คอลัมนิสต์

“หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ประชารัฐของจริง?

“หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ประชารัฐของจริง?

29 มิ.ย. 2560

เมื่อ "หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" กลายเป็นประเด็น เราจึงไขข้อข้องใจว่าโครงการนี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร มีที่ไปอย่างไร และมีระหว่างทางอย่างไร

         "ครม.อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยสืบเนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ทาง ครม. มีมติเห็นชอบให้โครงการการก่อสร้างหอชมเมือง เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ในวงเงิน 7,621 ล้านบาท"

 

         “สาเหตุที่โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล เนื่องจากจะทำให้มีความล่าช้าและอาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการ และอาจจะไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการ"

 

         สิ้นเสียงการแถลง พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เกิดคำถามว่าโครงการดังกล่าวคืออะไร อะไรคือ “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ทำไมต้องไม่ประมูลทั้งๆที่ใช้วงเงินสูงถึง 7 พันล้านบาท

  

         เมื่อย้อนไปดูก็พบว่าเมื่อปี 2559 ครม.มีมติได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โดยพื้นที่

         โครงการนี้จะตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร 7 ถนนเจริญนคร ซึ่งจะดำเนินการโดย “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็น “องค์กรเอกชน” ได้ประเมินงบลงทุนไว้ที่ 4,621.47 ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิ 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 2,500 ล้านบาท เงินบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำ 2,100 ล้านบาท

   “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ประชารัฐของจริง?

         คำถามจึงเกิดว่า เหตุใดผ่านไปไม่กี่เดือนมูลค่าของโครงการจึงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เหตุใดจึงไม่ประมูล และเงินทีลงทุนไปนั้นเป็นของใครกันแน่ เป็นของเอกชนตามมติ ครม. เมื่อปี 2559หรือเป็นเงินของรัฐกันแน่

 

         ต่อมา “พ.อ.อธิสิทธิ์” ได้ชี้แจงว่าสิ่งที่แถลงไปนั้นผิดพลาด เพราะวงเงินที่ใช้สร้างนั้นอยู่ที่ 4,621 ล้านบาท ตามที่ระบุไว้ในมติ ครม.

 

         และจากการแถลงเช่นนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงว่า "ไม่ได้เป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ รัฐบาลเห็นว่าความมีส่วนร่วมกับเขา เขามีส่วนร่วมกับเรารัฐบาลไม่ต้องออกเงิน"

 

         จากการตรวจสอบพบกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ รัฐบาลร่วมกับเอกชน ในการจัดสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” โดยผ่าน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งในกรณีนี้

         รัฐลงทุนในส่วนของที่ดินราชพัสดุ โดยคิดเป็นมูลค่าเช่าที่ดินเป็นเวลา 30 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ตามกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องเปิดประมูล นี่จึงเป็นที่มาของ มติครม. ยกเว้นการประมูล

 

         อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบที่มาที่ไปของโครงการนี้พบว่า เป็นการเริ่มต้นของ “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นการรวมตัวของ กลุ่มนักลงทุน ที่กำลังสร้างโครงการ "ไอคอนสยาม" (Icon Siam) อันประกอบด้วย 1.เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2.บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ 3.บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

         ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อทำเป็น ศูนย์การค้า อาคารที่พักอาศัย ศูนย์ประชุม ศูนย์กีฬา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย รวมถึงทำทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 500 เมตร

 

         โดยมูลนิธิดังกล่าวจดตั้งเมื่อปี 2557 และมีคณะกรรมการชุดแรก ประกอบด้วย นายวิศิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ซีอีโอของบริษัทแมกโนเลียฯ เป็นประธาน นายสุทธิลักษณ์ วินทุพราหมณกุล ผู้บริหารบริษัท ดีทีกรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือ ซีพี น.ส.อารยา จิตตโรภาส ผุ้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์ และนายชลชาติ เมฆสุภะ ผู้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นกรรมการ

 

         ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่นให้ “พนัส สิมะเสถียร” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ

 

         ทั้งนี้การสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ระบุว่าเพื่อเป็นแลนด์มาร์กดึงการท่องเที่ยว ซึ่งชั้นบนสุด จะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์ เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

 

         ขณะที่รัฐบาลระบุว่าวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการนี้เพื่อเป็นต้นแบบน้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้มาดำเนินโครงการโดยจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของไทยและเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคพร้อมทั้งเป็นต้นแบบก่อสร้างอาคารสูงซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและความรู้ทางการบริหารจัดการการออกแบบและวิศวกรรมอันล้ำสมัยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังจัดให้นักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนรู้ขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อยกระดับพื้นฐานทางปัญญาเยาวชนไทย

 

         ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นการลงทุนในรูปแบบ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP)

 

         จาก รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า โครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ ซ.เจริญนคร 7 ถ.เจริญนคร แขวงต้นไทร เขตคลองสาร กรุงเทพมหานคร โดยเป็นอาคารตั้งอยู่ริมแม่น้ำ มีขนาดความสูง 459 เมตร (ความสูงวัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงส่วนที่สุดของอาคาร) มีพื้นที่ใช้สอยรวม 22,281.70 ตารางเมตร โดยจะเป็นส่วนใต้ดิน จำนวน 2 ชั้น ส่วนฐานอาคาร (PODIUM) 4 ชั้น เชื่อต่อกับส่วนหอชมเมือง (TOWER) มีขนาดสูง 24 ชั้น  

  

         มีการระบุว่าโครงการดังกล่าวเลือกใช้โทนสีภายนอกที่กลมกลืนกับธรรมชาติและเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและเป็นโทนสีที่มีความสบายตาโดยจะใช้สีขาว และไม่กระทบหรือบดบังโบราณสถานในรัญมี 5 กม. แต่อย่างใด

  

         สำหรับด้านบนหอคอยเป็นที่ประดิษฐ์สถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์, ศูนย์การเรียนรู้, และจุดชมวิว 

    

         ทั้งนี้มีการประเมินรายได้จากการจำหน่วยบัตรเข้าชม 1,054 ล้านบาท ต่อปี ประมาณการราคาตั๋วที่เข้าชมคนละ 750 บาทต่อคน ส่วนคนไทยลด 50% หรือคนละ 375  บาท   โดยจะมีค่าใช้จ่ายต่อปี 892 ล้านบาท

 

         อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยก็มีหอคอยชมเมืองอยู่บ้าง  โดยหาชมเมืองที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ “หอบรรหารแจ่มใส” จังหวัดสุพรรณบุรีที่มีความสูง 123 เมตร   อย่างไรก็ตามหอชมเมืองที่สูงที่สุดคือหอคอยโรงแรมพัทยาปาร์ค ทาวเวอร์ ที่สูง 240 เมตร    นอกจากนี้ยังมีหอคอยที่สูดในระดับเกิน 100 เมตร อาทิ หอชมเมืองสมุทรปราการที่สูง  179.5 เมตร  หอชมเมืองร้อยเอ็ดที่สูง 101 เมตร 

“หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ประชารัฐของจริง?

         แต่หากสร้างสำเร็จ “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” จะเบียดแทรกเข้าไปอยู่ในลำดับที่ 6 ของทำเนียบหอคอยที่สูงที่สุดในโลก 

  

         ต้องตามดูว่า โครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่  แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ  มติครม. เช่นว่าเป็นการเอื้อต่อเอกชนหรือไม่ เพราะมีทั้งการอนุมัติเรื่องที่ราชพัสดุ และการไม่ให้มีการประมูล นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระยะสั้นบนถนนเจริญนครวิ่งผ่านโครงการอีกด้วย    งานนี้อาจเป็นหนึ่งในความร่วมมือ และหยิบยื่นประโยชน์ต่อกันและกันผ่านรูปแบบ “ประชารัฐ” 

----

อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ