คอลัมนิสต์

“ศุภชัย”เปิด‘ยุทธศาสตร์ซีพี 3+2

สรัญญา จันทร์สว่าง

     องค์กรยักษ์ใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ภายใต้การกุมบังเหียนของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) รับบท “เจ้าสัวใหญ่” คุมอาณาจักรธุรกิจกว่า 200 บริษัท ที่มีการลงทุนใน 20 ประเทศทั่วโลก ทำการค้าครอบคลุม 120 ประเทศทั่วโลก พนักงาน 3.5 แสนคน

     การให้สัมภาษณ์ระหว่างนำทีมเครือซีพีพบปะทีมบริหารเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศุภชัยบอกว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ธุรกิจ 5-10 ปีของซีพี ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ "ยุทธศาสตร์ 3+2” ประกอบด้วย 1.โลจิสติกส์ 2.คลาวด์เทคโนโลยี และโรโบติก 3.ไบโอเทคโนโลยี และไบโอฟู้ด เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต 2 ด้าน คือ Organic Growth หรือ โดยธรรมชาติด้วยกำลังของบริษัทเอง และการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Growth

     “3 เดือนที่ผ่านมาใช้เวลาในการวางแผน สิ่งที่ต้องมองควบคู่กัน คือ วิชั่นของประธานอาวุโส และความเป็นโกลบอลเพลเยอร์ เป้าหมายการเติบโตทั้ง 2 ด้านจะเป็นอย่างไร”

     “ยุทธศาสตร์ 3+2” สอดคล้องไปกับวาระแห่งชาติ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังเป็นนับเป็นวาระ (agenda) สำคัญของโลกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

     ปัจจุบันซีพีมี 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและอาหาร ค้าปลีกและดิสทริบิวชั่น โทรคมนาคมและมีเดีย ออโตโมทีฟ การเงินและการลงทุน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยาในประเทศจีน และล่าสุดคือ อีบิสิเนส

     “อาจจะมีการแยก (Spin off) หรือจัดตั้งสายธุรกิจขึ้นใหม่ หากเราไม่ปรับเปลี่ยนก็ Out of service เพราะทุกอย่างเปลี่ยนเร็วตลอดเวลา"

     อย่างไรก็ดี ศักยภาพของแต่ละกลุ่มธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีอยู่แล้ว แต่จะต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน และจำเป็นต้องเตรียมการรองรับอนาคต ในประเด็นสำคัญต่างๆ

     วาง4กลยุทธ์ขับเคลื่อน

     ศุภชัย กล่าวว่า องคาพยพของซีพีกรุ๊ปวางแนวทางเดินไปพร้อมกันภายใต้ 4 กรอบหลัก เรื่องแรก เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ ดิจิไทเซชั่น (Digitization) ที่จะเป็นเครื่องมือทำให้กระบวนการธุรกิจ กระบวนการบริหารจัดการ การให้บริการ การขายของให้ลูกค้า เรียกว่าทุกอย่างต้อง ดิจิไทเซชั่น เพื่อประสิทธิผลที่ดี

“ศุภชัย”เปิด‘ยุทธศาสตร์ซีพี 3+2

     เบื้องต้น เริ่มจากพนักงาน 3.5 แสนคนทั่วโลกของเครือซีพี ในการนำข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านการทำงาน การวางแผน นำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการจะทำให้เกิดการบริหารจัดการให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นตัวอย่างของการขยับไปพร้อมกันทั้งองค์กรและบุคลากร

     “ธุรกิจต้องพร้อมและเร็ว ต้องขยับไปพร้อมๆ กัน ขณะที่คนอื่นวิ่งไป เรามัวแต่เดินไม่ได้”

     เรื่องที่สอง ธุรกิจต้องก้าวไปในระดับโลกในพื้นที่ที่จะเสริมสร้างศักยภาพ นอกจากตลาดหลักไทยและจีน คือการขยายเครือข่ายเข้าไปในตลาดสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญ นำสู่การต่อยอดเสริมสร้างประสิทธิภาพหลายด้าน โดยเฉพาะนวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องใหม่

     เรื่องที่สาม “บุคลากร” หรือ คน เครือซีพีจะพัฒนา ทาเลนท์ (Talent) หรือความสามารถ ดึงศักยภาพ      พรสวรรค์ต่างๆ ของบุคลากรออกมาใช้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร จะต้องมีการเชื่อมโยงและพัฒนาขีดความสามารถร่วมกันในระดับโลก

     “เป็นสิ่งที่ท่านประธานอาวุโสให้ความสำคัญมาก กลุ่มซีพีมีการลงทุนใน 20 ประเทศ รวมสหรัฐ และการค้าขายเกินกว่า 100 ประเทศทั่วโลก จึงต้องเน้นเรื่องนี้ให้มาก เพราะในที่สุดการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็คือ คน”

     สุดท้าย ความยั่งยืน-การกำกับดูแล-ธรรมาภิบาล ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออก จะต้องปรับวิธีคิดในการดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เพียงมุ่งดำเนินการตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์มาตรฐานแต่ละประเทศ แต่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Changemaker) ในการสร้างและยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้สูงขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ศึกษาโมเดลยูนิลีเวอร์

     แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจผงาดเวทีโลก เจ้าสัวศุภชัยบอกว่า ได้ศึกษาโมเดลธุรกิจในฐานะผู้นำภาคเอกชนของ “ยูนิลีเวอร์” ซึ่งได้เรียนรู้หลายอย่างจากยักษ์ใหญ่อุปโภคบริโภคระดับโลกรายนี้ โดยซีพีมี “ซีพีเอฟ” ซึ่งเป็นธุรกิจอาหาร ที่นับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ต้องการผลักดันให้เข้าถึงตลาดมากขึ้น ถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้าย หรือ end user เพื่อเติบโตสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

     การเติบโตของยูนิลีเวอร์ยังสะท้อนแนวทางธุรกิจที่สำคัญของซีพีด้วยว่า “ต้องเติบโตในที่ที่ไปลงทุนแล้วมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี สามารถขยาย เพิ่มมูลค่า สร้างแบรนดิ้งมากขึ้น”

     ธุรกิจซีพีจากยุค 3.0 สู่ 4.0 และก้าวสู่ระดับโลก ต้องมุ่งสร้างผลกำไรที่ดีด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า

     “องค์กรที่ไประดับโลกต่อไปต้องมาร์จิ้นสูงขึ้น มีแวลูและสร้างแบรนด์ เพิ่มคุณค่าให้ตลาด"

ย้ำภาพซีพีผู้นำ “อาหาร-บริการ-เทคโนฯ”

     ภายใต้วิสัยทัศน์ 3+2 ภายใต้การกุมบังเหียนของเจ้าสัวใหญ่ศุภชัย ต้องการสะท้อนภาพลักษณ์ทีี่ชัดเจนของซีพีในการเป็นผู้นำทางด้าน “อาหาร-บริการ-เทคโนโลยี” เป็นองค์กรที่่ขับเคลื่อนด้วยคุณภาพ และแอดวานซ์เทคโนโลยี

     ยกตัวอย่างเรื่อง “อาหาร” ไม่ใช่แค่ถูกสุขลักษณะ มีคุณภาพ แต่อาหารของเครือจะต้องทำให้ “สุขภาพดี” เหมาะสมกับลักษณะทางพันธุกรรม หรือเหมาะสมกับผู้ป่วยบางโรค

     เป็นสิ่งที่ซีพีจะมีการลงทุนต่อเนื่องทางด้าน “ไบโอฟู้ด” และ “ไบโอเมดิคัล” ที่จะมาตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ​​

     สำหรับเรื่อง “บริการ” แน่นอนว่าอนาคตจะเป็น ดิจิไทซ์ (Digitize) ทั้งหมด ตอบสนองความสะดวกสบาย ใช้บริการได้ด้วยตนเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม