
โปรดฟังทางนี้!! เสียงจากผู้ใช้ BRT ถึง กทม.
เสียงจากผู้ใช้ BRT ถึง กทม. “อย่าเลิก” : โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล สำนักข่าวเนชั่น รายงาน
ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม. และมีมติว่า จะยกเลิกโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT - Bus Rapid Transit) สายสาทร-ราชพฤกษ์ หรือสายช่องนนทรี เพราะไม่มีคนนั่ง ทำให้กทม.ขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องปีละ 200 ล้านบาท ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจราจร ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มเป้าหมายและไม่ได้ให้บริการกับประโยชน์สาธารณะนั้น
“สำนักข่าวเนชั่น” ได้ลงพื้นที่ เพื่อเป็นสื่อกลางสะท้อนเสียงจากผู้ที่ใช้ BRT ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องการยกเลิก BRT เห็นด้วยหรือไม่ อยากให้อยู่ต่อหรืออยากให้ยกเลิก เพราะถ้านับจริงๆก็เหลือเวลาเพียง 2 เดือนเศษก่อนจะถึงวันที่ 30 เมษายน ตามที่มีมติว่าจะยกเลิก
คุณธราวรินทร์ อายุ 39 ปี พนักงานบริษัท บอกกับสำนักข่าวเนชั่นว่า ใช้งาน BRT มาแล้วกว่า 2 ปี เรื่องการยกเลิก BRT ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก บ้านตนอยู่พระราม 3 เดินทางมาทำงานที่สาทร ถ้าไม่มี BRT จะต้องนั่งรถไกลมาก ต้องอ้อมไปทางคลองเตยต้องต่อรถอีกหลายต่อ ซึ่งไกลมาก
“ปกติจะใช้เดินทางเช้า-เย็น เพื่อมาทำงาน BRT สะดวกมาก จึงไม่อยากให้มีการยกเลิก ส่วนที่บอกว่าขาดทุนนั้น ถ้าวิธีแก้ปัญหาคือการเพิ่มค่าโดยสาร ก็ยินดีให้เพิ่ม แต่ก็ให้เหตุผลมาว่า เพิ่มเพราะอะไร เพิ่มในส่วนไหน”
ยายเกตุสุวีณ์ อายุ 72 ปี เล่าว่า ใช้ BRT ตั้งแต่ปี 53 บ้านตนอยู่นราธิวาส 22 หากจะให้ยกเลิก ตนไม่เห็นด้วย เพราะเดินทางสะดวกมาก จากบ้านตนก็ใช้ BRT เพื่อมาต่อ BTS หรือมาต่อรถเมล์ แถวสาทร เพื่อเดินทางไปทำธุระหรือไปตามที่ต่างๆ ซึ่งหากยกเลิกเพราะขาดทุน ตนก็มองว่า ค่าเดินทางมันถูกไป
“จะขึ้นราคาก็ได้ เด็ก คนแก่ จากฟรี ก็คิดครึ่งราคาก็ได้ พร้อม ถ้าไม่มี คนเดือดร้อนมากแน่นอน เพราะไม่รู้จะเดินทางยังไง ที่บอกคนใช้น้อย ไม่จริง ลองมาดูช่วงเช้า ช่วงเย็น คนใช้วันละ 2-3 หมื่นคนเลย ก็อยากให้มีอยู่ ส่วนจะขึ้นราคาก็พร้อม”
คุณเกตุโสภณ ธำรงอภิชาตกุล อายุ 24 ปี เป็นเซลล์แมนหนุ่ม บอกว่า บ้านผมอยู่พระราม 3 ใช้ BRT มา 6-7 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียน จนทำงาน กับข่าวที่บอกจะยกเลิก BRT ไม่เห็นด้วย จะบอกว่าคนใช้เยอะจริงๆ ถ้ายกเลิกไปมีผลกระทบแน่นอน เพราะการใช้ BRT เราสามารถกะเวลาได้เลย ว่าจะเดินทางไปทำงาน ไปเรียนใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ หากไปใช้เส้นทางปกติเรื่องเวลา เราจะคาดการณ์ไม่ได้เลย ต้องเดินทางอีกหลายต่อ ต้องอ้อม BRT ทำให้สะดวกและลดปัญหาในตรงนี้ แม้จริงๆถ้าจะมาไม่ตรงเวลาบ้าง แต่ก็ไม่เยอะ เพราะจำนวนคนที่ใช้ช่วงเช้า ช่วงเย็นเยอะจริงๆ
“เหตุผลในการยกเลิกที่บอกว่าขาดทุนนั้น ถ้าวิธีแก้ปัญหาคือการให้ขึ้นราคา ยินดีเลย เพราะค่าโดยสารปกติ 5 บาทก็ถือว่าถูกมากอยู่ หากจะปรับขึ้นก็ไม่มีปัญหา เพราะหากเปรียบเทียบกับขนส่งมวลชนอื่นๆ ถือว่าถูกมาก BRT ถือว่าจำเป็นมากๆ หากยกเลิกไป ลำบากแน่นอน รถในถนนก็จะเพิ่มมากขึ้น การเดินทางก็จะลำบาก เพราะรถเมล์แถวนี้มีน้อยมาก ถ้ามีไว้ก็เป็นส่งเสริมให้คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น จึงไม่อยากให้ยกเลิก จะขึ้นราคาก็โอเค”
น้องจุฑามาศ อายุ 22 ปี นักศึกษาสาวยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยในการยกเลิก ตนใช้ BRT เป็นประจำ เพราะจากบ้านที่นราธิวาส มาต่อ BTS ถือว่าสะดวก ทั้งเวลาเช้าและเย็น หากวันไหนเลิกเรียนดึก หากใช้เส้นทางอื่นต้องเข้าบ้านทางปากซอย จะเปลี่ยวมากและอันตราย แต่หาก BRT จะทะลุหลังบ้านเลย ทำให้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น จึงไม่อยากให้ยกเลิก และจริงๆคนใช้ BRT ไม่น้อยเลย อยากให้มาดู ช่วงเช้าหรือเย็น คนเยอะมาก ต่อแถวคิว 20-30 นาทีกว่าจะได้ขึ้น ที่บอกคนน้อยอาจจะเป็นช่วงกลางวัน
“หากวิธีแก้ปัญหาคือการขึ้นราคา อยากให้ขึ้นเลย ไม่เป็นไร พร้อม เพราะค่าโดยสารเดิมถือว่าถูกมาก ถ้าไม่มี BRT เส้นทางอื่นก็ช้ากว่ามาก กำหนดเวลาก็ไม่ได้ นี่ยังพอกำหนดเวลาได้ ว่ามีเรียนกี่โมง ต้องออกจากบ้านกี่โมง เดินทางกี่ชั่วโมง สะดวกมาก ไม่อยากให้ยกเลิก จะขึ้นราคาก็ไม่เป็นไร”
คุณชัยวุฒิ โชติธนพัฒน์ อายุ 47 ปี เป็นพนักงานบริษัท กำลังเดินทางกลับบ้าน เล่าว่า ผมใช้รถ BRT ทุกวัน ที่บอกว่าจะยกเลิก BRT ไม่เห็นด้วย ไม่ควรยกเลิก เพราะถ้าไม่มีลำบากแน่นอน
“ผมเพิ่งย้ายมาอยู่แถวนราธิวาส จริงๆอยากบอกว่าย้ายมาเพราะมี BRT เลย เพราะเดินทางมาทำงานที่สาทรสะดวก เพราะเป็นเลนพิเศษจึงรวดเร็ว ถ้ายกเลิกรถก็น่าจะมากขึ้น เพราะคนก็ต้องเอารถออกมาใช้ ผมก็มีรถ ก็จอดไว้ที่บ้าน เพราะ BRT สะดวก รวดเร็ว จึงไม่ใช้รถ ถ้ายกเลิกจริงๆ ก็ต้องขับรถมาทำงานเอง”
“หากวิธีแก้ปัญหา คือการขึ้นค่าโดยสาร ผมเห็นด้วย จะคิดยังไงก็บอกว่า จะคิดเป็นระยะทาง แต่ละสถานีเหมือนรถไฟฟ้าก็ได้ แต่บอกว่าขาดทุน เพราะค่าโดยสารคงถูกไป เด็ก คนแก่ ก็ฟรี ครึ่งราคา ผมไม่อยากให้ยกเลิก ถ้าขึ้นราคาแล้วช่วยได้ อยากให้ลองขึ้นราคาดูก่อน และถ้าลองแล้วยังขาดทุนอีก ก็ค่อยมาว่ากัน แต่อยากให้ลองดูก่อน ไม่ใช่ยกเลิกเลย เพราะbrt ช่วยได้เยอะ”
ถามว่าเส้นนี้ถ้าไม่มีรถส่วนตัว จะเดินยังไง รถก็ติด รถเมล์ ก็มีไม่มีสาย หรือแทบไม่มี หากยกเลิกมีผลกระทบเยอะ เดือนร้อนแน่นอน ไหนค่าใช้จ่าย ที่ต้องเพิ่มขึ้นอีก หากจะต้องหาวิธีเดินทางใหม่ หรือต้องมาเติมน้ำมันรถ เพื่อขับมาทำงาน และที่บอกคนใช้บริการน้อย ไม่จริง เช้า-เย็น รอต่อคิว 15 นาที 30 นาที คนใช้เยอะมาก ถ้าไม่มี BRT ก็ไม่รู้จะพึ่งอะไร จึงยังไม่อยากให้ยกเลิก อยากให้ลองขึ้นราคาก่อน
คุณแม่นภัสนันท์ อายุ 50 ปี ซึ่งมายืนรอ รับลูกสาวกับลูกชาย เลิกโรงเรียน ให้ความเห็นว่า จริงๆไม่เห็นด้วย จริงๆตนก็ขับรถใช้รถ แต่ก็ใช้ BRT อยู่ตลอด และเห็นว่าคนใช้บริการเยอะมาก ไม่น้อยเลย อย่างวันไหนตน ไม่ได้ไปรับลูกที่โรงเรียน ลูกก็ใช้ BRT ในการเดินทางกลับบ้าน เพราะสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เด็กๆสามารถเดินทางเองได้ บ้านตนอยู่พระราม 3 ถ้าให้เดินทางเองจริงๆ ก็ลำบาก เพราะไม่ค่อยมีรถเมล์ผ่าน
“ที่บอกว่าขาดทุน และจะแก้ปัญหาโดยเพิ่มค่าโดยสาร ก็เห็นด้วยว่าเพิ่มได้ เพราะตอนนี้ก็ถูกมาก อยากให้ลองเพิ่มดู คิดเป็นระยะทาง สถานีไหนเท่าไหร่ ก็คิดมา ลองออกแบบมา ไม่อยากให้ยกเลิก ถ้าจะเลิกจริงๆ ก็ใจหาย เพราะเห็นมานานแล้ว แต่อยากให้ลองแก้ปัญหาดูก่อน”
ทั้งหมดเป็นเสียงสะท้อนจากคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งใน 2-3 หมื่นคนของผู้ใช้ BRT ผู้ที่จะได้รับผลกระทบหากมีการยกเลิก BRT จริงๆ
ไม่รู้ว่าเสียงนี้ จะดังพอหรือไม่ แต่ก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วย!!