

           ประเด็นสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ ได้นำคำพิพากษาศาลฏีกาและศาลปกครองสูงสุด มาเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฏีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีการกว้านซื้อที่ดินของนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ในสมัยนั้น เมื่อปี 2531-2533 มีข้อความว่า “การกว้านซื้อที่ดินของงนายวัฒนา เมื่อปี 2531-2533 ไม่ได้เป็นการกว้านซื้อเพื่อเอามาขายให้กรมควบคุมมลพิษ แต่เป็นการซื้อที่ดินที่มีเจตนาช่วยชาวบ้าน และเมื่อบริษัทปาล์มบีชฯ ได้ที่ดินจากนายวัฒนา ไปแล้ว บริษัทก็มีเจตนาจัดทำโครงการสนามกอล์ฟ และสร้างบ้านในสนามกอล์ฟขายจริง”

           นอกจากนั้น ยังพบว่าการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สอบพยาน 39 ปาก แต่หยิบมาใช้เพียง 8 ปาก และทั้ง 8 ปาก อ้างคำพูดของนายวัฒนา ที่ให้เร่งออกโฉนดที่ดิน จนถูกลงโทษตามมาตรา 148 แต่มี”พยานปากสำคัญ” ที่ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาประกอบสำนวนเพื่อพิจารณาคดี คือนายครรชิต วิชญะเดชา เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 6 ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ กรณีถูกกล่าวหาว่านายวัฒนา มอบพระผงสุพรรณฯให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ดิน เพื่อเป็นสินบนในการเร่งออกโฉนด แต่ในคำให้การของนายครรชิต ที่มีต่อคณะ

           อนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ว่า ”เข้าไปพบนายวัฒนา เพื่ออวยพรปีใหม่ ไม่ได้เข้าไปเพื่อมอบโฉนดที่ดินให้แต่อย่างใด และการมอบพระผงสุพรรณเลี่ยมทองเปรียบเหมือนผู้ใหญ่ให้ของมงคลแก่เด็ก และนายวัฒนาก็เตรียมไว้ให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมอวยพร” คำให้การของนายครรชิต ไม่ได้นำมาใช้ในสำนวน แต่กรณีเรื่องพระผงสุพรรณเลี่ยมทอง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คดีดังกล่าวมีน้ำหนักในการดำเนินคดีกับนายวัฒนา อัศวเหม

           ต่างๆ เหล่านี้อยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นการรวบรวมเอกสารที่เป็น “ข้อเท็จจริง” ทั้งหมดในคดีโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ อย่างที่ไม่เคยมีการเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

           อย่างไรก็ตาม  หนังสือเล่มนี้ได้รับการเผยแพร่จากการที่บุคคลกลุ่มหนึ่ง อ้างว่าเป็น ‘กลุ่มศึกษาการไต่สวนคดีการเมือง’ ได้แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเล่มนี้่  เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมของอนุสรณ์สถาน 14 ตุุลา ราชดำเนินกลาง ซึ่งโดยภาพรวมของหนังสือเล่มนี้เป็นไปในทางที่ส่งผลบวกต่อนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ดังนั้นข้อเท็จจริงที่นำมากล่าวอ้างในหนังสือเล่มนี้จึงต้องรับฟังอย่างระมัดระวังรอบคอบและต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่หนังสือเล่มนี้หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างต่อไป