
“วิมล” คนทรงเจ้า จัดหนักธรรมกาย
การจัดหนักของ “วิมล ไทรนิ่มนวล” แต่ละโพสต์นั้น ไม่มีใครหาญกล้ามาต่อกรมากนัก เมื่ออธิบายกลับชัดเจน ก็เป็นอันจบไป
จัดหนักขึ้นเป็นลำดับสำหรับการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ วิมล ไทรนิ่มนวล กรณี “ธรรมกาย” ด้วยการแสดงความคิดความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ทำให้แต่ละโพสต์ของนักเขียนซีไรต์ท่านนี้ ได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะโพสต์ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ได้แสดงความเห็นต่อเรื่อง การเข้าจับกุม พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายในข้อหาฟอกเงิน ในชื่อเรื่อง “เข้าใจแระ”
“...คนธรรมกาย โดยเฉพาะเจ้าสำนักและแกนนำก็ไม่แตกต่างจากคนดังกล่าวนี้ พอทำผิดคิดมิชอบ และถูกปฏิเสธ ถูกต่อต้าน ถูกคัดค้าน ก็ออกโจมตีคนที่ปฏิเสธ ต่อต้าน คัดค้านตนว่า “ทำลายพุทธศาสนา”
นี่ก็หลงว่าตนเป็น “ศาสนา” เสียเอง หรือไม่ก็บิดเบือนเพื่อจะทำลายคนที่ปฏิเสธตน ต่อต้านตน คัดค้านตน แต่ความจริงก็คือ..คนทั้งหมดนี้ต้องการจะครองอำนาจสืบไปเท่านั้น เพราะอำนาจย่อมนำมาซึ่งทรัพย์สินและผลประโยชน์มหาศาลอย่างไม่รู้จบ
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนการจัดหนักของวิมล ไทรนิ่มนวล แต่ละโพสต์นั้น กลับไม่มีใครหาญกล้ามาต่อกรมากนัก จะมีความคิดเห็นแย้งบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็เจอคอมเม้นท์ของ วิมล ไทรนิ่มนวล อธิบายกลับชัดเจน ก็เป็นอันจบไป
เหตุผลสำคัญน่าจะเป็น “จุดยืน” และ “แนวคิด” ของเขาที่ส่งผ่าน “ผลงานวรรณกรรม” ก็เป็นได้ โดยเฉพาะ “งู (2527)” “คนทรงเจ้า (2531)” “ดวงเดือนในห้วงน้ำ (2534)” “จ้าวแผ่นดิน (2539)” และ “อมตะ (2543)” เป็นที่ยอมรับว่าเนื้อหาสะท้อนความจริงในสังคมพุทธได้อย่างหลากหลายมุมมอง ที่สำคัญคือ ถูกมองว่า “วิพากษ์ศาสนาและพระ” มาโดยตลอด
อย่าง “อมตะ” นวนิยายรางวัลซีไรต์ 2543 เป็นวรรณกรรมเสนอปรัชญาพุทธศาสนาได้อย่างน่าสนใจ โดยได้รับคำยกย่องว่า “เป็นนวนิยายแห่งจินตนาการถึงโลกอนาคตเกี่ยวกับการแสวงหาความเป็นอมตะของชีวิตโดยใช้รูปแบบวิวาทะระหว่างแนวคิดบริโภคนิยม กับแนวคิดทางศาสนาของโลกตะวันออก”
ต่อประเด็นผลงานนั้น วิมล ได้ตอบในคอมเม้นท์ของเขาด้วย เมื่อมีการตั้งข้อสงสัยและยกตัวอย่างผลงานมาถาม
“งู” นั้น วิจารณ์คนหากินกับพุทธศาสนาอย่างที่เห็นดกดื่นอยู่ทุกวันนี้”
ส่วน “คนทรงเจ้า” มีทั้ง เจ้าทรงคน และ คนทรงเจ้า เพราะ “เจ้า” ก็คือ “อำนาจ” และวิธีที่จะให้ได้อำนาจนั้นก็เห็นได้ทั้งในนิยายและโลกจริง ซึ่งไม่ต่างกัน” วิมล อธิบาย พร้อมโพสต์ปกหนังสือบางเล่มให้คนที่สนใจได้รู้จัก
จากผลงานที่มากมายด้วยมุมมองปรัชญาศาสนาเช่นนี้ หลายคนคิดว่าต้องเป็นนักปฏิบัติ (ธรรม) ผู้ลุ่มลึกเป็นแน่แท้ เพราะผลงานแต่ละเล่มนั้นล้วนแล้วมีประกายความคิดด้านพุทธศาสนาเต็มเปี่ยม แต่เขากลับให้คำตอบเมื่อครั้งหนึ่งว่า เขาไม่เคยปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แต่เวลาผมไม่สบาย ปวดหัวเพราะไมเกรนเขาจะนั่งสมาธิและดึงหลักธรรมสักครั้งหนึ่ง ก็ได้ผล หรือครั้งไหนที่ หายใจไม่ออก รู้สึกแน่นจมูกจึงนั่งสูดลมหายใจ ก็ช่วยได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดีสิ่งที่เขาทำคือ การศึกษาเรื่องพุทธศานาจริงจังช่วงหลังปี 2534 จากเดิมก่อนหน้านั้นอ่านบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะแนว “พุทธทาส” ส่วนแรงบันดาลใจการเขียนเรื่อง “อมตะ” มาจากการศึกษาสายพระอภิธรรม จึงทำให้เข้าใจในส่วนที่พุทธทาสอธิบายมากขึ้น
“ผลงานคืออนุสาวรีย์ของนักเขียน” ฉันใด ผลงานของวิมล ไทรนิ่มนวล เป็นฉันนั้น เขาจึงเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพุทธศาสนาที่ไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน ไม่เพียงศึกษาเท่านั้นแต่ยังได้นำมาเป็นวิวาทะถกในนวนิยายอีก ซึ่งการตอบโต้ถกเถียงของตัวละครต้องสมจริง โดยคนรู้จริงเท่านั้นถึงจะทำได้ และเมื่อเห็นอะไรไม่เข้าท่าเข้าทาง มีหรือจะนิ่งเฉย
ปัจจุบันนอกจากแสดงความคิดความเห็นผ่านเฟซบุ๊กแล้ว ยังมีคอลัมน์ “สู่นิเวศรัฐ” ในหนังสือพิมพ์แนวหน้าด้วย ส่วนอาชีพเกษตรกรปลูกเมล่อนญี่ปุ่น เริ่มมาตั้งแต่เมษายนปีก่อนในชื่อ “เคียงปิงฟาร์ม” ที่ทั้งปลอดภัยและไร้สารพิษ