คอลัมนิสต์

ลุงวิศวะยิงเด็ก ม.4 "ป้องกันตัว" !??

ลุงวิศวะยิงเด็ก ม.4 "ป้องกันตัว" !??

10 ก.พ. 2560

คดีลุงวิศวกร"ยิงวัยรุ่นเสียชีวิต ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ยังไม่มีที่ยุติ ดังนั้นลองมาดูสมมติฐานว่า หากข้อเท็จจริง เป็นไปในทางใด ผลทาง กม.จะเป็นอย่างไร

 

            กรณี “หนุ่มใหญ่”นายสุเทพ โภชน์สมบูรณ์ อายุ 50 ปี  ยิง นายนวพล ผึ่งผาย  วัยรุ่นอายุ 17 ปี เสียชีวิต เหตุเกิดมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เหตุเกิดที่ ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี  

           ซึ่งภายหลัง นายสุเทพ เผยว่าสาเหตุที่ยิงก็เพื่อป้องกันตัว ขณะที่ฝ่ายวัยรุ่นและมารดาของผู้ตาย ยืนยันว่าเป็นฝ่ายถูกยิงก่อนขณะที่เข้าไปเจรจากับนายสุเทพ ไม่ได้รุมทำร้ายนายสุเทพ ก่อน ซึ่งในเรื่องของข้อเท็จจริง ของทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้ ยังไม่ตรงกันในหลายประเด็น   

          อย่างไรก็ตามสำหรับในแง่“มุมกฎหมาย” มีประเด็นพิจารณาได้ดังนี้ 

         1.จุดที่มีการพิพาทตั้งแต่ตอนแรกเกี่ยวกับที่จอดรถ ที่สะพานปลาอ่างศิลา 

            ประเด็นปืน 

             หากทางกลุ่มเด็กวัยรุ่น เห็นและรู้ว่า นายสุเทพ มีปืน แต่ก็ยังติดตามไปหาเรื่องจนถึงจุดเกิดเหตุที่มีการยิงขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อนายสุเทพ ที่จะอ้างในการป้องกันตัวได้  

              แต่ในอีกมุมหนึ่งการที่นายสุเทพ มีปืน ติดตัวก็จะเป็นผลร้ายต่อนายสุเทพ ได้เช่นกัน หากปรากฏว่าในขณะที่มีการพิพาทกันในเรื่องที่จอดรถ  ซึ่งรถตู้ของกลุ่มวัยรุ่นไปจอดขวางหน้ารถนายสุเทพนั้น หาก ปรากฏว่านายสุเทพ มีการชักปืนข่มขู่หรือตระเตรียมปืนไว้พร้อมยิงตั้งแต่แรก ก็จะอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวไม่ได้ เมื่อขับรถมาถึงจุดเกิดเหตุยิงขึ้น เพราะถือว่ามีความต่อเนื่องกัน

           2 .จุดเกิดเหตุที่มีการยิง 

              ป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ 

             - หากปรากฏว่า กลุ่มวัยรุ่น ลงจากรถตู้ ไปรุมทำร้ายชกต่อย นายสุเทพ ก่อนจริง และขณะเกิดเหตุชุลมุน นายสุเทพ จึงควักปืนยิง โดยไม่มีเจตนาที่จะยิงใครเฉพาะเจาะจงหรือไม่ได้หวังผลให้เกิดการตายขึ้น นายสุเทพ สามารถอ้างว่าป้องกันตัวได้และสมควรแก่เหตุ  อย่างกรณีที่ปรากฏเสียงในคลิป หลังมีการยิงขึ้นแล้ว โดยมีเสียงภรรยานายสุเทพ ถามขึ้นว่า พี่ยิงมันหรือ  และนายสุเทพ ตอบว่า ยิง และภรรยา ถามต่อว่า ยิงอะไร นายสุเทพ ตอบว่า ก็ไม่รู้เหมือนกัน   คลิปชิ้นนี้ นายสุเทพ สามารถอ้างในการต่อสู้คดีได้ว่า เป็นการยิงสกัด ป้องกันตัว ไม่ใช่การยิงเพื่อเอาชีวิต

            -  หากมีพฤติการณ์ว่าที่กลุ่มวัยรุ่นรุมล้อมรถนายสุเทพนั้น จะมีเหตุอันตรายหรือมีการทำร้าย แม่หรือภรรยาของนายสุเทพ นายสุเทพก็สามารถอ้างป้องกันตัวได้ แต่จะป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีภัยหรืออันตรายแก่แม่ หรือภรรยานายสุเทพ ร้ายแรงแค่ไหน

            ป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ

           - แต่ถ้าข้อเท็จจริง ปรากฏว่าเหตุการณ์่ที่วัยรุ่นเดินไปที่รถ และจะทำร้าย นายสุเทพ นั้น ไม่ได้มีเหตุคับขันจนถึงกับนายสุเทพ ต้องควักปืนยิงใส่ในทันที กล่าวคือ นายสุเทพ มีเวลาในการตัดสินใจ เช่น ใช้ปืนยิงขู่ หรือ ยิง แขนหรือขา ได้ กรณีนี้นายสุเทพ แม้อาจอ้างป้องกันตัวได้แต่จะเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งจะถูกลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด  

             ไม่สามารถอ้างป้องกันตัวได้  

            -ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ลงจากรถตู้ และเดินตรงไปที่รถนายสุเทพ เพื่อต้องการเคลียร์กรณีที่นายสุเทพและกลุ่มวัยรุ่นขับรถปาดกันไปมา แม้จะมีพฤติการณ์ที่มีการไปดึงประตูรถบ้าง แต่ก็เพียงเพื่อต้องการสอบถามอย่างที่ฝ่ายกลุ่มวัยรุ่นกล่าวอ้าง หรือ ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ว่าจะทำร้ายนายสุเทพ ก่อน แต่นายสุเทพ กลับควักปืนยิง หากเป็นเช่นนี้ นายสุเทพ ไม่สามารถอ้างป้องกันตัวได้ 

             -หากปราฏข้อเท็จจริงว่า ร่องรอยการถูกทำร้ายที่ใบหน้านายสุเทพ เกิดขึ้นจากที่กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนายสุเทพ ภายหลังจากที่นายสุเทพใช้ปืนยิงไปแล้ว นายสุเทพ ก็อ้างป้องกันตัวไม่ได้

            -รวมทั้งกรณีที่นายสุเทพ อ้างว่าทำเพื่อป้องกันครอบครัวนั้น หากมีพฤติการณ์ในคดีให้เห็นว่า ในความเป็นจริงนายสุเทพ สามารถหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ เช่น สามารถขับรถหลบหนีกลุ่มวัยรุ่นได้หลังมีปากเสียงเรื่องที่จอดรถแต่ไม่ได้กระทำเพราะเห็นว่าตนเองมีปืน จึงขับรถปาดกันไปมากับกลุ่มวัยรุ่นตลอดทาง จนเกิดเหตุยิงขึ้น นายสุเทพ ก็อาจอ้างเหตุป้องกันตัวไม่ได้

     ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (ม.288   ปอ.)

   ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 บัญญัติว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุกตั้งแต่ 15 ปี-20 ปี  

    สำหรับทางรอดของนายสุเทพ ลุงวิศวกร  ก็คือ การนำมาตรา 68 ของประมวลกฎหมายอาญา มาต่อสู้คดีว่า ป้องกันตัว 

   **ป้องกันตัวตามสมควรแก่เหตุ(ม 68 ปอ.)

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้น"ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย"และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

   จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว หลัก“ ป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ” ที่จะนำมาอ้างในทางกฎหมายเพื่อให้พ้นผิด มีดังนี้ 

   1.มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ

     -ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายจะทำได้ หากผู้ก่อภัยนั้นมีอำนาจทำได้โดยชอบ ก็ไม่มีสิทธิจะอ้างป้องกันตัว เช่น พ่อมีสิทธิว่ากล่าว ลงโทษลูก ไม่ถือเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย

     -แม้จะมี“ภยันตราย” แล้วก็ตาม แต่ผู้ที่อ้างป้องกันได้ จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวขึ้นด้วย เช่น ไม่เข้าร่วมวิวาททะเลาะกัน ,ไม่เป็นผู้ที่ไปยั่วให้คนอื่นโกรธก่อน,ไม่เป็นผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำต่อตนโดยสมัครใจ 

    2. “ภยันตราย”นั้นใกล้จะถึง  นั่นคือ แม้ว่าจะมีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ก็อย่าเพิ่งนอนใจว่าจะมีสิทธิป้องกันตัวได้ กล่าวคือ จะมีสิทธิป้องกันตัวได้ต่อเมื่อภยันตรายนั้น เป็น

     "ภยันตราย"ที่ใกล้จะถึง คือ ภัยที่เกิดขึ้นกระชั้นชิดถึงขนาดที่ไม่มีหนทางอื่นที่จะขจัดปัดเป่าภัยนั้นได้ นอกจากการป้องกันตัวเอง

     3. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายนั้น

     4. กระทำป้องกันตัว ตามสมควรแก่เหตุ  แม้กฎหมายจะให้สิทธิแก่ผู้ประสบอันตรายป้องกันตนเองได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้เสียจนหาขอบเขตไม่ได้ ต้องกระทำป้องกันตัวอยู่ในขอบเขตตามความจำเป็นเท่านั้น หรือพอสมควรแก่เหตุให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

    **ป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ (ม.69 ปอ.)

 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69 บัญญัติว่า ในกรณีที่บัญญัติิไว้ในมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  แต่ถ้าการกระทำเกินสมควรแก่เหตุนั้น เกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ 

     จากบทบัญญัติดังกล่าว  “การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ” มีหลักการ ดังนี้

     1. จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่จะอ้างเป็นการป้องกันตัวได้ตาม มาตรา 68 เสียก่อน 

     2.การป้องกันเกินเหตุ มี 2 ประเภท คือ 

        -การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ   คือ การป้องกันเกินขอบเขตหรือกรอบของการกระทำเพื่อป้องกัน

        - การป้องกันเกินกว่ากรณีจำต้องป้องกัน คือ  การป้องกันได้กระทำไปทั้งๆที่การประทุษร้ายยังไม่ใกล้จะถึงหรือทั้งๆที่การประทุษร้ายนั้น ไม่เป็นการประทุษร้ายที่ใกล้จะถึงอีกต่อไปแล้ว ผ่านพ้นไปแล้ว

          การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุของผู้ที่จะได้รับอันตราย อันมีสาเหตุมาจากการตื่นเต้น ตกใจ หรือ กลัว  ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้ 

         สรุปว่า กรณี“ลุงวิศวกร” ยิงวัยรุ่นวัย 17 ปี นั้น หากไม่เข้าเกณฑ์ที่ “ลุงวิศวกร ” จะอ้างว่าป้องกันตัวได้ ก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งมีอัตราโทษหนัก แต่ถ้าเข้าหลักกณฑ์ที่จะอ้างว่า ป้องกันตัวได้ ก็ต้องมาดูว่าเป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุหรือไม่

        หากเป็นการป้องกันสมควรแก่เหตุ “ลุงวิศวกร”ก็ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ไม่ต้องถูกลงโทษ แต่ถ้าป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ก็ต้องรับโทษแต่ได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด  แต่ถ้าการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุนั้น เกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ตกใจ กลัว ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้