คอลัมนิสต์

เจาะลึก ‘อาคารบุญรักษา’ ธรรมกาย

เจาะลึก ‘อาคารบุญรักษา’ ธรรมกาย

08 มี.ค. 2560

นอกจากอาคารบุญรักษา จะถูกดำเนินคดี ผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคารแล้ว เจ้าของที่ดิน ยังอาจถูกดำเนินคดีข้อหาฟอกเงิน

 

             6 มี.ค.ที่ผ่านมา ดีเอสไอเปิดเผยภาพถ่ายทางอากาศ ให้เห็นถึงการวางยุทธวิธีทางทหารของ‘วัดพระธรรมกาย’ขวางปฏิบัติการค้นวัด โดยพบการ‘วางถังน้ำมัน’เป็นแนวยาวข้าง 'อาคารบุญรักษา' และยังพบมีการขุดคูคลองเป็นแนวขวาง 4 แนว มีการเติมน้ำเข้าไปบางส่วนเพื่อสกัดยานพาหนะของเจ้าหน้าที่

              แต่ทาง'วัดพระธรรมกาย' ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา กลุ่มบุคคลจำนวนไม่ทราบสังกัดได้มาที่ประตูโซนอาคารบุญรักษา ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. และบุกเข้าโดยพลการ ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า

             ต่อมามีการนำรถมาชนที่ประตูทางเข้า ถึง 2 - 3 ครั้ง ญาติโยมจึงได้ช่วยกันขุดร่องน้ำ เพื่อรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางเจ้าหน้าที่

              ส่วนถังน้ำมันที่พบนั้น เป็นถังน้ำมันเปล่า ที่นำมาเป็นหลักในการขึงสแลนเท่านั้น เพื่อกันแดด กันฝุ่น และลมร้อน ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

             คราวนี้มาดูเกี่ยวกับ‘อาคารบุญรักษา’ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร 

            ‘อาคารบุญรักษา’ ได้สร้างขึ้น เมื่อ 22 เม.ย. 2558 ซึ่งเป็น‘วันคล้ายวันเกิดของพระธัมมชโย’ มีเป้าหมายใช้เป็นสถานที่รักษาฟื้นฟูสุขภาพของพระภิกษุและสามเณรแบบครบวงจร

            อาคารบุญรักษา เป็นอาคารสูง 6 ชั้น ตั้งอยู่ถนนเลียบคลองแอน เชื่อมกับถนนเลียบคลองสาม บนพื้นที่ 130 ไร่ เลยประตู 5 และ 6 ขึ้นไปประมาณ 500 เมตร ติดกับพื้นที่ 196 ไร่ ตรงข้ามสภาธรรมกายสากล

           อาคารนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นโรงพยาบาลของวัดพระธรรมกาย แต่ยังไม่เปิดใช้งาน โดย ชั้น 1 - 2 เป็นสถานที่ตั้งของสหคลีนิครัตนเวช ซึ่งเป็นศูนย์พยาบาล วัดพระธรรมกาย ส่วนชั้น 3 - 6 เป็นส่วนรับผิดชอบฟื้นฟูสุขภาพพระภิกษุและสามเณร รวมทั้งมีห้องปฏิบัติธรรม ไว้รองรับกรณีอาพาธ ไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้ตามปกติ

           อาคารบุญรักษา อยู่บริเวณโซนดี ที่ดีเอสไอกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอเคยเข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่า มีห้องกว่า 100 ห้อง แต่ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ถูกพระภิกษุจำนวนหนึ่งพยายามปิดกั้นไม่ให้เข้าพื้นที่ ทหารซึ่งเป็นด่านหน้าต้องถอยร่นกลับไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

            เจาะลึก ‘อาคารบุญรักษา’ ธรรมกาย

           สำหรับอาคารบุญรักษาของวัดพระธรรมกาย ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อสร้างโดยไม่แจ้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร โดยมีผู้ไปแจ้งความดำเนินคดีที่ สภอ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา   โดยขณะนี้คดีอยู่ที่การพิจารณาของศาลแขวง ทั้งนี้คดีอาคารบุญรักษา เป็นหนึ่งในจำนวนกว่า 300  คดี ที่เครือข่ายวัดพระธรรมกายถูกดำเนินคดี

             ล่าสุดจากการสืบสวนของดีเอสไอ พบร่องรอยธุรกรรมทางการเงินซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นการ‘ฟอกเงิน’ เกี่ยวกับการซื้อที่ดินสร้าง ‘อาคารบุญรักษา’ หรือไม่ เนื่องจากก่อนสร้าง' อาคารบุญรักษา’  ได้มีการโฆษณาเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินและสร้างอาคารโรงพยาบาลให้กับวัดเพื่อใช้รักษาพระภิกษุที่อาพาธ ซึ่งเมื่อได้มีการรวบรวมเงินบริจาคนำมาซื้อที่ดินได้แล้ว กลับมีการใส่ชื่อบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็น ‘นอมินี'ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ’เป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วควรใส่ชื่อวัด  

            สำหรับขั้นตอนการก่อสร้าง ‘อาคารบุญรักษา’ ก็ส่อพิรุธ เช่นกัน กล่าวคือ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นนอมินีของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่คนดังกล่าวในฐานะผู้ว่าจ้าง ได้มีการวางเงินมัดจำค่าก่อสร้างล่วงหน้าชนิดเต็ม 100% ของเงินว่าจ้างให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งบุคคลดังกล่าวต้องสงสัยว่าเป็น'นอมินี'ให้ โดยไม่มีทยอยจ่ายเป็นงวดๆตามความคืบหน้าของงานตามปกติที่ทำกันในการรับจ้างก่อสร้าง

            คณะพนักงานสืบสวนข้อเท็จจริง ดีเอสไอ จึงอาจจะดำเนินคดีกับ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นนอมินีของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ดังกล่าว ในข้อหา ฟอกเงิน และขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องต่อไป 

            และดีเอสไอ ยังมีจะมีหนังสือเรียกเจ้าของที่ดินอาคารบุญรักษามาชี้แจงว่าเหตุใดจึงมีพระสงฆ์เข้าไปอยู่ในพื้นที่ ทั้งที่บริเวณดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของวัด