คอลัมนิสต์

ไอ้ดำคว่ำไอ้แดงฟัน 20 ล้าน เส้นทางวัวชนสู่ธุรกิจทำเงิน

ไอ้ดำคว่ำไอ้แดงฟัน 20 ล้าน เส้นทางวัวชนสู่ธุรกิจทำเงิน

01 มี.ค. 2560

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

                ศึกประลองเขา “ไอ้แดง VS ไอ้ดำ” จัดเป็นข่าวใหญ่แห่งปีข่าวหนึ่งของดินแดนขวานทองของไทย ดังสะท้านวงการวัวชน เมื่อวงเงินเดิมพันสูงถึง 20 ล้านบาทเป็นเดิมพันกองโต ที่ใครๆ ก็ต้องหันหลังกลับมามอง “กีฬาวัวชน” ที่ได้รับการโจษขานไปทั่วสารทิศ หลังเสร็จศึกนัดประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

              26 กุมภาพันธ์ ในการการแข่งขันชนโคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ระหว่าง แดงหนึ่งในเขา หรือไอ้แดง จากคอกนายเชาว์ ค่าย K.T.รีสอร์ท ซึ่งเป็นวัวเจ้าถิ่น จ.สงขลา ชนะรวดมา 5 ครั้ง ปะทะกับ นิลแซมเพชรทองแท้ หรือไอ้ดำวังนา จากคอกนายปอ บ้านทุ่งขมิ้น อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ซึ่งชนะรวดมา 4 ครั้งเช่นกัน โดยมีเงินเดิมพันสูงถึง 20 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินสะพัดวงนอกของเซียนวัวไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ในการชนวัวครั้งนี้

ไอ้ดำคว่ำไอ้แดงฟัน 20 ล้าน เส้นทางวัวชนสู่ธุรกิจทำเงิน

            ผลการแข่งขันวัวชนคู่ประวัติศาสตร์แห่งปี 2560 ของวงการวัวชนภาคใต้ ไอ้ดำวังนา จากสตูล ขวิดเอาชนะไอ้แดง จากสงขลา ฟาดเดิมพันไป 20 ล้านบาท หยุดสถิติวัวเจ้าถิ่นแห่งสงขลาลงได้

            ทำไมวัวชนจึงกลายเป็นที่ฮือฮา ดังลั่นสนั่นภพ นั่นก็เพราะทุกวันนี้ “วัวชน” ไม่ใช่เป็นแค่ความบันเทิงพื้นบ้านของคนปักษ์ใต้ แต่กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่เพียงเจ้าของวัวเท่านั้น ทว่าแผ่ขยายไปสู่อาชีพเกี่ยวเนื่องอย่างมากมาย สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านหรือคนในชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี จากกีฬาเพื่อความบันเทิงก็เข้าสู่ธุรกิจการพนัน

             การเกิดขึ้นของพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 เปิดทางให้สนามชนวัวที่เคยอยู่ตามลานบ้านหรือหัวไร่ปลายนา ถูกจัดที่ทางให้มีความชัดเจน จนกลายเป็น “สนามกีฬาชนวัว” หรือบ่อนชนวัวในปัจจุบัน

ไอ้ดำคว่ำไอ้แดงฟัน 20 ล้าน เส้นทางวัวชนสู่ธุรกิจทำเงิน

            กระทั่งปี 2540 กีฬาชนวัวในภาคใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อสนามชนวัวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการแบบใหม่ในระบบธุรกิจ และการเลี้ยงวัวชน เริ่มนำวิทยาการสมัยใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านมากขึ้นเพื่อชัยชนะในสังเวียน ปัจจุบันมีสนามวัวชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา นคร6ศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี และสตูล ที่ถูกกฎหมายอยู่ถึง 28 แห่ง และบ่อนซ้อมหรือสนามชนวัวผิดกฎหมายอีก 32 แห่ง

            การชนโคในพื้นที่ภาคใต้นั้น ถือเป็นกีฬาพื้นบ้านที่คนในพื้นที่คุ้นเคย อีกทั้งระยะหลังมักจะมีการชนโคเพื่อการกุศล นำรายได้มอบให้องค์กรต่างๆ เช่น มอบให้เด็กด้อยโอกาส สนับสนุนการกีฬา รวมไปถึงการนำรายได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

           ทว่าในพื้นที่สังเวียนวัวมิใช่เป็นเรื่องของการพนันขันต่อเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแฝงนัยทางอำนาจที่ผูกโยงกับอัตลักษณ์ของคนใต้ และเลี่ยงไม่ได้ว่าอำนาจนี้ย่อมถูกการเมืองนำไปใช้เป็นฐานในการหาเสียงของนักการเมืองทุกระดับด้วย บ่อนวัวชนจึงเปรียบเสมือนพื้นที่อิสระจากรัฐ ที่หากใครพาตนเองเข้าไปอ้างอิงได้ย่อมหมายถึงสถานะแห่งการยอมรับ ยังไม่นับตัวเงินสะพัดในบ่อนหลายหมื่นล้านบาท ที่สร้างวงจรเศรษฐกิจต่อเนื่องอีกมากมาย

           ย่างเข้าสู่ปีไก่ 2560 กระแสการชนโค หรือวัวชน กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากมีการแข่งขันชนโคคู่ดุเดือดและคู่ประวัติศาสตร์แห่งปีในวงการวัวชนของภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่สนามกีฬาชนโคนานาชาติ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

            “วรรณา คงเมือง” หรือ “เจ้วรรณาหาดใหญ่” เจ้าของวัวชนที่มีวัวชนในสังกัด 4 ตัว บอกว่า การเลี้ยงวัวชนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ จะเลี้ยงได้ เนื่องจากวัวชนเป็นวัวพันธ์ุเฉพาะที่ถูกฝึกมาให้ชนและเลี้ยงดูอย่างดี เนื่องจากวัวชนมีมูลค่าสูง เริ่มต้นราคาหลักแสนไปจนถึงหลัง 10 ล้าน

            “ตี 5 ต้องนำวัวออกวิ่งออกกำลังกายประมาณ 1-2 ชั่วโมง เมื่อกลับมาก็ต้องให้พักเหนื่อย 1 ชั่วโมง พร้อมให้หญ้ากิน จากนั้นต้องอาบน้ำพร้อมกินอาหารเสริม ซึ่งต้องมีการป้อนให้กิน โดยจะมีตารางการป้อนอาหารในแต่ละวัน ซึ่งจะต้องทำในลักษณะการทำซ้ำๆ เหมือนกันทุกวัน ขณะที่หญ้าที่นำมาให้วัวกินต้องเป็นหญ้าสดๆ นอกจากนี้ต้องไม่ลืมนำวัวออกตากแดดหรืออาบแดด เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่วัว ส่วนกลางคืนนั้นวัวจะต้องนอนคอกที่มีมุ้งกางให้นอนอย่างดี เพื่อป้องกันยุงและสัตว์มีพิษ จึงมีการพูดกันว่า นักเลงวัวชนจะเลี้ยงวัวดียิ่งกว่าลูก” เจ้วรรณา เผย

               ขณะที่ “เดชอิศม์ ขาวทอง” เจ้าของสนามกีฬาชนโคนานาชาติ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ยอมรับว่าการชนโคเป็นกีฬาของลูกผู้ชายในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความผูกพันกับวัวชนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้กระแสการชนวัวเป็นที่นิยมโดยปัจจุบันมีสนามกีฬาชนวัวทั้งหมด 28 แห่ง มากที่สุดในพื้นที่ จ.สงขลา คือ 12 แห่ง โดยแต่ละพื้นที่มีการปรับพัฒนาสนามให้รองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

             อย่างไรก็ตามเจ้าของสนามกีฬาชนโครายนี้บอกอีกว่า การเลี้ยงโคหรือว่าวัวชน มีคุณค่ามากกว่ารายได้จากการเล่นพนัน เนื่องจากชาวบ้านรวมถึงเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการปลูกพืชหรือปลูกหญ้าให้แก่วัวชน ซึ่งบางคนมีรายได้ดีกว่าการทำการเกษตรทั่วไป โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1 หมื่นบาท และที่สำคัญยังมองว่า การเลี้ยงวัวชนเป็นการอนุรักษ์พันธุ์วัวท้องถิ่นหรือพันธุ์วัวพื้นเมืองเอาไว้

              “หากไม่มีสนามกีฬาชนโคก็จะไม่มีชาวบ้านที่เลี้ยงวัวชนที่เป็นวัวพันธ์ุพื้นเมืองที่อาจจะสูญพันธุ์ได้ จึงอยากให้สังคมมองว่า การชนวัวนั้นเป็นวิถีของคนในพื้นที่ภาคใต้” เจ้าของสนามกีฬาวัวชนรายเดิมกล่าวย้ำ

              นสพ.ไพโรจน์ อัมพวันวงศ์ หัวหน้ากองส่งเสริมการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านสัตว์กีบ กล่าวถึงจุดเด่นของวัวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งนำมาทำเป็นวัวชน โดยระบุว่ามีโครงสร้างของร่างกายที่แข็งแรง มีเนื้อล้วนๆ ไม่มีไขมันแทรกเหมือนโคขุน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัวพันธุ์พื้นเมือง ขณะเดียวกันก็มีความต้านทานต่อโรคด้วย แต่หากนำมาเลี้ยงขุนเหมือนกับวัวเนื้อทั่วไปให้มีไขมันแทรก รสชาติของเนื้อก็มีความอร่อยไม่แพ้กัน แต่ปัญหาอยู่ที่ราคาแพงกว่า ไม่คุ้มทุน

              “ข้อดีของวัวชนหรือวัวพันธุ์พื้นเมืองนั้น มีความแข็งแรงกว่า ทนทานต่อโรคดีกว่าโคเนื้อ โคนม แต่ถามว่าเอามาขุนขายเนื้อได้มั้ย ตอบว่าได้ แต่ไม่คุ้มทุน เพราะใช้ระยะเวลายาวนาน ราคาซื้อขายสูงกว่า ทำให้ต้นทุนสูง มันไม่คุ้ม” นายสัตวแพทย์คนเดิมกล่าวย้ำทิ้งท้าย     

ปลูกหญ้าหวายข้อเลี้ยงวัวชนสร้างรายได้

               จากแปลงนาร้างบนเนื้อหลายสิบไร่ถูกนำมาพลิกฟื้นคืนเพื่อการใช้ประโยชน์ ด้วยการปลูกหญ้าหวายข้อขายให้แก่เจ้าของวัวชน จนสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวบ้านใน ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลา โดยเฉพาะ “สุวิทย์ นวลปิด” ที่มุ่งมั่นปลูกหญ้าหวายข้อบนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เพื่อจำหน่ายให้แก่เจ้าของวัวชนโดยเฉพาะ

              สุวิทย์ บอกว่า ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงผักมาเป็นแปลงปลูกหญ้ามาประมาณ 5 ปี ที่ผ่านมาลองผิดลองถูกวิธีการปลูกจนประสบความสำเร็จ โดยมีการวางแผนการปลูกที่รอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะการวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ เนื่องจากหญ้าที่ปลูกนั้นต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหญ้าพันธุ์ “หวายข้อ” ซึ่งเป็นหญ้าที่เหมาะสำหรับการนำไปเลี้ยงวัวชน ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้การเลี้ยงวัวชนเป็นวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่นิยมเลี้ยงวัวชนให้เป็นกีฬาพื้นบ้าน ดังนั้นเมื่อการเลี้ยงมีการแพร่หลายความต้องการหญ้าสำหรับเลี้ยงวัวชนก็เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านบางเหรียง หันมาปลูกหญ้าวัวชนมากขึ้น จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกหญ้าสำหรับวัวชนแหล่งใหญ่ที่กลุ่มคนรักกีฬาชนวัวรู้จักกันดี

                "เป็นที่รู้กันดีในกลุ่มผู้เลี้ยงวัวชนว่า หญ้าที่นี่แหละดีและมีคุณภาพเพราะด้วยสภาพพื้นที่ดินดี น้ำดีทำให้หญ้าสมบูรณ์ ในยามหน้าแล้งการเลี้ยงหญ้าหวายข้อแม้จะต้องการน้ำมาก แต่ในพื้นที่ก็มีแหล่งน้ำเพียงพอ ซึ่งถือเป็นข้อดีของพื้นที่ ต.บางเหรียง เพราะยิ่งแล้งหญ้าก็จะขายได้ราคาดีเป็นเท่าตัว” เจ้าของแปลงหญ้าเผย

                สำหรับแปลงหญ้าหวายข้อของสุวิทย์นั้น มีการวางระบบน้ำให้เป็นแบบสปริงเกลอร์ ปลูกแนวระยะห่าง 8x8 เมตร เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่แปลงนา 10 ไร่ หญ้าที่ออกมาจึงสวยและมีราคาดี โดยเฉพาะปีไหนที่ประสบปัญหาภาวะน้ำแล้ง เกษตรกรต้องเตรียมหาแหล่งสำรองน้ำเพิ่ม เพราะราคาหญ้าหน้าแล้งจะพุ่งไปกระสอบละ 100-150 บาท รายได้จึงตกเฉลี่ยไร่ละ 7-8 พันบาทเลยทีเดียว

                 เช่นเดียวกับ อารมณ์ จันทโร เจ้าของแปลงหญ้าหวายข้ออีกรายใน ต.บางเหรียง ที่เปลี่ยนแปลงผักมาเป็นแปลงหญ้าจำหน่ายเฉลี่ยกระสอบละ 100 บาท โดยจะตระเวนขายไปตามสนามชนวัวในแต่ละพื้นที่ ขณะที่บางรายก็จะเหมาแปลง ราคาขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งคนปลูกหญ้าและคนเลี้ยงวัวชนส่วนใหญ่จะรู้จักและเป็นลูกค้าขาประจำที่อุดหนุนกันมานาน

 เคล็ดลับเลี้ยงวัวชน-หาคู่ซ้อม

                วัวชนเป็นวัวพันธุ์พื้นเมืองที่ผู้เลี้ยงคัดเลือกเอาลักษณะดีๆ ของแต่ละตัวนำมาเลี้ยงเพื่อขุนเป็นวัวชน ปัจจุบันพัฒนามาผสมพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ดีๆ มาผสมแล้วได้ลูกมาเป็นวัวชน เมื่อวัวอายุ 5-6 ปี จัดว่าอยู่ในวัยที่เหมาะสมเต็มที่เหมาะสมที่จะชน เพราะวัวชนที่มีอายุพอเหมาะหรือค่อนข้างมากจะมีร่างกายและความอดทนสูงกว่าอายุน้อยๆ  

                  การเลี้ยงวัวชนนั้น เริ่มแรกต้องนำมาบำรุงเลี้ยงดูเอาใจใส่ กำจัดเห็บ ไร โรคผิวหนัง ถ่ายพยาธิ บำรุงร่างกายให้สมบูรณ์ อาหารหลักของวัว คือ หญ้าสด จะนิยมใช้หญ้าในท้องถิ่น และจะให้น้ำวันละ 2-3 ครั้ง หรืออาจเสริมก้อนเกลือแร่ให้วัวกิน อาหารเสริมที่จะให้วัวกินมีหลายอย่าง เช่น ถั่วเขียวต้มกับน้ำตาลอ้อย กล้วยน้ำว้า น้ำมะพร้าวอ่อน ไข่ไก่ น้ำตาลกลูโคส น้ำเกลือแร่ หรือความเชื่อโบราณใช้เป็ดเทศต้มเปื่อยให้วัวกิน 

                    สถานที่หลับนอนสำหรับวัวชนต้องเป็นคอกที่สะอาด พื้นเป็นทราย ต้องแห้ง วัวต้องนอนหลับสบาย มีมุ้งกันยุง หรืออาจก่อกองไฟเพื่อไล่ยุง หรือเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่วัวชน การออกกำลังกาย ผู้ดูแลจะต้องนำวัวออกกำลังกายตอนเช้ามืดทุกวัน เว้นแต่วันที่ก่อนจะซ้อมประมาณ 2 วัน หรือ ก่อนจะชนประมาณ 2 วัน การออกกำลังกายต้องเดินหรือวิ่งอย่างน้อย 10 กิโลเมตร เมื่อกลับมาผู้ดูแลวัวชนจะนำวัวชนไปพักผ่อนในที่ร่มจนตัวเย็น แล้วนำไปอาบน้ำ อาจใช้แชมพูในการอาบเพื่อจะได้สะอาดดียิ่งขึ้น แล้วจึงนำวัวไปตากแดด กินหญ้า กินน้ำ แล้วนำไปตากแดด แต่ต้องระวังอย่าให้วัวชนโดนฝนเวลาตากแดด เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาในเรื่องสุขภาพของวัว

                    ก่อนชนจะมีการประกบคู่ที่จะชน โดยนำวัวมาที่สนาม เพื่อให้วัวชนชินกับสนาม (ภาษาใต้เรียกว่า ลงที่) โดยเลือกตัวที่มีเขาและร่างกายใกล้เคียงกัน โดยใช้พลาสเตอร์ที่มีความแข็งแรงพันเขาวัวให้แน่นหนาเพื่อกันไม่ให้เป็นแผล แล้วปล่อยให้ชนกัน แต่มีคนคอยถือเชือกช่วยเหลือตัวที่สู้ไม่ได้ ครั้งแรกที่ซ้อมคู่อาจใช้เวลาไม่นานนัก แต่เมื่อซ้อมคู่หลายๆ ครั้งจะทำให้วัวยืนระยะได้นานขึ้น จนวัวซ้อมคู่ยืนระยะได้ 25 นาที โดยประมาณ (ในการซ้อมครั้งเดียว) ก็สามารถออกหาคู่เพื่อประกบคู่ชนตามสนามต่างๆ ได้

 ที่ตั้งสนามวัวชน 28 แห่ง

จำนวนสนามหรือบ่อนวัวชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ศ.2555

1.จ.สงขลา 12 แห่ง 

2.จ.นครศรีธรรมราช 7 แห่ง 

3.จ.พัทลุง 3 แห่ง 

4.จ.ตรัง 3 แห่ง

5.จ.กระบี่ 1 แห่ง 

6.จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง

7.จ.สตูล 1 แห่ง 

รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง

           จากการศึกษาของ ผศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ระบุในเอกสารเศรษฐศาสตร์การเมืองวัวชนภาคใต้ว่า ลักษณะะการเล่นการพนันการแข่งขันวัวชน มีการพนันแบบเดิมพัน 2 ล้านบาทต่อวันต่อบ่อน จำนวน 28 สนาม 24 วัน คิดเป็นเงิน 1,344 ล้านบาท เงินพนัน 1 ปี เป็นเงิน 71,769.6 ล้านบาท

“วัวชนวัว” วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือทรมานสัตว์

              “สุภาภรณ์ ลาสต์” ผอ.องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) สำนักงานประเทศไทย กล่าวถึง “การแข่งขันชนวัว” เป็นเสมือนวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชุมชนในภาคใต้ของไทย แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของสวัสดิภาพสัตว์ การฝึกวัวให้เป็นวัวชนเพื่อนำมาแข่งขันพนันในสนามนั้น เหมือนกับการฝึกสัตว์ให้ไปต่อสู้กับตัวอื่น ถือเป็นการฝืนวิถีธรรมชาติของวัว เพราะระหว่างฝึกนั้น วัวจะโดนทุบตีหรือได้รับความเจ็บปวดทรมานบางอย่างด้วย กว่าจะกลายเป็นวัวที่นำไปใช้แข่งขันหรือใช้พนันวัวชนได้

            “ส่วนตัวแล้วมองว่าแม้วัวกลุ่มนี้จะได้รับการเลี้ยงดูให้อาหารอย่างดี ส่งเสริมอาชีพในชุมชน การเกษตรอาหารสัตว์ต่างๆ หรือเป็นการรักษาพันธุ์วัวพื้นเมือง แต่ในอีกด้านหนึ่งมีเรื่องการพนันมาเกี่ยวข้อง มีการแข่งขัน ทำให้เกิดการหมกมุ่น แข่งกันจนเกิดความรุนแรง ทำให้วัวบาดเจ็บ คิดว่าในอนาคตอาจต้องมีการทบทวนกฎหมายป้องกันการทารุณสัตว์ที่มีข้อยกเว้นในเรื่องการจัดให้สัตว์ต่อสู้ตามประเพณีท้องถิ่น กรณีของวัวชนนั้น แม้เป็นการต่อสู้ตามประเพณีท้องถิ่น แต่ในช่วงฝึกหรือแข่งเพื่อเล่นพนัน ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์  เช่น สัตว์ได้รับการเลี้ยงดูในสภาวะที่เหมาะสมหรือมีสุขอนามัยดีหรือเปล่า” ผอ.องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ตั้งข้อสังเกต

             ประเทศไทยประกาศใช้ “พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์” ตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2557 เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ หากใครทารุณสัตว์อาจโดนโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้มีข้อยกเว้นใน มาตรา 21 (9) ที่ระบุว่า “การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์" ทำให้เครือข่ายกลุ่มพิทักษ์สัตว์มองว่า เป็นจุดอ่อนสำคัญในการเปิดช่องให้ใช้สัตว์มาต่อสู้แข่งขันเพื่อเล่นพนัน

            “สาธิต ปรัชญาอริยะกุล” นิติกรสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย วิเคราะห์ให้ฟังว่า กฎหมายฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อ “ป้องกัน” ไม่ให้สัตว์ถูกทรมาน ไม่ได้มุ่งเน้น "คุ้มครอง” สัตว์เหมือนกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าสงวน เพราะฉะนั้นการแข่งขันชนวัว จากจุดประสงค์ในการออกกฎหมายฉบับนี้ ต้องพิจารณาว่า วัวชน ไก่ชน ปลากัด ฯลฯ เป็นการทำให้สัตว์ทรมานหรือบาดเจ็บเกินไปหรือไม่ ถ้าเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือจะมองว่าเป็นวิถีชุมชนช่วยสืบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น

            “ส่วนตัวผมมองว่าเป็นการทรมานสัตว์นะ ทำให้วัวได้รับบาดเจ็บ มีเลือดออก บังคับให้พวกมันต่อสู้กันเอง และมีเงินพนันมาเกี่ยวข้อง ตอนนี้ฝ่ายคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมฯ กำลังตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณากฎหมายลูก น่าจะมีการตีความในเรื่องการจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่นด้วยว่า แค่ไหนถึงเหมาะสม ไม่เป็นการทรมานสัตว์ คงต้องรอดูกันต่อไป แต่ถ้าใครสงสารวัวก็ไปแจ้งความตำรวจได้ เพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครมาแจ้งเรื่องวัวโดนทรมานมาก่อน ส่วนใหญ่มาฟ้องเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั่วไป” นิติกรสมาคมป้องกันฯ กล่าว

            เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง(TCIJ) รายงานข้อมูลวิจัยของ รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี 2556 เรื่องเศรษฐกิจการเมืองการพนัน (กีฬา) หัวข้อ “วัวชนภาคใต้” โดยระบุว่า การขออนุญาตเปิดบ่อนชนวัวเป็นไปตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

          ทั้งนี้ บ่อนชนวัวถูกกฎหมายในภาคใต้มีจำนวน 28 แห่ง อันดับ 1 สงขลา 12 แห่ง อันดับ 2 นครศรีธรรมราช 7 แห่ง อันดับ 3 พัทลุงและตรัง จังหวัดละ 3 แห่ง ส่วนกระบี่ สุราษฎร์ สตูล มีจังหวัดละ 1 แห่ง จำนวนนักพนันมีประมาณ 2 แสนราย ลักษณะการเล่นพนันเฉลี่ยวันละ 2 ล้านบาทต่อ 1 บ่อน จากการสำรวจพบ 1 ปี มีเงินหมุนเวียนในบ่อนพนันชนวัวประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท โดยผู้วิจัยข้างต้นสรุปว่า

           สนามกีฬาชนวัวเป็นเสมือนพื้นที่ทางสังคมที่แสดงถึงบารมีและความมีพลังอำนาจของบุคคล