
‘รอกำหนดโทษ-รอลงอาญา' ต่างกันอย่างไร
กรณีศาลฎีกาพิพากษา รอการกำหนดโทษ 'จอน อึ๊งภากรณ์'กับพวก คดีบุกสภา อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า 'รอการกำหนดโทษ' คืออะไร
กรณีศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมกับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 จำเลยกับพวกกลุ่มองค์กรภาคประชาชน และกลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนรวมตัวกันที่บริเวณถนนอู่ทองใน แล้วบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อขัดขวางสมาชิกรัฐสภาไม่ให้พิจารณาร่างกฎหมายก่อให้เกิดเสียหายวุ่นวาย จนสมาชิกรัฐสภาต้องเลิกการประชุม
โดยศาลฎีกา เห็นว่า จำเลยทั้งหมดมีความผิด แต่จำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับเมื่อพิเคราะห์ อายุ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา สภาพความผิด และเหตุผลในการกระทำความผิด เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรง จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจรู้สึกแปลกๆหู กับคำว่า‘ รอการกำหนดโทษ’ เพราะไม่ค่อยได้ยิน และสงสัยว่า มีความต่างจากการ‘รอลงอาญา’ ที่คุ้นเคย อย่างไรบ้าง
จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องพลิกไปดู ที่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
มาตรา 56 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตนิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้นหรือสภาพความผิดหรือเหตุอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาส
ผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดแต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า 'รอการกำหนดโทษ' ก็คือ กรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิด แต่ยังไม่กำหนดโทษจำคุกว่า จะต้องถูกจำคุกเท่าใด โดยกำหนดระยะเวลาในกำหนดโทษไว้ อย่างเช่น คดีนี้ ศาลพิพากษาให้รอกำหนดโทษไว้ 2 ปี จึงยังไม่ทราบว่าจำคุกเท่าใด แต่หากภายใน 2 ปี ได้กระทำความผิด จึงจะถูกกำหนดโทษ ในทางตรงกันข้ามถ้าภายใน 2 ปีไม่ได้กระทำผิด ถือว่า พ้นโทษ
ส่วนการ 'รอการลงโทษ' หรือที่เรียกกันว่า รอลงอาญา ก็คือ กรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดและกำหนดจำคุกมีเวลาแน่นอนแล้ว แต่ผู้นั้นยังไม่ต้องถูกจำคุกโดยรอลงอาญาไว้ เช่น ศาลสั่งจำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญาไว้ 2 ปี หากภายใน 2 ปี ไม่กระทำความผิดอีก ถือว่า พ้นโทษ
หรืออธิบายง่ายๆ ว่า ทั้งสองกรณี หากภายในเวลาที่ศาลกำหนดผู้กระทำความผิดไม่ได้กระทำความผิดขึ้นอีก ถือว่าพ้นจากการที่กำหนดโทษหรือการที่จะลงโทษที่รอไว้
แต่หากผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ศาลกำหนด ในคดีที่รอการกำหนดโทษศาลจะกำหนดโทษที่รอไว้ แล้วลงโทษผู้กระทำความผิด หรือในคดีที่รอการลงโทษ ศาลอาจเห็นสมควรให้ลงโทษที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก
ทั้งนี้' การรอกำหนดโทษ' และรอการลงโทษ' ทั้งสองกรณีนับเป็นวิธีการแก้ไขความประพฤติของผู้ได้กระทำความผิดอาญา เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตนเป็นคนดีไม่ต้องถูกจำคุก หลีกเลี่ยงการจำคุกระยะสั้น และช่วยลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ โดยนำมาใช้กับคดีเล็กน้อยที่ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และผู้นั้นไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยถูกจำคุกแต่เป็นโทษสำหรับความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
เพราะว่าการพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นไม่สามารถป้องกันหรือปราบปรามการกระทำความผิดได้เสมอไป ดังนั้น การรอการลงโทษหรือการรอการกำหนดโทษจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้นั้นสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดี