คอลัมนิสต์

ขยายเงินชราภาพ55ปีเป็น60ปี  ใครได้ : ใครเสีย?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำไมรัฐบาลคสช.เตรียมจะขยายเงินชราภาพ 55 ปี เป็น 60 ปี  ใครได้ : ใครเสีย? โดย กมลทิพย์  ใบเงิน [email protected] 0

          “ กองทุนประกันสังคม ” เริ่มมีการตั้ง“กองทุนชราภาพ”และ"เก็บเงินออมกรณีชราภาพ"เมื่อเดือนธันวาคมปี 2541 มีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพในรูปแบบของ“เงินบำเหน็จชราภาพ”ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ครั้งแรกเมื่อปี 2542

          ตั้งแต่ปี 2542-2555 มีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพทั้งหมด 940,190 คน คิดเป็นเงินทั้งหมด 22,212 ล้านบาท และในปี 2556 สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 114,250 คน คิดเป็นเงินทั้งหมด 6,670 ล้านบาท

         หลังจากนั้นในปี 2557 สปส.เริ่มจ่าย“เงินบำนาญชราภาพ”เป็นครั้งแรก และได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 122,860 คน เป็นเงิน 8,190 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 3,250 คน เป็นเงิน 80 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 8,270 ล้านบาท 

         ว่ากันว่า ในอนาคตอีก 7 ปีหรือในปี 2567 จะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 121,860 คน เป็นเงิน 11,060 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 817,680 คน เป็นเงิน 41,960 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 53,020 ล้านบาท

         ไม่เพียงเท่านั้น ในอีก 17 ปี หรือในปี 2577 เป็นปีที่ “เงินกองทุนชราภาพ” มียอดสะสมสูงสุด 4.59 ล้านล้านบาท มีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 69,950 คน เป็นเงิน 22,370 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 3,301,680 คน เป็นเงิน 422,230 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 444,600 ล้านบาท

          ในปี 2587 กองทุนชราภาพจะอยู่ใน “ภาวะติดลบ” คาดว่าจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 42,800 คน เป็นเงิน 26,330 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 6,274,960 คน เป็นเงิน 1,842,440 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,868,770 ล้านบาท

         จากการประมาณการของสปส.พบว่าในปี 2587 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า “กองทุนชราภาพ”จะอยู่ใน“ภาวะติดลบ”นั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เพื่อหาแนวทางสร้างเสถียรภาพให้แก่กองทุนชราภาพในระยะยาว

ขยายเงินชราภาพ55ปีเป็น60ปี   ใครได้ : ใครเสีย?

         เบื้องต้นคณะอนุกรรมการเสนอไว้ 6 มาตรการได้แก่ 1.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบยืดอายุกองทุน 47 ปี 2.การขยายอายุเกษียณผู้ประกันตนยืดอายุกองทุน 38 ปี 3.การขยายระยะเวลาการส่งเงินสมทบยืดอายุกองทุน 34 ปี 4.การปรับฐานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณบำนาญ ยืดอายุกองทุน 33 ปี 5.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุน 59 ปี และ 6. มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 ทำให้กองทุนชราภาพมีเสถียรภาพนานถึง 73 ปี โดยแต่ละมาตรการจะต้องเริ่มต้นไม่ช้ากว่าปี 2560 และปีสุดท้ายของการประมาณการคือปี 2629

ขยายเงินชราภาพ55ปีเป็น60ปี   ใครได้ : ใครเสีย?

พลเอกศิริชัย  ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

          ว่ากันว่า คณะอนุกรรมการ ยุค“คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)” ที่มี"พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มี”นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล" นั่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทันทีเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2559 ปลายเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน สปส.เดินสายจัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อขอความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง รวมทั้งนักวิชาการ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับกับมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา  ซึ่งมาตรการขยายเวลารับเงินชราภาพจากอายุ 55 เป็น 60 ปี จะทำให้ยืดอายุกองทุนชราภาพได้ถึง 38 ปี

          “นโยบายของพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคงของแรงงาน ทั้งในช่วงที่อยู่ในระบบแรงงาน และเมื่อต้องออกจากระบบแรงงานไปแล้ว จึงมีนโยบายที่จะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี” เลขาธิการ สปส. ระบุ

ขยายเงินชราภาพ55ปีเป็น60ปี   ใครได้ : ใครเสีย?

นพ.สุรเดช  วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

         นพ.สุรเดช อธิบายอีกว่า จะต้องดำเนินแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ในอนาคตผู้ประกันตนจะสามารถอยู่ในระบบได้จนถึงอายุ 60 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นชอบ และสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป

          แน่นอน หากมีการขยายรับเงินชราภาพ “ลูกจ้าง” ในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน ย่อมได้รับผลกระทบ"นายชาลี ลอยสูง" รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่าตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผู้ประกันตนไม่เกิน 15 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปี ตามกฏหมายจะได้รับ“เงินบำเหน็จชราภาพ”เป็นเงินก้อน ส่วนผู้ประกันตนเกิน 15 ปี จะได้รับเงินชราภาพ ซึ่งอัตราสูงสุดยึดตามการหักเงินประกันแต่ละเดือน 750 บาทเพดานเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินชราภาพ 3,000 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 20 ของเงิน 15,000 บาท

          “หากขยายเวลารับเงินชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ผู้ประกันตนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน  ยิ่งเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความเสี่ยงสูง ได้รับสารเคมีทุกๆ วัน ส่วนมากอยากเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี และรับเงินชราภาพไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ต่างจังหวัดแบบพอเพียง เพราะสภาพร่างกายไม่ไหว”นายชาลี ระบุ

ขยายเงินชราภาพ55ปีเป็น60ปี   ใครได้ : ใครเสีย?  

นายชาลี ลอยสูง (คนซ้าย)รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  

       หากกองทุนชราภาพมีความเสี่ยง"ภาวะติดลบ"ในอนาคตอีก 27 ปี นั้น นายชาลี เสนอทางออกว่า  ผู้ประกันตนปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 11 ล้านคน ควรได้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเหมือนเดิมเมื่ออายุ 55 ปี  แต่คนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานใหม่ ควรจะแยกเป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับเงินชราภาพเมื่ออายุ 60 ปี แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก กระทบลูกจ้างและนายจ้าง ควรให้แรงงานในฐานะผู้ประกันตน และ นายจ้าง ได้มีส่วนร่วมกำหนดมาตรการดังกล่าวด้วย

         อนึ่ง ตามพ.ร.บ.พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 หมวด 7 ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ตามมาตรา 76 ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน(15ปี)ไม่ว่าระยะเวลา15ปีจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามมาตรา 77 ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ได้แก่ (1) เงินเลี้ยงชีพรายเดือน เรียกว่า “เงินบำนาญชราภาพ” หรือ(2) เงินบำเหน็จที่จ่ายให้ครั้งเดียว เรียกว่า “เงินบำเหน็จชราภาพ”

         หลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

         มาตรา 77 ทวิ ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า15ปี ให้มีสิทธิได้รับ“เงินบำนาญชราภาพ”ตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ55ปีบริบูรณ์ เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ55ปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 15ปีและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับ“เงินบำเหน็จชราภาพ”

         อีก 27 ปีรัฐต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ให้กับผู้ประกันตนทั้ง"เงินบำเหน็จชราภาพ"และ"เงินบำนาญชราภาพ”รวม 2 กองทุน  จะต้องใช้เงินจำนวนมากสูงถึง1,868,770 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกันตนจำนวนลดน้อยลง แต่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและมีอายุยืน

         นี่คือโจทย์ที่ “รัฐบาลคสช.” ต้องเร่งรีบแก้ไขแบบรอบด้าน มองทุกมิติในบริบทสังคมไทย

     

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ