คอลัมนิสต์

“ใบอนุญาตนักข่าว” ตีทะเบียนสื่อ ดื้อไม่ทำมีสิทธิติดคุก

“ใบอนุญาตนักข่าว” ตีทะเบียนสื่อ ดื้อไม่ทำมีสิทธิติดคุก

07 มี.ค. 2560

สปท. เดินหน้าพิจารณากฎหมาย"การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ถึงตอนนี้เนื้อหาเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน

ย้อนความไป เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ “คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" (วิป สปท.) มีมติคืน “ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่เสนอโดย กมธ.ฯ สื่อฯ เพื่อให้นำกลับไปทบทวนเนื้อหา หลังถูกคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

 

ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ไม่เห็นด้วยที่เขียนบังคับให้ “สื่อมวลชน-ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” เข้าสู่การจัดระเบียบโดย ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ-ฝ่ายนอมินีของนักการเมือง ที่ถือเป็นคู่ปรับกันมาตลอดของ “สื่อมวลชน” เพราะหวั่นเกรงตามประวัติศาสตร์การต่อสู้ ว่า จะถูกแทรกแซงและถูกอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง หากนำเสนอข่าวสารที่ไม่ตรงใจ

 

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ( 6 มีนาคม ) กมธ.ฯ สื่อมวลชน สปท. ใช้เวลาประชุมเพื่อพิจารณาปรับแก้ไขร่างกฎหมายคุมมาตรฐานสื่อมวลชนฯ มาแล้ว 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีรายละเอียดน่าจับตา “ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์" เก็บรายละเอียดมานำเสนอ พร้อมกับสัมภาษณ์เปิดมุมคิดการปรับแก้ไขเนื้อหา กับ “พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร" ประธานกรรมาธิการ ฯ

และขอไล่เรียงตามลำดับมาตรา ดังนี้

“ใบอนุญาตนักข่าว” ตีทะเบียนสื่อ ดื้อไม่ทำมีสิทธิติดคุก

 

มาตรา 3 ว่าด้วยคำนิยาม ปรับแก้ไข 2 ส่วน คือ คำว่า “สื่อมวลชน” สรุปสาระสำคัญ คือ “สื่อกลาง หรือ ช่องทางที่ใช้เพื่อการนำข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชน ทั้งรูปแบบหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือรูปแบบของการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่สื่อความหมายให้ประชาชนทราบ” โดยชั้นการปรับแก้ไข ได้เติมคำว่า “สื่อดิจิทัล” เข้าไปเพื่อให้ครอบคลุมถึงการนำเสนอข่าวสารผ่านทางช่องทางออนไลน์ทุกประเภท

 

และคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” โดยสรุปในสาระสำคัญ “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเพื่อนำข่าวสารและเนื้อหาไปสู่มวลชน เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ” ในชั้นปรับแก้ไข ได้เติมคำว่า “หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม”

 

โดย “พล.อ.อ.คณิต” อธิบายว่าคำที่ถูกเติมเข้าไปในส่วนคำนิยามทั้ง 2 คำว่า เพราะโลกเปลี่ยน การกำกับดูแลสื่อฯ ให้ครอบคลุมถึง “สื่อออนไลน์” โดยสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบการฯ ที่เข้าข่ายกำกับนั้น มีเงื่อนไขคือ ทำเป็นธุรกิจ มีรายได้ ยกตัวอย่าง กรณี ของอาลีบาบา ที่ถูกกำกับเช่นกัน เพราะใช้ช่องทางออนไลน์ทำธุรกิจ ต้องถูกกำกับเพื่อให้มีความโปร่งใส อย่างไรก็ดี คำว่า “ทางตรงและทางอ้อม” ในคำนิยามนั้น ต้องให้กรรมการกฤษฏีกาพิจารณาหาคำอื่นที่เหมาะสมและชัดเจนมาใช้แทน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของผู้มีหน้าที่ ที่อาจถูกมองว่าสองมาตรฐานได้

 

ต่อที่ มาตรา 6 ว่าด้วยองค์กรสื่อมวลชนที่ต้องจดแจ้ง ซึ่งปรับใหม่ เป็นให้ “องค์กรสื่อมวลชนทุกแขนงต้องจดแจ้งกับสภาวิชีพฯ” จากเดิมที่เขียนไว้ในเชิงสมัครใจ ว่า หากองค์กรสื่อฯ ที่ต้องการได้รับความคุ้มครอง ให้ไปยื่นจดแจ้ง

 

มาตรา 8 ว่าด้วยหน้าที่ของ เจ้าของกิจการ, ผู้รับใบอนุญาต หรือ ผู้จดทะเบียนการอนุญาต ที่กำหนดให้ดูแลผู้ปฏิบัติงานในองค์กรให้อยู่ภายใต้จริยธรรม, มีกลไกตรวจสอบ ,รับเรื่องร้องเรียน, มีบทลงโทษ แต่ในการปรับปรุงเขียนเพิ่มให้ เจ้าของต้อง “ขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน”

 

ซึ่งตามตัวอักษรของร่างกฎหมาย แปลความได้ว่า เขียนให้ “เจ้าของสื่อฯ –นายทุนสื่อฯ” มีอำนาจขั้นสูงต่อประเด็นอนาคตของ “พนักงาน-ลูกจ้างของตนเอง” คือ ริบใบอนุญาตได้!!

 

ประเด็นนี้ หากแปลความตามนี้จริง ถือเป็นมุมที่น่ากลัว หากเกิดปรากฎการณ์ เจ้าของสื่อฯ ที่เอาใจ นายทุนชั้นนักการเมือง ไล่นักข่าวออกจากบริษัทเพราะเหตุทำข่าวที่ได้รับผลกระทบในเชิงคะแนนนิยมการเมืองได้ แต่ชั้นนี้ หากวิชาชีพสื่อฯ ถูกผูกคอเข้าด้วยใบอนุญาติ อาจทำให้ หมดอนาคตในวิชาชีพได้แบบ 100%

 

ขณะที่มาตรา 30 (1) ว่าด้วยอำนาจของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มีหน้าที่รับขึ้นทะเบียน, ออก และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นประเด็นใหญ่ และยื่นข้อเรียกร้องให้ตัดออก แต่ชั้นนี้ ยังเป็นไปตามหลักการเดิม

 

ต่อด้วยมาตรา 31 ว่าด้วยรายได้และทรัยพ์สินของสภาวิชาชีพฯ ได้ตัด เงินที่รัฐบาลจ่ายเป็นทุนประเดิม และ งบประมาณที่รัฐจัดสรร ให้ 3ปีแรก ปีละ 50 ล้านบาท คงเหลือเพียง รายได้จากค่าธรรมเนียม, รายได้จากการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ, เงินบริจาค และ ค่าปรับทางปกครอง เมื่อเป็นเช่นนั้น ส่งผลให้ต้องตัด มาตรา 32 งบประมาณที่รัฐจัดสรร ให้ 3ปีแรก ปีละ 50 ล้านบาท ออกทั้งมาตรา

 

สำหรับไฮไลต์ ว่าด้วยกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ฉบับปรับแก้ กำหนดให้มี 15 คน มาจากสัดส่วน ของผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ ที่เลือกกันเอง 7 คน , มาจากภาครัฐ 2 คน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกฯ และ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, มาจากองค์กรอิสระ 2 คน คือ ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมาจากภาควิชาการหรือกฎหมาย ที่ต้องคัดเลือกกันเอง จำนวน 4 คน

บทกำหนดโทษในฉบับปรับปรุงนั้น เพิ่มเนื้อหาที่เป็นบทบังคับ ซึ่งสัมพันธ์กับการจดทะเบียนและใบอนุญาต โดยมีสาระสำคัญคือ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต จากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และเพิ่มมาตรการคัดกรอง “นักข่าว” เข้าบริษัท คือ “องค์กรสื่อมวลชนใด รับบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าปฏิบัติงาน ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

มาต่อที่บทสุดท้าย ว่าด้วย คณะทำงานเพื่อเตรียมจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามเนื้อหากำหนดให้ มีคณะทำงาน จำนวน 11 คน ประกอบด้วย 1.ปลัดสำนักนายก เป็นประธานคณะทำงาน ขณะที่คณะทำงาน ได้แก่ 2.ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, 3.เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), 4.ประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, 5.ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์, 6.นายกสมาคมสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์, 7.นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, 8.ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, 9.ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, 10.ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ 11. นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย ขณะที่ผู้แทนปลัดสำนักนายกฯ กำหนดให้เป็นเลขานุการเพียงตำแหน่งเดียว และไม่มีสิทธิลงมติ

 

ทั้งนี้ได้เขียน ห้ามคณะกรรมการเตรียมจัดตั้งสภาวิชาชีพฯ ดำรงตำแหน่งใดๆ ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เว้นแต่พ้นกำหนด 2 ปีนับแต่ที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดย “ประธาน กมธ.ฯ สื่อฯ “ ขยายความว่า เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน แต่หากคนที่มีตำแหน่งในองค์กรสื่อฯ ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นคณะทำงานจัดตั้งฯ และหวังว่าจะเข้ามาเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพฯ ภายหลังนั้น ก็ควรจะลาออกจากตำแหน่ง ก่อนกฎหมายบังคับใช้”

 

ส่วนหน้าที่ของ “คณะทำงานเพื่อจัดตั้งฯ” นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1.กำหนดแบ่งกลุ่มสื่อมวลชนที่มีความจำเป็นต้องกำกับดูแล 2.กำหนดขั้นตอน และวีการจดแจ้ง และ 3.ทำข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามหน้าที่ ทั้งนี้ยังกำหนดเงื่อนไข ไว้ในวรรคท้ายด้วยว่า กรณีอำนาจแบ่งกลุ่มสื่อมวลชน ในประเภทใด สายงานใด ระดับใด ให้คำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน และประหยัดเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ในเนื้อหาที่ “ทีมคมชัดลึกออนไลน์” นำเสนอนั้น ยังเป็นเพียงฉบับต้นร่าง ซึ่ง “พล.อ.อ.คณิต” ยังไม่ฟันธงว่าจะ สรุปเนื้อหาฉบับไฟนอลเพื่อคืนกลับให้ วิปฯ สปท. เมื่อใด เพราะขณะนี้ยังรอรับฟังความคิด ความเห็นจากองค์กรสื่อมวลชนต่างชาติ ที่ กมธ.ฯ ได้ทำหนังสือขอความเห็นไปแล้ว ดังนั้นประเด็นใดยังไม่เหมาะสม ยังเปิดฟังความเห็นและหากมองดูว่าไม่เหมาะสมก็จะแก้ไข

 

โปรดติดตามตอนต่อไป...!!

------