
ปรากฏการณ์ "เนติวิทย์" ว่าที่ประธานสภานิสิตจุฬาฯ
มุมสะท้อนจากคนวงใน กับ ปรากฏการณ์ "เนติวิทย์" ว่าที่ประธานสภานิสิตจุฬาฯ : รายงานพิเศษโดย...ขนิษฐา เทพจร คมชัดลึกออนไลน์
กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย สำหรับผลการเลือกตั้ง “ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2560” ที่ชื่อของ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตชั้นปีที่ 1 ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้รับเลือก และเขาจะเข้ารับตำแหน่งพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
เหตุผลสำคัญที่ปรากฏการณ์เลือกตั้งเล็กๆ ในสถาบันการศึกษาได้รับความสนใจและกลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์เพียงแค่ข้ามคืน ถูกมองในแง่ปรากฏการณ์อันตราย ที่ศิษย์เก่าของรั้วจามจุรี มีธงความคิดว่า เนติวิทย์ คือ ผู้สุดโต่งของความคิด ที่ต่อต้านและต้องการเปลี่ยนขนบธรรมเนียมอันดีงามที่ชาวจุฬาฯ ยึดถือ
แท้จริงแล้ว... “เนติวิทย์” ว่าที่ประธานสภานิสิตจุฬาฯ จะทำได้ถึงขนาดนั้นหรือไม่
ทีมข่าว พาไปเลาะรั้วจามจุรี เพื่อหาข้อมูลและบทสัมภาษณ์จากตัวแทนอาจารย์และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้ติดตาม
โดยจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำความเข้าใจ คือกระบวนการทำกิจกรรมภายในรั้วมหาวิทยาลัยและกิจกรรมภายนอกนั้น ถูกกำหนดกรอบการทำงานไว้ใน “ระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529” โดยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อเป็นศูนย์กลางกิจกรรมนิสิต เพื่อฝึกฝนบทบาทของนิสิตต่อการมีความรับผิดชอบในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม, ปกครองตนเองตามหลักประชาธิปไตย, ปลูกฝังคุณธรรม ส่งเสริมความสามัคคี, รักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกลักษณ์อันดีงามของชาติ
ขณะที่กลไกขับเคลื่อนงานของ “สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.)” นั้น มี 2 ส่วน คือ 1. องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่มาจากการเลือกตั้งของนิสิตทุกชั้นปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านไป คือ 28 มีนาคม โดย อบจ. นั้นจะมีตัวแทนนิสิตที่มาจากคณะต่างๆ และฝ่ายต่างๆ เป็นองค์ประกอบของการบริหารสโมสร อาทิ ฝ่ายวิชาการ, ฝ่ายกีฬา, ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ และฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม
หน้าที่หลักของ “อบจ.” คือ วางแผนการทำกิจกรรมตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิสิตฯ, จัดสรร ควบคุมและรับผิดชอบการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตส่วนรวม โดยมีกรอบการทำงานภายใต้ฝ่ายต่างๆ อาทิ ฝ่ายวิชาการ ต้องส่งเสริมให้นิสิตสนใจค้นคว้า หาความรู้ ประสบการณ์วิชาการ, เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้, ฝ่ายกีฬา ต้องส่งเสริมการเล่นกีฬา, ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา, ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ ต้องส่งเสริมให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์พัฒนาตนเองและสังคม, ปลูกฝังภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม ต้องสนับสนุนนิสิตให้เกิดความสนใจและมีโอกาสศึกษา เป็นต้น
และ 2. สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สส.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ผ่านตัวแทนนิสิตของแต่ละคณะ คณะละ 3 คน ส่วนหน้าที่หลักของ “สภานิสิตฯ” คือ ควบคุมการบริหารงาน การใช้งบประมาณ และผลการใช้งบประมาณของการทำกิจกรรมของ อบจ. ให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภานิสิตฯ, เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ อบจ., เสนอให้มีหรือให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับสโมสร, เสนอความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
แม้ในบทบาทของ "อบจ." และ "สภานิสิตฯ" จะถูกวางบทบาทไว้แบบฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่ ฝ่ายสภาจะก้าวก่ายการบริหารของ อบจ. ได้ โดย “กฤตเมธ เปรมนิยา นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ฐานะนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬา (อบจ.) ปี 2559” เล่าให้ฟังว่า กระบวนการกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย จะเริ่มจากการมีสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) โดยในองค์กรดังกล่าวจะแยกส่วนดำเนินงาน เป็น 1. องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และ 2. สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้ง 2 หน่วยงานนั้นแบ่งอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน คือ อบจ. จะทำหน้าที่คล้ายฝ่ายบริหาร คือ พิจารณา, อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมพร้อมงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการ ขณะที่ สภานิสิตฯ จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ อบจ. ว่าเป็นไปตามที่หาเสียง หรือตามนโยบายที่กำหนดไว้หรือไม่
(กฤตเมธ เปรมนิยา)
“ในสมัยที่ผ่านมาและเท่าที่ทราบ ยังไม่เคยมีการทำกิจกรรมของนิสิต หรือกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยใด ที่ถูกสภานิสิตฯ ทักท้วงหรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรม หรือปฏิเสธโครงการว่าไม่ให้ทำกิจกรรม หรือจูงใจให้เปลี่ยนไปตามใจของสภานิสิตฯ ได้ แม้ว่าในกระบวนการเสนออนุมัติโครงการต้องผ่านความเห็นของสภานิสิตฯ ก็ตาม แต่กรณีที่อาจมีบางโครงการที่มีกิจกรรมไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ ทางสภานิสิตฯ สามารถให้ความเห็นทักท้วงเพื่อแก้ไข หากฝ่าย อบจ.เห็นว่ามีข้อบกพร่องจริง จะใช้วิธีการพูดคุยเพื่อหาจุดกึ่งกลางของการทำกิจกรรม” นายก อบจ.ปี 59 ระบุ
ขณะที่ปรากฏการณ์ของ “เนติวิทย์” ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตฯ นั้น "กฤตเมธ" มองว่าเป็นสิ่งที่เป็นปกติ เพราะ “เนติวิทย์” ถือเป็นผู้มีคุณสมบัติและมีสิทธิที่จะเข้ารับการเสนอชื่อ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเขาได้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายสมาชิกสมทบของสภาฯ และที่ผ่านมาได้มีบทบาทต่อการให้ความเห็นหรืออภิปรายในกิจกรรมที่ อบจ. เสนอ
ส่วนประเด็นที่บุคคลภายนอกรั้วจามจุรีมองว่าความคิดของเนติวิทย์นั้นเป็นอันตรายที่จ้องเปลี่ยนวัฒนธรรมของจุฬาฯ “นายก อบจ.” มองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแนวคิด หรือแนวทางการทำเรื่องใดๆ ต้องอยู่ภายใต้กรอบและกติกา
(ธนัญญา วงศ์พระยา)
เช่นเดียวกับนักกิจกรรมอย่าง “ธนัญญา วงศ์พระยา" นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มองว่าการเข้ามาทำหน้าที่ประธานสภานิสิตฯ ของเนติวิทย์ ที่ถูกสังคมวงนอกมองว่าไม่เหมาะสมนั้น ส่วนตัวอยากให้กำลังใจคนที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อมหาวิทยาลัย เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ทำหน้าที่ส่วนของเหรัญญิกนั้น เชื่อว่าทุกคนที่อาสาเข้ามาทำงานล้วนต้องการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น ส่วนที่สังคมมองว่า “เนติวิทย์” นั้นมีความคิดเห็นที่ตรงข้ามกับแนวคิดเดิมๆ ส่วนตัวมองว่าหากต้องการทำให้แนวคิดแปลงไปเป็นการปฏิบัตินั้นไม่สามารถทำได้ง่าย
(ปฐม ไพบูลย์รัตนากร)
ขณะที่ "ปฐม ไพบูลย์รัตนากร" นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ฐานะสมาชิก อบจ. และต้องเริ่มปฏิบัติหน้าที่ไปพร้อมกับ “เนติวิทย์” มองในเชิงการทำงานร่วมกันว่า “ผมยังตอบไม่ได้ว่าการทำงานร่วมกันจะมีผลกระทบหรือทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เพราะกระบวนการทำงานของทั้ง 2 องค์กรนั้น ส่วนใหญ่จะแยกไปตามภารกิจและหน้าที่ หากจะต้องประชุมร่วมกันหรือพิจารณาร่วมกัน บทสรุปที่เกิดขึ้นต้องมาจากการหารือร่วมกัน ทั้งนี้ ยอมรับว่า เนติวิทย์ เป็นบุคคลที่มีความคิดเป็นของตนเอง แต่การผลักดันความคิดของตนเองเพื่อให้ไปสู่แนวทางปฏิบัติหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกัน”
ขณะที่มุมมองจากบุคคลภายนอกสถาบัน ที่มีธงนำความคิดและมองในแง่ลบนั้น “ปฐม” มองว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ถือเป็นปกติ แต่กระบวนการทำงานที่จะทำให้ออกมาเป็นผลงานและรูปธรรมนั้นยังมีกระบวนการพิจารณาและหารือร่วมกันหลายขั้นตอน
(ภัทรพงศ์ ตันสกุล)
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ "ภัทรพงศ์ ตันสกุล" นิสิตคณะบัญชี ชั้นปีที่ 3 ตำแหน่ง อุปนายก อบจ. คนที่สอง มองว่าการทำงานร่วมกันจะทำได้หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ชัดเจน เพราะต้องลองทำงานร่วมกันก่อน อย่างไรก็ดีส่วนตัวมองว่าต่อให้ใครมีความคิดในรูปแบบใด แต่สิ่งที่จะใช้เป็นตัววัดคุณภาพคือ ผลงานที่ปรากฏหลังจากนี้
ในข้อมูลของการเลือกตั้ง “ประธานสภานิสิตฯ” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมนั้น มีกระบวนการที่เป็นไปตามขั้นตอนปกติคือ ให้ทั้ง 18 คณะ และ 1 สำนักวิชา รวม 19 คณะ เลือกตัวแทนคณะละ 3 คนเพื่อเข้าไปทำหน้าที่สมาชิกสภานิสิตฯ โดยในปีนี้พบว่ามีตัวแทนคณะที่ส่งรายชื่อมาทั้งสิ้น 44 คน จากยอดรวมที่ต้องมี 57 คน
ขณะที่การเสนอชื่อผู้เข้ารับตำแหน่ง สภานิสิตฯ ปี 2560 นั้น มีผู้ถูกเสนอชื่อ จำนวน 2 คน ได้แก่ เนติวิทย์ และเพื่อนจากคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งผู้ถูกเสนอชื่อนั้นต้องปราศรัยและประกาศนโยบายของตนเองที่ต้องทำในวาระ คนละ 3 - 5 นาที จากนั้นจะเข้าสู่การลงคะแนนด้วยบัตรลงคะแนน ส่วนผลโหวตในตอนท้าย คือ เสียงส่วนใหญ่ 27 เสียงจากผู้เข้าประชุม 36 คนเลือก “เนติวิทย์” ให้ทำหน้าที่
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากฝั่ง “นิสิตจุฬาฯ” เล่าว่า การได้เป็นตัวแทนของคณะ เพื่อดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตฯ นั้น บางคณะไม่ได้ผ่านการลงมติเลือก แต่มาจากการส่งรายชื่อ หรือสมัครในนามคณะ หรือบางคณะไม่มีตัวแทนเข้าทำหน้าที่ เพราะบทบาทของสมาชิกสภาฯ ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้นในหลายกรณีก็มาจากกระบวนการล็อบบี้ผ่าน เพื่อนนิสิตต่างคณะที่มีความสนิทสนมกัน
ตามประเด็นนี้ “เนติวิทย์” ชี้แจงกับทีมข่าวฯ เมื่อเริ่มเปิดประเด็นพูดคุยว่า แม้จะรู้จักเพื่อนที่มีตำแหน่งในสภานิสิตฯ แต่คะแนนเสียงที่ได้ ไม่ได้มาจากการล็อบบี้แน่นอน เพราะผู้ที่เข้าประชุมในสภานิสิตฯ วันที่ลงคะแนนนั้น มีมาจากอดีตสมาชิกสภานิสิตฯ ด้วย ส่วนเหตุผลที่ได้รับเลือกนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนหนึ่งเพราะเขาอาจต้องการเปลี่ยนจุดตกต่ำของสภานิสิตฯ ยุคที่ผ่านมา
เมื่อตั้งคำถามว่า เหตุผลอะไรในตัวเนติวิทย์ ถึงเอาชนะมาได้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ระหว่าง เพราะความคิดก้าวหน้า, การกล้าแสดงออก หรือ เพราะความบ้า “ว่าที่ประธานสภานิสิตฯ” กล่าวว่า อาจเป็นทั้ง 3 แบบผสมกัน เพราะหากตนไม่บ้า คงไม่กล้าเสี่ยงที่ทำให้คนทั้งแผ่นดินด่า และทำให้คนเกลียดทั้งเมือง อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำต่อไปเพื่อให้เป็นจุดเปลี่ยน คือ การทำให้สภานิสิตฯ เป็นสภานิสิตฯ ยุคใหม่ที่ได้รับความร่วมมือจากนิสิตในมหาวิทยาลัย พร้อมส่งเสริมให้นิสิตกล้าสะท้อนปัญหา และทำโครงการเพื่อนำไปสู่การพัฒนา ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาที่นิสิตมักทำตามและรับฟังคำสั่งของอาจารย์ แต่สิ่งที่ตนจะทำคงไม่ใช่รูปแบบการสั่งการ แต่คือการเปิดพื้นที่ให้นิสิตมีส่วนร่วม
“จุดมุ่งหมายของผมต่อการทำหน้าที่ประธานสภานิสิตฯ คือการเปลี่ยนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น การทำโครงการต่างๆ ภายในคณะต้องเสนออะไรที่เป็นการพิทักษ์นิสิต หรือหากจะทำโครงการที่ทำมาต่อเนื่องทุกปี เช่น โครงการตักบาตร อาจต้องปรับเพื่อให้นิสิตมีส่วนเข้าถึงศาสนาได้มากกว่าการตักบาตรประจำปี เป็นต้น สำหรับเป้าหมายของการทำงานในฐานะประธานสภานิสิตฯ นั้น ยังตอบไม่ได้ว่าจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะในยุคนี้ยังมีการใช้อำนาจพิเศษของกฎหมาย และการสั่งห้ามคบค้าสมาคมกับผม” เนติวิทย์ ระบุ
ขณะที่เป้าหมายที่เป็นก้าวใหญ่มากกว่าเรื่องภายในรั้วมหาวิทยาลัย “เนติวิทย์” ระบุว่า จะใช้โอกาสและอำนาจประธานสภานิสิตฯ ทำให้คนเห็นถึงการเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ผ่านมานิสิตจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดหัวก้าวหน้า แต่กลับใช้โอกาสเพื่อพูดแขวะบุคคลอื่น ทั้งที่ควรทำในรูปแบบที่ทำให้คนรุ่นเก่าเห็นว่า คนรุ่นใหม่จะเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างไร
นั่นก็เป็นปรากฏการณ์ “เนติวิทย์” ที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรี ส่วนจะทำให้ประชาคมจุฬาฯ เป็นไปในทิศทางไหน ต้องคอยติดตามกัน แต่สิ่งที่อาจเป็นผลสำเร็จได้ในตอนนี้คือ ความตื่นตัวต่อกระบวนการทำกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่สังคมวงนอกกำลังจับตาในจุดเปลี่ยน
**********
จากใจ “จรัส สุวรรณมาลา” อย่าตัดสินคนในสภาพวันนี้
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ “เนติวิทย์” ที่เกิดขึ้น จะทำให้ “วงสังคมจุฬาฯ” เปลี่ยนแปลงไปตามเจตคติของ “เนติวิทย์” ได้หรือไม่ ในสายตาของ “อดีตนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักกิจกรรมของสถาบัน อย่าง อ.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มองผ่านประเด็นสัญญาณอันตรายของจุฬาฯ ฝั่งอนุรักษนิยมว่า ควรให้โอกาสคนที่อาสาเข้ามาทำงาน ไม่ว่าคนนั้นจะมีความคิดเห็นที่เราชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ทั้งนี้ที่ผ่านมา สถาบันและวงวิชาการทั้งอาจารย์และนิสิตมีบทบาทในการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายและความคิดผ่านกิจกรรมต่างๆ
“สมัยที่ผมเป็นนิสิตจุฬาฯ ปี 2518 - 2519 กลุ่มของผมถูกจัดให้เป็นกลุ่มนิสิตฝ่ายซ้าย และมีอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นผู้นำของพรรคจุฬาฯ ซึ่งกลุ่มของเราก็ทำกิจกรรม โดยเฉพาะการทำกิจกรรมที่ต่อต้านกลุ่มทหาร ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยหนักใจเสมอ เพราะสิ่งที่พวกผมทำคืออันตราย แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำไม่ใช่การสนับสนุนเราแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แต่เขาให้เราทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ตามที่อยากทำ แต่ไม่ใช่กิจกรรมที่ละเมิดกฎหมาย หากทำผิดกฎหมายก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งจากสิ่งที่พวกผมทำยุคนั้นกลายเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองในปัจจุบัน ทั้งที่ยุคนั้นผู้ปกครอง และบุคคลภายนอก มักจะบอกเสมอว่าให้เลิกทำกิจกรรมและให้กลับเข้าห้องเรียน ยุคนั้นพวกผมถูกมองว่าเป็นเด็กเกเรในสายตาผู้ใหญ่ แต่ช่วงนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ยาก แต่เมื่อผ่านจุดนั้นมาจนเราเป็นผู้ใหญ่ทำให้เรามีความรับผิดชอบ” อาจารย์จรัส ระบุ
นักวิชาการรั้วจามจุรี บอกว่าด้วย "ผมไม่รู้จักกับเนติวิทย์ เป็นการส่วนตัว หากถามว่าความคิดของเขาอันตรายหรือไม่ เราอย่าเพิ่งด่วนตัดสินความคิดของคน เบื้องต้นเมื่อใครได้รับเลือกให้ทำหน้าที่แล้ว ควรปล่อยให้เขาทำหน้าที่ แต่หากเขาทำอะไรที่เกินขอบเขตค่อยมาพิจารณา อย่าตัดสินคนว่าจะทำได้หรือไม่จากสภาพในวันนี้ และผมมองด้วยว่าเมื่อปัจเจกชนที่ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหน้าที่ วันที่ผ่านมาเขาอาจคิดอีกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเขามีหน้าที่แล้ว เขาต้องรับผิดชอบต่อสังคม องค์กร และคนส่วนใหญ่ รวมถึงการทำงานทุกอย่างไม่ใช่เรื่องส่วนตัวต่อไป ดังนั้น ผมเชื่อว่าเนติวิทย์น่าจะเข้าใจว่าตนเองทำอะไร และมีหน้าที่อย่างไรบ้างตามกลไก ไม่สามารถตามใจตนเองได้ ขณะที่ความเป็นห่วงของศิษย์เก่าบางคน แต่การเป็นห่วงนั้นไม่ใช่ว่าเราต้องไปปิดกั้นเสรีภาพของใคร และยิ่งมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ทำแบบนั้นไม่ได้"