คอลัมนิสต์

เทียบออปชั่น"เรือดำน้ำจีน"3.6หมื่นล้าน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“การถ่วงดุลอำนาจการรบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ สามารถจัดซื้อ “เรือปราบเรือดำน้ำ” ที่ราคาถูกกว่าได้ และน่าจะถ่วงดุลอำนาจการรบได้ดีกว่า”

เรือดำน้ำจีน 3.6 หมื่นล้าน

เทียบออปชั่น ราคา และยุทธบริเวณ

     โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ถูกจับตาว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อใด เนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้พาคณะผู้นำเหล่าทัพไปตรวจศูนย์ซ่อมและจอดเรือดำน้ำที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เรียบร้อยแล้ว

     ขณะที่คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือ กจด. ที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาและการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำแบบ “จีทูจี” จำนวน 1 ลำ พร้อมระบบอาวุธ และส่วนสนับสนุน เป็นเงินจำนวน 1.34 หมื่นล้านบาทเศษ ไปแล้ว โดย กจด.ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

     ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับทราบการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2566 สำหรับการจัดจ้างต่อเรือดำน้ำลำแรก จากทั้งหมด 3 ลำ ซึ่งมีแผนจะผูกพันงบประมาณถึง 11 ปี!

     ถึงวันนี้น่าจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยกำลังจะมีเรือดำน้ำเข้าประจำการแล้ว โดยกองทัพเรือได้ผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเรียกได้ว่าเข้าใกล้ความสำเร็จเต็มที หลังจากลูกประดู่ต้องรอมานานเกือบ 70 ปี

     หลายคนอาจไม่ทราบว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำ เพราะเราเคยมีเรือดำน้ำมาแล้ว แถมยังมีเป็นชาติแรกในอาเซียน และชาติที่ 2 ในเอเชียด้วย

     เรือดำน้ำที่เคยเข้าประจำการในกองทัพเรือไทยตั้งแต่ปี 2480 ต่อโดยบริษัทญี่ปุ่น มีจำนวน 4 ลำด้วยกัน คือ เรือหลวงมัจฉาณุ, เรือหลวงวิรุณ, เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล

     เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้ง ตั้งแต่สงครามอินโดจีน กระทั่งปลดประจำการทุกลำในปี 2494 เนื่องจากปัญหาขาดแคลนอะไหล่ และญี่ปุ่นแพ้สงคราม

     หลังจากนั้นกองทัพเรือก็ว่างเว้นการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการมานาน ขณะที่มิตรประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศพากันจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการกันอย่างคึกคัก แต่กองทัพเรือก็ไม่ย่อท้อ และได้เตรียมความพร้อมตลอดมา 

     โดยเมื่อปี 2556 ได้ก่อสร้างอาคารกองเรือดำน้ำ และศูนย์ฝึกยุทธการเรือดำน้ำ รวมทั้งเครื่องจำลองการฝึกเรือดำน้ำ มูลค่ารวมเกือบ 1,000 ล้านบาท ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานเมื่อปี 2557

     ความพยายามที่จะจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง เกิดขึ้นมานานตลอด ช่วงปี 2538 มีโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Gotland จากสวีเดน ขณะที่ช่วงปี 2554 กองทัพเรือเกือบได้เรือดำน้ำชั้น 206A จากเยอรมนี ที่เสนอในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม แต่สุดท้ายก็ฟาวล์ทั้งสองครั้ง

     ล่าสุด ในรัฐบาล คสช.มีโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง มีประเทศที่เสนอตัวเข้าประกวดราคาขายเรือดำน้ำให้แก่กองทัพเรือไทยจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน รัสเซีย และจีน ซึ่งสุดท้ายไทยตัดสินใจเลือกจีน

     โดยโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนแบบรัฐต่อรัฐ ที่กำลังขออนุมัติผูกพันงบประมาณอยู่นี้ เป็นรุ่น Yuan Class S-26T โดยจัดซื้อทั้งโครงการจำนวน 3 ลำ ราคารวม 3.6 หมื่นล้านบาท

     เรือดำน้ำ รุ่น S26T เป็นรุ่นพิเศษที่จีนต่อขึ้นสำหรับประเทศไทยเท่านั้น พัฒนาจาก Yuan Class S-26 ธรรมดา คาดว่ามีขนาดยาว 72 เมตร กว้าง 8.4 เมตร ระวางขับน้ำขณะดำ 2,600 ตัน และใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า

     การจัดซื้อจัดหาที่ใช้งบประมาณสูงถึง 3.6 หมื่นล้านบาท จึงไม่ได้มีแค่ตัวเรือเท่านั้น แต่สิ่งที่จะได้ควบคู่กันมาก็คือ การฝึก การสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ซึ่งจีนรับปากว่าจะเพิ่มให้ รวมทั้งอุปกรณ์ท่าเรือ

     ส่วนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะติดตั้งมาด้วยเป็น “ส่วนควบ” นับว่าน่าสนใจ เพราะมีทั้งตอร์ปิโด, อาวุธปล่อยนำวิถี และขีปนาวุธต่อต้านเรือ หรือ ASM ที่หมายถึง Anti-Ship missile ซึ่งเรือดำน้ำที่ประจำการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเราหลายประเทศไม่มีมิสไซล์แบบนี้

     นอกจากนั้นยังมีระบบที่เรียกว่า AIP หรือ Air Independent Propulsion system ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้เรืออยู่ใต้น้ำได้ต่อเนื่องถึง 21 วันโดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อชาร์จไฟ นับว่าเป็นรุ่นที่อยู่ใต้น้ำได้นานที่สุดของเรือดำน้ำที่ไม่ได้ใช้ระบบนิวเคลียร์เป็นพลังงาน ขณะที่เรือดำน้ำปกติจะดำน้ำได้นาน 7-10 วันเท่านั้น

     รายงานของคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือ กจด. ของกองทัพเรือ ได้สรุปคุณสมบัติของเรือดำน้ำชั้น S26T ว่า มีความเหมาะสมทุกด้าน ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ คือการมีเรือดำน้ำเพื่อคุ้มครองเส้นทางการคมนาคมทางทะเล และถ่วงดุลอำนาจการรบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำเกือบทุกประเทศ ส่วนในแง่ยุทธวิธี เรือดำน้ำรุ่นนี้ก็มีความสามารถในการซ่อนพราง เพราะมีระบบ AIP ขณะที่ระบบอาวุธก็คุ้มค่า สมราคา

     แต่ “คม ชัด ลึก” ได้ข้อมูลอีกด้านจากผู้เชี่ยวชาญว่า ในแง่ยุทธศาสตร์ มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้เรือดำน้ำเพื่อคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล เพราะกองเรือพาณิชย์ในปัจจุบันล้วนเป็นกองเรือของชาติมหาอำนาจ ส่วนการถ่วงดุลอำนาจการรบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ สามารถจัดซื้อ “เรือปราบเรือดำน้ำ”ที่ราคาถูกกว่าได้ และน่าจะถ่วงดุลอำนาจการรบได้ดีกว่า

     ในแง่ยุทธวิธี เรื่องการซ่อนพราง มีคำถามว่า เรือดำน้ำชั้น S26T จะทำได้ดีแค่ไหน เพราะเป็นเรือขนาดใหญ่ ขณะที่กองทัพเรือเคยมีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำขนาดเล็กจากเยอรมนี 6 ลำ เมื่อปี 2554 ใช้งบประมาณต่ำกว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน 

     ส่วนระบบ AIP จะมีประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะอ่าวไทยค่อนข้างตื้น และการใช้เรือดำน้ำจริงๆ แล้วต้องสื่อสารกับผิวน้ำเป็นระยะ การดำน้ำได้นาน 21 วัน อาจไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับระบบอาวุธ เรือดำน้ำจีนให้ตอร์ปิโดลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ แต่ประเทศอื่นที่เสนอราคา เสนอให้ตอร์ปิโดลูกจริง 8-16 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 2 ลำ

     หากย้อนดูความต้องการเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จะพบว่าไม่เคยสนใจเรือจากจีนมาก่อน เพราะการชงโครงการจัดหา 2 ครั้งล่าสุดที่เกือบประสบความสำเร็จ ก็เป็นเรือดำน้ำจากสวีเดน และเยอรมนี ทั้งยังเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กหรือขนาดกลาง 

     โดยเรือดำน้ำเยอรมันมีความยาว 48.6 เมตร ระวางขับน้ำ 498 ตันเท่านั้น 

     ส่วนเรือดำน้ำจากสวีเดน ชั้น Gotland ก็มีระวางขับน้ำใต้น้ำประมาณ 1,625 ตัน 

     แตกต่างจากเรือดำน้ำจีน S26T ที่มีขนาดยาว 72 เมตร กว้าง 8.4 เมตร ระวางขับน้ำขณะดำถึง 2,600 ตัน

    คำถามเรื่องความเหมาะสมกับ “ยุทธบริเวณ” จึงดังก้องจากลูกประดู่ผู้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องนี้

     ส่วนความเชื่อมั่นเทคโนโลยีจากจีน ต้องย้อนไปดูเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงเจ้าพระยา และชุดเรือหลวงนเรศวร ที่เคยซื้อจากจีน แล้วต้องเสียงบประมาณปรับปรุง-อัพเกรดกันขนานใหญ่อย่างไร ก็จะพอเข้าใจว่าควรเชื่อมั่นหรือไม่ควร

     งานนี้ต้องลุ้นกันว่า ข้อมูลอีกด้านของโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีน จะดังก้องไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่?!?

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ