คอลัมนิสต์

เจ้าพ่อกีฬา“บ้านอัมพวัน” ประชัน “บ้านสี่เสาฯ”!

เจ้าพ่อกีฬา“บ้านอัมพวัน” ประชัน “บ้านสี่เสาฯ”!

03 เม.ย. 2560

ตั้งแต่ 5 เมษายนเป็นต้นไป “บิ๊กป้อม” ก็จะได้มาเป็นเพื่อนบ้าน “ป๋าเปรม” และสงกรานต์ปีนี้ “ประมุขบ้านอัมพวัน” จะได้นำทีมเข้ารดน้ำขอพรจาก “ประมุขบ้านสี่เสาฯ”

เจ้าพ่อกีฬา“บ้านอัมพวัน” ประชัน“บ้านสี่เสาฯ” !

     เป็นไปตาม “วาสนา บารมี” เมื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง“ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” คนใหม่ ตามการสนับสนุนของ “ขาใหญ่กีฬาไทย”

     โดยการเลือกประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ อย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นที่บ้านอัมพวัน วันที่ 5 เมษายน 2560 ซึ่งวันนั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา จะประกาศอำลาตำแหน่ง หลังเป็น “ประมุขบ้านอัมพวัน” มาถึง 4 สมัย เป็นระยะเวลา 16 ปี

     นับจากนี้ไป “บิ๊กป้อม” จะเป็นประมุขบ้านอัมพวันต่อไปอีก 4 ปี และจะต่ออีกหนึ่งสมัยหรือไม่? ย่อมขึ้นกับสถานการณ์บ้านเมือง ณ เวลานั้น

     กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ จะมีการล็อกตัวบุคคลเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งบุคคลคนนั้นส่วนมากก็จะเป็นนายทหารระดับสูงผู้มากบารมีของประเทศทั้งสิ้น

     ไล่มาตั้งแต่ปี 2509 จอมพลประภาส จารุเสถียร สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก และก็เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ เรื่อยมาจนถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

     หลัง 14 ตุลาคม 2516 พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ หนึ่งใน “บิ๊กทหาร” ผู้ทรงอำนาจ พ.ศ.นั้น ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ อย่างยาวนาน จนกระทั่งเมื่อ “เสธ.วี” พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ถึงแก่อนิจกรรม

     พล.อ.สุรพล บรรณกิจโศภน รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ ขณะนั้น เป็นประธานรักษาการเรื่อยมา จนถึงวาระการเลือกตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกฯ ครั้งต่อมา

     ปี 2540 พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และนายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ ในปี 2540

     ปี 2544 พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และนายกสมาคมว่ายน้ำฯ ก็ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ

     เดือนพฤษภาคม 2559 มีข่าวแพลมๆ ออกมาว่า “บิ๊กป้อม” จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ แทน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่จะครบวาระในเดือนมีนาคม 2560

     “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ยืนยันว่า จะไม่ขอรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ แน่นอน หลังจากเป็นมาแล้ว 4 สมัย

     เป็นจังหวะเดียวกับที่ รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ นายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำฯ ที่ทำหนังสือขอลาออก

     กระบวนการปูทางให้ “บิ๊กป้อม” เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ จึงเริ่มขึ้น เมื่อ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อุปนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ผลักดันให้ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย คนที่ 11

     ที่สำคัญ คุณสมบัติของประธานโอลิมปิกฯ จะต้องเป็นนายกสมาคมกีฬา มาก่อน “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ น้องรักบิ๊กป้อมก็จัดให้เต็มๆ  

     การดำรงตำแหน่งของ “บิ๊กป้อม” จึงสะดวกโยธิน และในการทำงานก็ยิ่งไร้ปัญหา เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกไทยนั้น มีความเป็นปึกแผ่นในการบริหารงาน ภายใต้ศูนย์รวมของ “บิ๊กจา” พล.อ.จารึก อารีราชการัณย์ ที่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการกีฬา

     ครั้งนี้ก็เช่นกัน “บิ๊กจา” จะดำรงตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 และเลขาธิการตามที่ล็อกโผไว้

     “บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เป็นบุคคลที่อยู่เคียงคู่กับวงการกีฬาไทยมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

     พล.ต.จารึก เป็นหน่อเนื้อของตระกูลอารีราชการัณย์ อันเป็นนามสกุลพระราชทานเก่าแก่อีกสกุลหนึ่งของเมืองไทย สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองปักษ์ใต้หลายหัวเมือง

     แม้รากเหง้าจะอยู่ที่พัทลุง แต่ “บิ๊กจา” ก็มาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุคตลาดวิชา และจบโรงเรียนนายร้อยสำรอง หลักสูตรเร่งรัด แล้วเข้ารับราชการในกองทัพบก

      “บิ๊กจา” เคยปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานทูตทหาร และก้าวหน้าเป็นลำดับ จนเป็นนายทหารติดตาม หรือ “ทส.” ของ พล.อ.เต็ม หอมเศรษฐี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกสมัยโน้น

     ในห้วงทศวรรษ 2500 จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ขณะที่ พล.อ.เต็ม หอมเศรษฐี ผู้ช่วย ผบ.ทบ.นั้น เป็นนายกสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ

     “ผู้ช่วยฯเต็ม” ก็เป็นคนเดินงานกีฬาแทนจอมพลประภาส โดยมี “บิ๊กจา” เป็นมือทำงาน จนถึงยุค “เสธ.วี” พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ก็ยังใช้บริการ “บิ๊กจา”  

     จึงสั่งสมพลานุภาพในวงการกีฬา กลายเป็น “ผู้มีบารมีหลังม่าน” ของโอลิมปิกไทย

      เนื่องจากที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่ที่บ้านอัมพวัน ถนนศรีอยุธยา ใครเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ ผู้สื่อข่าวจะเรียกว่า “ประมุขบ้านอัมพวัน”

     “บิ๊กป้อม” ก็จะไม่มีแค่บ้านพักที่เป็น “มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ” ภายในค่ายทหาร ร.1 รอ. หากแต่ยังมี “บ้านอัมพวัน” เป็นศูนย์รวมเจ้ายุทธจักรกีฬาไทย

     บังเอิญว่า “บ้านอัมพวัน” อยู่ใกล้ “บ้านสี่เสาฯ” พอดิบพอดี

     ในอดีต ทุกวันขึ้นปีใหม่ และวันสงกรานต์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ในฐานะประธานกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เลขาธิการ จะเข้าพบ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อขอรับพรเป็นประจำ

     “ป๋าเปรม” มีเมตตาแก่คณะกรรมการโอลิมปิกไทย มาตั้งแต่สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี และท่านย้ำอยู่เสมอว่า ให้คณะกรรมการโอลิมปิกฯ เป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาต่างๆ ในการสร้างชื่อเสียงและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ

     ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนเป็นต้นไป “บิ๊กป้อม” ก็จะได้มาเป็นเพื่อนบ้าน “ป๋าเปรม” และสงกรานต์ปีนี้ จะเป็นปีแรกที่ “บิ๊กป้อม” กับหัวโขน “ประมุขบ้านอัมพวัน” จะได้นำทีมเข้ารดน้ำขอพรจาก “ประมุขบ้านสี่เสาฯ” 

     เชื่อว่า นักข่าวและช่างภาพก็รอบันทึกภาพ “สองประมุข” ในวันสงกรานต์ที่บ้านสี่เสาฯ ซึ่งน่าจะนำความชุ่มเย็นมาให้ประเทศไทย 

“สมยศ” อำนาจใหม่

ในยุทธจักรลูกหนังไทย

     ไม่เหนือความคาดหมาย เมื่อ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ประกาศยุติการทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

     จะว่าไปแล้ว “ซิโก้” รู้อนาคตของตัวเองมาตั้งแต่วันแรกที่ “กลุ่มอำนาจใหม่” นำโดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ชนะเลือกตั้ง ได้เข้ามาบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แทน “บังยี” วรวีร์ มะกูดี

     เพียงแต่นาทีนั้น “ซิโก้” มีพลังแฟนบอลหนุนหลังอย่างมากมาย เมื่อเขาทำทีมชาติไทยประสบความสำเร็จเป็น “หนึ่งในอาเซียน”

     กองเชียร์ “ช้างศึกไทย” ต่างก็ฝันถึงการเข้ารอบสุดท้ายในมหกรรมฟุตบอลโลก

     ย้อนไปช่วง “สองขั้วอำนาจ” ฟุตบอลไทย กำลังทำศึกเลือกตั้ง “ประมุขบอลไทย” กันอึกทึก ต่างฝ่ายต่างก็ดึงเอา “ซิโก้” มาหาเสียง หาคะแนน

     “ขั้วบังยี” ถึงขั้นมีการปล่อยข่าวว่า อาจดึงซิโก้มาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอล แทนบังยี ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หวังดึงเสียงจากภาคีสโมสรที่ชื่นชอบซิโก้

     “ขั้วสมยศ” ได้ประกาศเป็น “สัญญาประชาคม” ว่า หากได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารสมาคมฟุตบอล ก็จะมอบหมายให้ซิโก้เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยต่อไป

     เอาเป็นว่า ในเวลานั้น ทั้งสองขั้วลูกหนังต่างใช้ชื่อเสียงอันหอมหวานของซิโก้มาสร้างคะแนนนิยม

     อีกด้านหนึ่ง หลายคนอาจคิดว่า ซิโก้เป็นคนของ “กลุ่มอำนาจเก่า” แต่หากติดตามความเคลื่อนไหวของซิโก้ นับแต่เข้ามาคุมทีมชาติไทย จะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซิโก้กับบังยี ก็อยู่ในลักษณะ “มีหวาน มีชื่น มีขื่น มีขม”

     เมื่อไม่นานมานี้ ซิโก้เปิดเผยว่า ตั้งแต่คุมทีมชาติมานั้น ไม่เคยได้รับสัญญาอย่างเป็นทางการจากสมาคมฟุตบอลเลยตั้งแต่ปี 2556

     คราวนี้มาถึงกรณี “ดราม่าสัญญาซิโก้” ระหว่างสมาคมลูกหนังยุค “สมยศ” กับซิโก้ ก็เล่นเกมยืดเยื้อมาแรมเดือน จนมาถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ซิโก้จึงเดินทางมาเจรจา และมีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ

     ว่ากันว่า คนในวงการลูกหนังรู้ดีว่า กลุ่มสมยศไม่เอาซิโก้แน่ เพราะ “ปลาคนละน้ำ” กับทีมงานของสมยศ และเพื่อน

     เพียงแต่ “ศรัทธา” ของแฟนบอลยังมีมากมาย จึงไม่อยากสวนกระแส เพราะขืนไปปลดซิโก้ตั้งแต่วันแรกเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอล รับประกัน “สมยศ” จะกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกแน่นอน

     อดีตนายตำรวจที่เคี่ยวกรำอยู่บนถนนการเมืองมานาน รู้ดีว่าควรจะอาศัยสถานการณ์ “พ่าย 2 นัด” แถมแพ้เยอะ มาเปลี่ยนตัวหัวหน้าผู้ฝึกสอน

     ปฏิบัติการเชิงรุก จึงเริ่มขึ้นจาก “บิ๊กอ๊อด” ประมุขลูกหนัง

     "ถ้าให้ผมงอมืองอเท้า ปล่อยให้ทีมชาติไทยเป็นแบบนี้ไปอีก 3 ปี ในขณะที่ผมเป็นนายกสมาคมอยู่ ผมลาออกดีกว่า”

     แล้วทุกอย่างก็จบที่การแถลงยุติบทบาทหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยของซิโก้

     เมื่อกองหนุนอันสำคัญของ “บิ๊กอ๊อด” คือ วิชัย ศรีวัฒนประภา หรือ “วิชัย คิงเพาเวอร์” เจ้าของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี 

     วิธีคิดในการทำทีมลูกหนังก็ต่างกัน ซิโก้ใช้วัฒนธรรมอุปถัมภ์แบบไทยไทย แต่กลุ่มสมยศมองถึงความมืออาชีพ และความเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ