
ถอดโจทย์ “สมคิด” เส้นทางปั้นผู้ว่าฯมืออาชีพ
(ขยายปมร้อน) หมดยุคพ่อเมืองซีอีโอ : ถอดโจทย์ “สมคิด” เส้นทางปั้นผู้ว่าฯมืออาชีพ : วัฒนา ค้ำชู สำนักข่าวเนชั่น รายงาน
เส้นทาง “อดีต-ปัจจุบัน” ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่มีสัญญลักษณ์ประจำเป็นตรา “ราชสีห์” หรือรูปสิงห์จึงถูกเรียกขานภาษาบ้านๆทั่วไปคือ “ชาวสิงห์” ที่แบ่งเป็น 2 ค่าย 2 กลุ่ม “สายบู๊-สายบุ๋น” ถนนเส้นทางของบางคนเติบใหญ่จากกรมการปกครองที่คลุกคลีงานตามภูมิภาคสายภูธรเป็นหลัก ขณะที่บางคนได้ไต่เต้าแบบคุณหนูจากสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมาก็ทำงานในลักษณะเป็นหู เป็นตาให้กับสถาบันความมั่นคง มีเมืองบริวารสังกัดปกครองดูแล 76 จังหวัด 878 อำเภอ บุคคลากรทรัพยากรบุคคลส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ทางสายการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และรัฐประศาสนศาตร์ หรือสายอื่นคณะอื่นก็มีแต่เป็นจำนวนน้อยนิด บรรดาสิงห์ที่โดดเด่นอยู่ในแถวหน้าก็มี “สิงห์ดำ-สิงห์แดง-สิงห์ขาว-สิงห์ทอง” แม้ในความจริงมีชาวสิงห์หลากสีอยู่กว่า 20 สถาบัน
ในความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวถ้ามองในเชิงผลประโยชน์ของแผ่นดินประเทศถือว่า ดีมาก แต่ทำได้ยากหรือง่ายเพียงใด ในยุคที่ต้องการปฏิรูป จังหวะของเวลาถือว่า เหมาะสมที่สุด เหตุจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาการปฏิรูปที่เห็นเป็นรูปร่างได้มีการดำเนินการช่วงปี 2545 ที่มีการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัยจนมี 20 กระทรวงนับแต่นั้นมา ในส่วนกระทรวงมหาดไทยเดินเครื่องเต็มสูบในช่วงเริ่มต้นประมาณปี 2548 เคยผลักดันให้เป็นผู้ว่าราชการที่มีลักษณะเรียกกันว่า “พ่อเมืองซีอีโอ” เมื่อเวลาหมุนเปลี่ยน รูปแบบจึงค่อยเลื่อนลางจางไป
กระแสต้าน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบควบคุมดูแลด้านเศรษฐกิจ เร่งผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานเป็นเครื่องมือสร้างพัฒนาดันความเจริญ แบ่งเป็นทีมมี 18 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มมี 4 จังหวัด ให้มีหัวหน้าทีมในแต่ละโซน โดยรวมกันดูแลเม็ดเงินแสนล้าน ในการแต่งตั้งพ่อเมืองรูปแบบใหม่อาจต้องใช้วิธีพิเศษ มุ่งดันจีดีพีทะลุแซงกลุ่มเพื่อนบ้านอาเซียนแผ่นดินใหญ่
ปัญหาอุปสรรคที่เห็นเป็นโครงสร้างเชิงระบบที่ถูกออกแบบมาตลอดของการบริหารราชการแผ่นดินหลายยุคหลายสมัยของการเมือง ระบบพรรคพวก การอุปถัมภ์ค้ำชูฝั่งรากลึกที่เชื่อมโยงกันมาตลอดเวลา ต้องยอมรับความจริงไม่สามารถทำให้หมดไปง่ายแบบพลิกฝ่ามือเดียวในช่วงใดระยะเวลาสั้นๆ
ข้อเสนอของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทำงานในพื้นที่ ประการแรกย่อมเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด คันที่ใดให้เกาตรงนั้น ให้ถอดรูปแบบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อความมั่นคง ป้องกันลดความคิดเห็นที่แตกต่างเหลื่อมล้ำทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ที่ในหลวง ร. 9 ทรงพระราชทานแนวทางไว้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลัก
พ่อเมืองบางรายให้ศึกษาดูเรื่องของการตั้งศูนย์อำนวยการเศรษฐกิจพิเศษ ผลักดันการทำงานให้สำเร็จตามนโยบายรัฐบาลที่วางเอาไว้ตามกรอบระยะเวลา ในภาพรวมพ่อเมืองเศรษฐกิจที่ต้องการผลักดันก็มีความเป็นไปได้สูงเพียงแต่ติดกับดักอดีตบางส่วน ดังนั้นการปรับแก้เรื่องของโครงสร้างที่เป็นปัญหาค้างท่อสะสมมาฝ่ายบริหารจึงต้องลงมือไปคิด สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การสลายสี สถาบันของชาวสิงห์ที่มีอยู่ให้หมดในยุคการเมืองที่เคยเป็น หรือลดลงให้ไปเหลือน้อยที่สุด
หัวหน้ากลุ่มจังหวัดวิธีพิเศษ 4 จังหวัด ถ้าสแกนดูพื้นที่ 18 กลุ่ม บางพื้นที่มีพ่อเมืองที่เลื่อนชั้นนั่งพื้นที่อยู่ในข่ายเป็นหัวหน้ากลุ่มอาวุโสน้อย ประสบการณ์นิด ไม่ว่าพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ ยังมีให้เห็นอยู่ พ่อเมืองบางรายนั่งในจังหวัดขนาดเล็กไม่ถึงปี ได้รับการปูนบำเหน็จไปอยู่พื้นที่ใหญ่ ปัญหาย่อมไม่พ้นเรื่องของความเหมาะสมสายการบังคับบัญชาที่แม้เป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยเข้าลักษณะเส้นผมบังภูเขา แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อนโยบายผลสำเร็จที่มุ่งหวังต่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง
รัฐบาลตั้งโจทย์กล้าปรับวิธีแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดรูปแบบใหม่ ใช้วิธีพิเศษคัดสรรมืออาชีพนั่งบริหารให้เกิดเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ เสนอวิธีการจัดสรรงบใหม่ลงกลุ่มจังหวัดแสนล้าน คนนั่งผู้ว่าฯเป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดอายุ 50 ปีต้นนั่งทำงานต่อเนื่อง 4-5 ปี เทิร์นโปรคุณสมบัติสู่นักบริหารมืออาชีพ ต้องโชว์วิสัยทัศน์ จากเคยสรรหาตามกระบวนการขั้นตอนระเบียบของ ก.พ.
ดังนั้น “สมคิด” ต้องลงมือถอดสมการ อนาคตจึงเป็นคำตอบขึ้นมาได้