คอลัมนิสต์

 เปิดกฎหมายใหม่ "คุมยาสูบ"

เปิดกฎหมายใหม่ "คุมยาสูบ"

03 มี.ค. 2560

สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎหมายฉบับนี้ขยายวงถึงอะไรบ้าง และกำหนดห้ามสิ่งใดเพิ่มเติมหรือไม่ มาดูกัน

วันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติ  202  ต่อ 0 เสียง ผ่าน ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ....  ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ออกมาควบคุมการจำหน่ายบุหรี่ ยาสูบประเภทอื่นๆ รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากผลกระทบจากบุหรี่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2530 ซึ่งใช้มากว่า 20 ปี ทั้งนี้ จะผนวกให้เป็นฉบับเดียวและปรับปรุงบทบัญญัติให้มีความทันสมัย โดยทีมข่าว “คมชัดลึกออนไลน์” ได้เปิดสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ดูว่า เกี่ยวกับอะไรและมีข้อห้ามอะไรบ้าง 

เปิดกฎหมายใหม่ \"คุมยาสูบ\"

 

เมื่อดูรายละเอียดของเนื้อหากฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 79 มาตรา มีเนื้อหาสำคัญที่ทำไม่ได้และไม่ได้หลายเรื่อง โดยในส่วนแรกได้มีการกำหนดคำนิยามของคำว่า”ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ซึ่งเดิมให้หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบหรือพืชนิโคเทียนา ทาแบกกุ้ม ( Nicotiana tabacum ) 

แต่กฎหมายได้ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นให้ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งบริโภคโดยวิธีสูบ ดูด อม เคี้ยว กิน เป่าหรือพ่นเข้าไปในปากหรือจมูก ทา หรือโดยวิธีอื่นเพื่อให้ได้ผลเช่นเดียวกัน แต่ไม่รวมถึงยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ซึ่งการกำหนดนิยามใหม่นี้เพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกมา เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากุ และอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนิยามอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สูบบุหรี่ เขตปลอดบุหรี่ หีบห่อ โฆษณา ขาย แต่ที่น่าสนใจคือ มีการเพิ่มคำนิยามคำว่า "การสื่อสารการตลาด” ที่ให้หมายความว่า การกระทำในรูปแบบต่างๆ โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างข่าว การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดง ณ จุดขาย การตลาดแบบตรง การขาย หรือส่งเสริมการขายโดยใช้บุคคลเป็นการเฉพาะ และการตลาดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้าหรือบริการ หรือสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสกัดกั้นการส่งเสริมการขายยาสูบ ที่ปัจจุบันการโฆษณาบุหรี่มีการโฆษณาทางอ้อมทั้งผ่านอินเตอร์เน็ตหรือพริตตี้

สำหรับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎหมายฉบับนี้ ได้มีห้ามการขายหลายรูปแบบ ได้แก่ ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ จากเดิมกำหนดขั้นต่ำของผู้ซื้อบุหรี่จากเดิมอายุ 18 ปี แต่หากว่าผู้ขายสงสัยในอายุของคนซื้อก็สามารถเรียกดูบัตรประชาชนของผู้ซื้อได้ และห้ามคนอายุต่ำกว่า 18ปีขายบุหรี่

นอกจากนี้ยัง ห้ามขายบุหรี่ไม่ว่าจะในรูปแบบใด เช่นใช้เครื่องขาย ขายผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเร่ขาย  นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขายยาสูบ 

การลดแลกแจกแถม หรือการส่งเสริมการขายอื่นๆ อาทิ ให้สิทธิเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค ชิงรางวัล สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งการแสดงราคาบุหรี่ ที่จุดขายในลักษณะที่จูงใจ 

ห้ามผลิตภัณฑ์ยาสูบบุหรี่ซิกาแรตต่ำกว่าซองละยี่สิบมวน ห้ามแบ่งขายเป็นมวนๆ 

รวมทั้งหนดห้ามผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ต้องห้าม ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมพิธีกรรมทางศาสนา สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก และสถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

กฎหมายฉบับนี้ยังมีการห้ามไม่ให้มีการโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทั้งการแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าในทุกสื่อไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ป้ายโฆษณา เป็นต้น 

 

ห้ามผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องให้การอุปภัมภ์ สนับสนุนแก่บุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ทั้งกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ กิจกรรมซีเอสอาร์ 

พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีการกำหนดให้บริษัทบุหรี่มีการรายงานประจำปี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทในประเทศไทยดำเนินการอยู่แล้ว แต่บริษัทที่นำเข้าจากต่างประเทศยังไม่ดำเนินการ หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมทั้งได้เพิ่มบทลงโทษรุนแรงขึ้น เช่น หากผู้ขายฝ่าฝืนกฎหมายโดยขายบุหรี่ให้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ให้จำคุกไม่เกิน 3เดือน หรือปรับมาไม่ เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นการกระทำของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้รับทำการโฆษณา ฯต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาด ทั้งนี้ค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากยังฝ่าฝืนอีกต้องถูกปรับเพิ่มรายวันๆละไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่การแบ่งขายยาสูบบุหรี่เป็นมวนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ในส่วนของการควบคุมให้เป็นไปตามเนื้อหาสาระนี้ก็ได้มีการกำหนดตั้งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ จำนวน 19 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ โดยกรรมการชุดนี้มีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเปรียบเทียบตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นต้อน และยังกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด เพื่อดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในพื้นที่นั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มีการประสานการทำงานร่วมกันในทุกจังหวัด

 

กฎหมายฉบับนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า ข้อบัญญัติต่างๆจะป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ของนักสูบหน้าใหม่ให้ลดน้อยลงเพราะการห้ามจำหน่ายบุหรี่แยกมวนขาย จะลดการสูบของเด็กและเยาวชนน้อยลง เนื่องจากการซื้อเป็นซองค่อนข้างมีราคาแพง อีกทั้งกฎหมายนี้จะป้องกันผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสองให้ลดน้อยลงด้วย

 

โดย นพ.เจตน์  ศิรธรานนท์  ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาสูบ ได้กล่าวต่อที่ประชุมสนช. ว่า กฎหมายฉบับเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหานักสูบหน้าใหม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีความกล้าหาญ ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาองค์กรระหว่างประเทศ กฎหมายที่ออกมามีส่วนที่ดีคือสามารถแก้ไขเรื่องของเด็ก และเยาวชนที่จะเข้าสู่ด้วยการห้ามแบ่งซองขาย อายุเด็ก การซื้อขาย และคณะกรรมการจังหวัดควบคุมการส่งเสริมการตลาด  ซึ่งคิดว่ากฎหมายที่ออกไปในลักษณะนี้น่าจะป้องกันเยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงปีหนึ่งถึง 2 แสนคนน่าจะลดจำนวนลงได้

---------

ประภาศรี โอสถานนท์