
เข้าใจผิดแระ! ‘เปิ๊ดสะก๊าด’
‘เปิ๊ดสะก๊าด’ มาจากภาษาอังกฤษ โดยเพี้ยนมาจากคำว่า First Class ซึ่งหมายถึงระดับที่ดีที่สุดของสินค้าหรือบริการ แต่คนไทยนำมาใช้จึงเพี้ยนเป็น ‘เปิ๊ดสะก๊าด’
นายกฯ “ลุงตู่” เป็นผู้นิยมใช้คำไทย คำบ้านบ้านในการสื่อสารกับนักข่าว รวมถึงประชาชนทั่วไป
ล่าสุด “ลุงตู่” พูดถึง ม.44 กับการบังคับใช้กฎหมายจราจร และมีเรื่องคาบเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ จึงวอนสาวไทยให้แต่งกายสุภาพๆ ว่า
"อย่าแต่งกายเปิ๊ดสะก๊าด อย่าสาดน้ำเป็นถัง ๆ"
เมื่อก่อนสงกรานต์ปีที่แล้ว “ลุงตู่” ก็ห่วงสาวไทย จึงออกโรงปราม
"เบื้องต้นสั่งการไปแล้วว่า จะต้องไม่มีผู้หญิงหรือสาวประเภทสองที่แต่งกายไม่เรียบร้อย ไปเต้นเปิ๊ดสะก๊าดอยู่บนรถ จะต้องจับทันที รวมถึงเจ้าของรถด้วย”
แสดงว่า นายกฯ ลุงตู่ คุ้นเคยกับคำว่า “เปิ๊ดสะก๊าด” มาก ถึงกับนำมาใช้เตือนสาวไทยสองปีซ้อน
“เปิ๊ดสะก๊าด” เป็นศัพท์สแลง (slang) หรือถ้อยคำหรือสำนวนใช้กันเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว
ถ้าเอาตามสำนวนไทยเป๊ะๆ หมายถึงความหรูหรา มักจะใช้เรียกในการแต่งตัว เช่น “พวกเธอแต่งตัวได้เปิ๊ดสะก๊าดมาก”
ที่มาของสำนวนนี้คือ เปิ๊ดสะก๊าด เป็นคำที่รับมาจากภาษาอังกฤษ โดยเพี้ยนมาจากคำว่า First Class ซึ่งหมายถึงระดับที่ดีที่สุดของสินค้าหรือบริการ แต่คนไทยนำมาใช้จึงเพี้ยนเป็น “เปิ๊ดสะก๊าด”
แต่สำนวน “เปิ๊ดสะก๊าด” มันเพี้ยนจากความหมายเดิม เมื่อตลกลูกทุ่ง หรือตลกในโรงลิเก มีความเข้าใจผิดคิดว่า “เปิ๊ดสะก๊าด” หมายถึง ผู้หญิงแต่งตัวโป๊
ชาวบ้านร้านตลาด ก็เลยเข้าใจไปในทางเดียวกัน หากเห็นสาวๆ แต่งตัววับๆแวมๆ ก็จะพูดขึ้นทันทีว่า “แต่งตัวเปิ๊ดสะก๊าด”