คอลัมนิสต์

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ "สุทธิชัย หยุ่น" สัมภาษณ์ "มีชัย ฤชุพันธ์" ประธาน กรธ. ถึงรัฐธรรมนูญที่เพิ่งบังคับใช้ ภาพร่างอนาคต และแน่นอนรวมถึงอนาคตของ "มีชัย" เอง โปรดติดตาม

“วันข้างหน้าหากประชาชนเข้มแข็งในทางการเมืองมากกว่านี้ จะเปลี่ยนระบบอย่างไรก็ไปว่ากัน”
“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

 

กับครั้งแรกในรอบ 20 ปี สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งสองวงการ โคจรมาพบกัน  หนึ่งคือ ผู้มากประสบการณ์ในวงการข่าวอย่าง "สุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษาเครือเนชั่น”  และอีกหนึ่งคือ "มือกฎหมายอันดับหนึ่ง – มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการรัฐธรรมนูญ และ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)”

ในระหว่างบทสัมภาษณ์ กว่า1ชั่วโมง มีหลายประเด็นที่ทั้งถามตรง และ ตอบตรง ซึ่ง “ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์” ถอดความนำเสนอให้ “ผู้อ่าน” ร่วมรับรู้ไปด้วยกันด้านการทำหน้าที่รัฐธรรมนูญ และบทบาทด้านกฎหมายที่ผ่านมา

 

สุทธิชัย: กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือเป็นฉบับที่เท่าไรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

 อ.มีชัย: ที่มีส่วนเกี่ยวข้องฐานะผู้ยกร่างเนื้อหา รวมทั้งหมด 5 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521,รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560รวมถึงรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) อีก2ฉบับ นอกจากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญที่เข้าไปมีส่วนร่วมเพราะอยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ร่วมยกร่าง คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะอยู่ในสภา ทำหน้าที่ตรวจทาน และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

 

สุทธิชัย:รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นฉบับสุดท้ายของชีวิตหรือไม่

 

อ.มีชัย :คิดว่าควรจะเป็นแล้ว เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะใช้สั้น หรือใช้ยาว อย่างไร เราคงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาทำได้อยู่แล้ว เพราะกินแรงนะ เหนื่อยจนถึงขนาดที่กลับบ้านไปต้องนอนแผ่สองสลึง เนื่องจากผมไม่ได้ทำเฉพาะรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังมีงานร่างกฎหมายที่เป็นงานหลักของเรา ในที่สุดต้องแบ่งเวลาทำงาน เช้า กลางวัน และ เย็น ซึ่งการใช้สมอง การคิดนั้นกินแรงไปมาก เพราะต้องคิดเผื่อเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะเห็น ซึ่งยอมรับว่าเราเห็นไม่ได้ทั้งหมด เพราะยิ่งยุคสมัยใหม่เหตุการณ์ รวมถึงความคิดของคนนั้นเปลี่ยนง่าย เปลี่ยนแบบที่เรานึกไม่ถึง ดังนั้นที่คาดการณ์ว่า ปกติจะเป็นรูปแบบแบบนี้ ใช้ไม่ได้แล้ว

 “ตั้งแต่มาทำรัฐธรรมนูญ ผมต้องกินยานอนหลับตลอด เพราะต้องพยายามนอนหลับและพักผ่อนให้พอ เพื่อที่ตื่นเช้ามาจะได้มีแรงทำงานอย่างเต็มที่"

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

 

สุทธิชัย:กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสิ่งที่เราเขียนเพื่อป้องกันกับสิ่งที่คาดไม่ถึงสักกี่เปอร์เซ็นต์

 

อ.มีชัย:คงได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก20เปอร์เซ็นต์ เราคาดไม่ถึง เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

สุทธิชัย:อย่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ผ่าน สนช. แต่ไม่มีอะไรรองรับเลย เป็นประเด็นจริงหรือไม่

 

อ.มีชัย:ไม่เป็นประเด็นที่น่ากลัว อย่างที่คนเขาวาดภาพ สมมติว่า เมื่อกฎหมายลูกที่เข้า สนช. ถูกลงมติไม่รับหลักการ เป็นหน้าที่กรธ.ที่ต้องยกร่างใหม่ แต่ต้องถามด้วยว่าที่ไม่รับนั้น คือตรงไหน เพื่อทำให้ถูกใจ แต่ประเด็นนี้คงไม่เกิด เพราะนี่เป็นกฎหมายที่ต้องมี จะบอกว่าไม่เอาหลักการไม่ได้ เนื่องจากหลักการกำหนดไว้แล้วคือ “มีกฎหมาย” ส่วนรายละเอียดนั้นก็โต้เถียงกันไป และเมื่อเข้าสู่วาระสาม เชื่อว่าคงผ่านไปตามที่กรรมาธิการนำเสนอ แต่มีจุดที่เราระวัง คือ หากกรรมาธิการ แก้ไขจนองค์กรอิสระไม่สามารถทำงานได้ หรือมีเนื้อหาที่ขัดเจตนารมณ์ที่กรธ.เขียนไว้ จนไปไม่ได้ เราต้องท้วง ซึ่งมีเวลา10 -15วัน จากนั้นตั้งกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อปรับปรุงให้มีความเป็นไปได้ก่อนเข้าสู่สนช. อีก

 

“ที่คนสมมติในภาพที่เลวร้ายที่สุดว่า เสียงสนช. เกิน2ใน3ไม่เอา ต้องกลับมาแก้ไขในจุดที่เขาไม่เอา ซึ่ง กรธ. อยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องแก้เพื่อให้เป็นไปตามที่เขาต้องการ แก้จุดที่เขาติดใจ คงใช้เวลาไม่กี่วัน ภายใน2-3อาทิตย์ ดังนั้นที่คนคิดว่าถ่วงเวลานั้น ทางเทคนิคเป็นไม่ได้มาก ส่วนสิ่งที่เขาแย้งจนขัดแย้งหลักการ เราต้องหาทางแก้ไขเพื่อส่งกลับไปจนได้ แต่หากมันเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญยอมให้ทำได้ เรื่องอาจไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยเวลาอาจจะยืดออกไป ผมเดาไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาเท่าใด แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาไม่นาน สุดท้ายยังไงก็ต้องผ่าน เพราะบ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้า เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเป็นไปตามกระบวนการ”

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

สุทธิชัย:กับการทำรัฐธรรมนูญ หนักใจไหม

 

อ.มีชัย: หนักใจ เพราะ1.ทุกคนต้องการของใหม่2.ต้องการสิ่งที่แก้ปัญหาเก่าให้ได้ ขณะเดียวกันเมื่อเขียนสิ่งใหม่นั้น คนเขาก็กลัวของใหม่นั้นอีกการทำงานนั้น ยากทุกขั้นตอน ทั้ง ตอนคิด ตอนเขียน และยิ่งตอนที่ทำให้ประชาชนเข้าใจท่ามกลางคนต่อต้าน แต่ผมมีทีมที่ดี และสิ่งที่กระตุ้นคือ ความอยากให้มีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด

 

สุทธิชัย:ของใหม่ สักกี่เปอร์เซ็นต์

 

อ.มีชัย:มีเยอะหลายเรื่อง ในแต่ละบริบท แต่ละหมวดมีของใหม่อยู่มาก ทั้งในแง่ประชาชน แง่ของรัฐ แง่ของการเมือง แง่ของการบริหาร มีของใหม่แทรกทุกที่

 

 “จริงแล้วรัฐธรรมนูญใหม่ ออกแบบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน จากรัฐบาลที่ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงนำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาสรางภูมิคุ้มกันในรัฐธรรมนูญ อย่าง มาตรา77คือภูมิคุ้มกันด้านกฎหมาย เพราะพบว่ากฎหมายออกง่าย รัฐบาลมีเสียงข้างมากจะออกยังไ หรือตอนไหนก็ได้ ดังนั้นต้องสร้างภูมิคุ้มกันไว้ในรัฐธรรมนูญทำให้มีขั้นมีตอนมาก ทั้งเผยแพร่ให้คนรู้ และแสดงความเห็น มีผลกระทบกับประชาชนหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างประชาชน ฐานะคนที่ถูกบังคับ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ต้องทำให้เจ้าหน้าที่รัฐคำนึงด้วยว่ามีกำลังมากพอบังคับให้เป็นไปตามนั้น หากไม่มีความพร้อมเท่ากับการออกเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่หากิน จากการเลือกปฏิบัติ”

  

สุทธิชัย:อย่างของใหม่ ที่ให้จ่ายค่าสมาชิกพรรคเพื่อไม่ให้นายทุนยึดพรรค ก็ถูกวิจารณ์เยอะ ไม่ยอมรับ

 

อ.มีชัย: ก็ตอนที่ประชาชนไม่จ่ายเงิน นายทุนก็ยึดพรรค ดังนั้นเราเขียนไว้ว่า หากนายทุน หรือใครก็ตามที่จ่ายเงินเพื่อให้สมัครสมาชิกเป็นความผิด โดยปีแรก ให้เก็บ50บาท จากนั้นปีต่อไป จ่ายปีละ100บาท ประเด็นนี้ผมเชื่อว่าจะไม่เปลี่ยน เว้นแต่สนช. จะเปลี่ยน แต่ประเด็นนี้เขียนเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวดว่าด้วยการปฏิรูปด้านการเมือง ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคมีสิทธิและความรับผิดชอบในพรรค คือ ค่าใช้จ่าย

 

“พรรคการเมืองไม่ใช่ตั้งมาโดยไม่มีเงิน หากไม่มีเงินพรรคจะทำอะไรได้ ส่วนที่มาของเงินต้องมีทุนรองรัง ให้ยืนด้วยลำแข้งตัวเองเพื่อมีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟจนกว่าจะใครมาบริจาค สูตรนี้คิดว่าต่างประเทศคงมี แต่ไม่ได้ถึงกำหนดตายตัว เพราะคนของเขารู้ว่าต้องการสิทธิ ต้องมีหน้าที่ไปจ่าย แต่ของเรามีเพียงบางพรรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแต่เก็บจริงไม่ได้ ทั้งนี้เราเห็นใจพรรคเก่าที่มีสมาชิกพรรค หลักแสน ได้เขียนบทเฉพาะกาลว่าเก็บค่าสมาชิก คนละ50บาท เพียง5,000คน อย่างน้อยยืนยันได้ว่ามีเงิน”

 

สุทธิชัย:รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะรับรองหรือไม่ว่าทำให้การเมือง นักการเมืองมีคุณภาพดีขึ้น

 

อ.มีชัย: เขาต้องระวังมากขึ้น เริ่มต้นหากเขาไม่ตระหนักถึงความร้ายแรง เขาจะพลาดและถูกกันออกจากวงการการเมืองตลอดชีวิต หากมีคนโดนสัก1-2คนหลังจากนั้นทุกคนจะต้องตระหนัก ซึ่งประเด็นนี้เป็นความตั้งใจ เพราะการกระทำบางอย่างที่ไม่สมควร และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เช่น การซื้อเสียง แทนตัดสิทธิเลือกตั้ง5ปี ก็ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือตายและปิดประตูจากชีวิตทางการเมืองทันที

 

สุทธิชัย:ขอคำอธิบายสั้นๆ ว่าจะเรียก “รัฐธรรมนูญฉบับนี้” ว่าอะไร หากถูกถามจากชาวบ้านว่ามีดีอะไรจะตอบอย่างไร

 

อ.มีชัย: เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างเกราะคุ้มครองประชาชน ซึ่งคลุมถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่กระทบกับประชาชน รวมถึงการเลือกตั้ง การเมืองทั้งหลาย ทำเพื่อให้ประชาชนยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ โดยไม่พึ่งการอุปถัมภ์จากนักการเมือง ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ จากที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ส่วนชีวิตประชาชนจะดีขึ้นได้ เมื่อบ้านเมืองสงบสุข การเมืองทำเพื่อประชาชน คุณได้รับประโยชน์ ชีวิตต้องดีขึ้น หากไม่ถูกชักเงินภาษีไปหลาย10เปอร์เซ็นต์ ชีวิตต้องดีขึ้น

 

  “ที่ผ่านมาผมเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ผมน้ำตาซึม คือ ผมไปต่างจังหวัด ไปในตลาด คนในตลาดยกมือไหว้ทักทายผม ว่าเจอตัวจริง แล้วยังยกมือไหว้ แล้วกล่าวขอบคุณ ที่ทำงานให้ นี่เป็นความหายเหนื่อยเลย แล้วจากใครต่อใครไม่รู้ ก็เข้ามาขอกอด มาขอถ่ายรูปทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และดูท่าทางไม่ใช่นักวิชาการด้วยซ้ำ”

 

สุทธิชัย : ส่วนประเด็นของสิทธิเสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตยเน้นเท่ากับสร้างเกราะให้ประชาชนหรือไม่

 

อ.มีชัย: ประชาธิปไตยเขียนไว้ในนั้น แต่ไม่ได้พิสดาร แต่เราก็ใส่เกราะไว้เพื่อให้คุ้มครองความเป็นประชาธิปไตยที่สุจริตมากที่สุดเท่าจะมากได้ ส่วนการปราบคอร์รัปชั่นเป็นประเด็นหนึ่ง เพราะได้เขียนบทบัญญัติทั้งการสกัด ป้องกันและลงโทษ

 

สุทธิชัย:คิดว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายของประเทศหรือไม่

 

อ.มีชัย:มีคนเขาบอกวันที่ พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยมีพระราชพิธี ซึ่งพิธีกรระบุว่างานพระราชพิธีครั้งนี้ในรอบ48ปี ผมจึงคิดในใจว่าอย่างน้อยก็คงใช้ได้สัก48ปี เอาตัวเลขนั้นเป็นเลขมงคลที่นำมาใช้

 

สุทธิชัย:อะไรทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้ ยั่งยืน

 

อ.มีชัย :ผมคิดว่าประชาชนตื่นตัวมากขึ้น และที่เคยพูดถึงการมีส่วนร่วม20ปี ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้นไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากเกิดเฉพาะหมู่คนที่มีความแอคทีฟ ส่วนคนรากหญ้าหรือคนทั่วไปไม่เกิด แต่คราวนี้เราสัมผัสได้ถึงความตื่นตัวของคน หลายคนที่เขาโหวตให้รัฐธรรมนูญเขาไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญทั้งหมด เขาดูเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแค่นั้นก็พอแล้ว และเมื่อพอใจก็โหวต

 

หากเราดูจากโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่า ความตื่นตัวออกมามากทีเดียว ซึ่งบอกทั้ง2ข้าง ความระมัดระวังในสิทธิของตัว หรือความคิดที่จะโต้แย้งความเห็นที่ตรงข้าม เขาใช้สิทธินั้น เพราะเครื่องมือหรือเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เขาสามารถแสดงออกและทำได้ ต่างกับสมัยก่อนที่มีสื่อหลักคอยชี้นำ แต่สมัยนี้พบว่าสื่อหลักชี้นำไมได้ เนื่องจากเขาเป็นสื่อเองแล้ว ดังนั้นจุดนี้ทำให้เขามีส่วนช่วยคุ้มครองการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นอาจมีอุปสรรค แน่นอนต้องหาทางแก้ไข ดังนั้นจะทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ และไม่เข้าถึงตาจนเหมือนที่ผ่านมา

 

“ไม่ว่าคนที่สนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ เขาจะเริ่มเรียนรู้ และกฎเกณฑ์ กติกา เพราะรัฐธรรมนูญได้สร้างอะไรในระยะยาว เช่น การวางรากฐานด้านการศึกษา ให้มีวินัย ขณะที่คนปัจจุบันที่มีแนวคิดเมื่อเรียนรู้แล้ว จะช่วยเสริมเป็นทอดๆ ไป เป็นสิ่งที่ผมหวัง ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีรายละเอียดมาก ซึ่งผมก็อึดอัด แต่ก็นึกว่าหากไม่ลงรายละเอียด ไม่มีทางที่จะปฏิรูปหรือเป็นไปในทิศทางที่ทุกคนอยากได้”

 

สุทธิชัย:รัฐธรรมนูญนี้ สะท้อนความต้องการของประชาชนจริง หรือมากกว่าที่ผ่านมา

 

อ.มีชัย:ผมคิดว่ามากกว่า เนื่องจากรับฟัง และเอามาใช้โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ เมื่อ2วันก่อนได้รับจดหมายขอบคุณที่ข้อเสนอของเขา เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เมื่อเห็นว่าดีก็เอามาใส่ไป เช่น กกต.จังหวัด เรารับฟังความเห็น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มองว่าไม่ควรมี เพราะเป็นเหตุของการทุจริต แต่มีส่วนหนึ่งอยากให้มี ก็ลองไปดูรายละเอียด คนที่อยากให้มี คือ อดีต กกต.จังหวัด

   

 “เราเปิดกว้างฟังแบบปลายเปิด อย่างคุณสุทธิชัย หยุ่นพูด ผมก็ฟัง บางข้อก็เอามาพิจารณา ซึ่งแต่ละคนที่พูดก็ไม่รู้หรอกว่ากรธ.หยิบนำมา เพราะเราเอาแนวคิดของเขามาหลอม หรือสะกิดให้เราต้องหาทางแก้”

 

สุทธิชัย:อิทธิพลของ “อาจารย์” มีมากแค่ไหนในที่ประชุม หากร่างเองคนเดียวจะเหมือนกี่เปอร์เซ็นต์

 

อ.มีชัย: ร่างเองคนเดียว จะไม่ได้ดีเท่านี้ เพราะได้กรธ.ที่มีประสบการณ์จากหลากหลายสาขาที่นำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ มาให้มุมมองต่อการเขียนเนื้อหา มีเพียง1-2ครั้งที่ใช้สิทธิความอาวุโสพิจารณาวิธีที่กลางๆ แต่ไม่เคยอ้างว่าผมประสบการณ์เยอะต้องเอาแบบนี้ ที่ผ่านมากรธ.ไม่เคยโต้เถียงรุนแรง กรณีที่มีข้อถกเถียงจะใช้เหตุผล การอธิบาย ในการประชุมร้อยครั้งที่ผ่านมา มีการโหวตครั้งเดียว คือจะไปประชุมต่างจังหวัดที่ทะเล หรือ ภูเขา เท่านั้น ขณะที่เนื้อหาไม่มีการโหวต แต่ยอมรับว่าถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ เป็น ถ้อยคำของผม เพราะผมเป็นผู้พิมพ์เอง เมื่อพิมพ์แล้วจะขึ้นหน้าจอให้ทุกคนเห็น ให้อภิปรายจนพอใจ ยอมรับว่าการยกร่างต้องคิดถึงคนข้างนอกด้วยว่ารับได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดใช้สูตรประณีประนอมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้กันไป

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

 

  “วันข้างหน้าหากประชาชนเข้มแข็งในทางการเมืองมากกว่านี้ จะเปลี่ยนระบบอย่างไรก็ไปว่ากัน”

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

 

สุทธิชัย:กังวลหรือไม่ที่จะถูกวิจารณ์ว่า ร่าง เพื่อเอาใจ คสช.

 

อ.มีชัย :ไม่ เพราะไม่ได้มี อีกทั้งคสช. ก็ถูกปฏิบัติอย่างเดียวกับคนอื่นๆ ที่กรธ.ส่งจดหมายไปสอบถามความเห็น ที่ผ่านมา กรธ.ทั้งคณะไม่เคยพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ซึ่งไม่เหมือนกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องประชุมด้วยเพราะเป็นแม่น้ำ5สาย ซึ่งส่วนตัวผมก็คิดว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากยังทำเนื้อหาไม่เสร็จ หากไปอธิบายก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้หรือไม่ ดังนั้นไม่จำเป็น ขณะที่นายกฯ ก็ไม่ยุ่มย่าม

  

 “ส่วนที่หลายคนบอกว่ามีใบสั่งอะไรหรือไม่นั้น ผมยืนยันว่าไม่มี แต่หากมีก็ไม่ประสบผล เพราะเราคุยกันบนจอ ทั้งนี้ในที่ประชุมมีคนสนิทนายกฯ คือ พล.ต.วีระ โรจนวาศ เขาก็จดประเด็นรายงานความคืบหน้าให้กับ นายกฯ ซึ่งผมก็ใช้เขาพอสมควรว่า ทำงานไปถึงไหนแล้วให้ไปเรียนนายกฯ ด้วย ไม่ต้องกังวลนะ เสร็จทันแน่ ซึ่งนายกฯ ดี ให้เกียรติ เมื่อติดขัดอะไรก็ช่วย”

 

สุทธิชัย:คสช. พอใจหรือไม่

 

อ.มีชัย: ผมได้ฟังจากนายกฯ ท่านบอกไม่ได้พอใจทั้งหมด ซึ่งผมก็ตอบกลับว่าผมก็ไม่ได้พอใจทั้งหมดเช่นกัน เนื่องจากต้องนึกถึงคนอื่นๆ ด้วย แบ่งๆ กันไป เพราะรัฐธรรมนูญต้องบังคับใช้กับทุกองคาพยพ ดังนั้นเมื่อมีคนได้ ต้องมีคนเสีย แต่ต้องประคองให้อยู่ด้วยกันได้

 

สุทธิชัย : จริงหรือไม่ กับเจตนาของการร่างครั้งนี้ คือ ได้รัฐบาลผสม

 

อ.มีชัย:ไม่ได้เป็นเจตนา ส่วนที่ตีความกันไปเพราะพรรคไปคำนวณตามข้อมูลของเขาที่เกี่ยวกับความนิยมในแต่ละภูมิภาค ซึ่ง กรธ.ไม่มีทางรู้ได้เลย ไม่รู้ว่าแต่ละพรรคนั้นมีฐานเสียงอยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร อย่างมากก็ดูแต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายว่าใครได้เท่าไร แต่เอามาใช้กับวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่ไม่ได้ ดังนั้นจะใช้ฐานตัวเลขเดิมมาคำนวณไม่ได้ เหตุผลที่เราใช้วิธีนี้เพื่อไม่ให้มีใครคำนวณล่วงหน้าได้ คือ ทุกคนมาทัดเทียมกัน

 

สุทธิชัย:สิ่งที่เขากลัว คือ ให้อำนาจ คสช. มีสิทธิหรือส่วนร่วมตั้งรัฐบาลใหม่ได้

 

มีชัย:จนถึงปัจจุบันไม่มีทีท่าว่าคสช. จะไปตั้งพรรคการเมือง เมื่อปีที่แล้วที่กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งไม่มีทีท่าใหญ่ เราไม่เคยคิด ไม่ได้เอา คสช. มาเลย เพราะเขาไม่มีฐานทางการเมือง ส่วนที่มองว่าจะใช้พรรคเล็กเพื่อเป็นนอมินี ตั้งรัฐบาล พรรคใหญ่ไม่มีโอกาสนั้น ผมมองว่าหากพรรคใหญ่2พรรคได้ไม่ถึงครึ่ง โอกาสเป็นได้หากพรรคเล็กรวมได้ แต่ธรรมชาติยาก หากพรรคเล็กรวมได้มาตั้งรัฐบาล เชื่อว่าต้องกินยานอนหลับทุกคืน

 

 สุทธิชัย : ในทางกฎหมาย การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่

อ.มีชัย: ไม่น่าเป็นไปได้ เท่าที่ฟังจากนายกฯ ท่านก็นั่งนับวัน นับถอยหลังเหมื่อนผม เพราะเหนื่อย และยิ่งนายกฯ เป็นคนใจร้อน ท่านทำงานไม่หยุด ดังนั้นก็เหนื่อยพอสมควร เมื่อมีเวลาเหลือตอนนี้ก็ทำให้เต็มที่ ซึ่งหลายคนเขาก็มองว่าเหตุที่ขยันเพราะอยากเป็นต่อ ซึ่งมองคนละประเด็น

 

สุทธิชัย: มองว่าหากจะเลือกตั้งช้าสุดเมื่อใด

อ.มีชัย: ถ้านับดู จะเป็นปลายปี2561หากไม่เกิดสงครามโลกเสียก่อนนะ ส่วนอุบัติเหตุการเมืองอื่นๆ นั้นผมนึกไม่ออก หากจะมีส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายลูกนั้น ก็อาจเป็นเพราะผมทำไม่เสร็จ เกินเวลาแล้วต้องตั้งคนใหม่ ซึ่งผมไม่ทำ ไม่เช่นนั้นเสียชื่อผมหมด

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

 

สุทธิชัย:บทบาทของ กรธ. ต่อการทำกฎหมายลูกที่กำหนดไว้8เดือนจะเป็นอย่างไร จบตรงไหน

 

มีชัย: จะจบตรงที่ กฎหมายลูกฉบับที่10 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไม่ต้องรอจนถึงเลือกตั้ง โดยระหว่างทำกฎหมายลูกของ สนช. นั้น กรธ. มีหน้าที่ไปอธิบายให้เขาฟัง หากเขาแก้ไขโดยไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ต้องยอมรับ แต่เงื่อนไขสำคัญคือการแก้ไขต้องไม่ทำให้การเมืองลงเหวไปอีก

 

สุทธิชัย : มองว่าภารกิจหนักๆ ที่รับบทบาทมา เป็นความโชคดี หรือโชคร้ายของชีวิต

อ.มีชัย : ถือว่าเป็นเคราะห์อย่างหนึ่ง เพราะไม่ใช่งานสบาย ตอนที่นายกฯ มาทาบทามให้เป็นประธาน กรธ. ผมเตรียมว่าจะปฏิเสธ ช่วงนั้นนายกฯ ไปเมืองนอก พอท่านกลับมาก็เชิญผมไปพบ ผมถามคำถามแรกกับ นายกฯ ว่า “จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเป็นผม” ซึ่งนายกฯ พูด2-3อย่าง คือ คอขาดบาดตายแบบสุดชีวิตแล้ว เพื่อบ้านเมือง ผมก็ไม่รู้จะเถียงอย่างไรเราก็เรียนหนังสือมาจากเมืองนอก ได้เพราะทุนรัฐบาล บุญคุณนั้นยังต้องติดและต้องตอบแทนอยู่ ซึ่งการทำภาระกิจนี้น่าจะเพียงพอแล้วนะ สำหรับการตอบแทนบุญคุณ 

“ผมได้ใช้หนี้แผ่นดินแล้ว หากรอบหน้าใครจะมาชวนให้ทำรัฐธรรมนูญอีก ถึงอยากทำก็คงทำไม่ไหว เพราะเปลืองสมอง จากนี้เมื่อจบภาระกิจทั้งหมดก็จะกลับไปทำงานที่สำนักงานกฤษฎีกา”

“มีชัย” เปิดใจกับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย

 

--------

ติดตามฉบับเต็มทาง รายการ "ไทม์ไลน์ กับ สุทธิชัย หยุ่น"  ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ