
คำสอนท่านพุทธทาส
ใจความทั้งหมดของพุทธศาสนา โดยท่านพุทธทาส : เข้าใจได้ใน 5 นาที : รายงานพิเศษ
ท่ามกลางกระแสธารข่าวสารวิวาทะระหว่าง “วัด-พระ” กับฆราวาส หรืออาณาจักรอันเชี่ยวกราก พุทธศาสนิกชนหลายคนอาจไขว้เขวไปว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับพระพุทธศาสนาของคนไทย ศาสนจักรกำลังก้าวเดินสู่ภาวะเสื่อมถอยหรือไม่ บางคนอาจรู้สึกวังเวงใจ เรื่องราวต่อไปนี้ คือคำสอนของท่าน “พุทธทาส” อันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง
โอกาสของการบรรยายพิเศษเช่นนี้ อาตมาจะกล่าวถึงเรื่องซึ่งเป็นใจความสำคัญเป็นหัวข้อสรุปของหลักธรรมจะเหมาะกว่าอย่างอื่น ฉะนั้นจึงตั้งใจที่จะกล่าวถึง “ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา” โดยหวังว่าถ้าจับใจความหรือแนวที่เป็นใจความสำคัญทั้งหมดของพุทธศาสนาได้แล้ว จะเป็นการง่ายและสะดวกอย่างยิ่ง ในการที่จะศึกษาก้าวออกไปอย่างกว้างขวาง ถ้าจับใจความหรือแนวไม่ได้จะสับสน และจะรู้สึกว่ามันมากมายเหลือที่จะจำ จะเข้าใจ หรือจะปฏิบัติ
ขอให้จับใจความสำคัญของพระพุทธศาสนาให้ได้ เพื่อจะได้ความรู้ชนิดที่เป็น “หลักมูลฐาน” สำหรับเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง อาตมาขอเน้นตรงที่ว่าเป็นหลักมูลฐาน เพราะความรู้ชนิดที่ไม่ใช่หลักมูลฐานก็มี และเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องก็มี คือมันเขวออกไปทีละน้อย จนเป็นพุทธศาสนาใหม่ ถึงกับเป็นพุทธศาสนาเนื้องอกที่งอกออกไปเรื่อยๆ ที่ว่าหลักมูลฐานนั้นพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่ามัน “กำมือเดียว” พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมากเท่าใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอน และมาปฏิบัตินั้น เท่ากับใบไม้กำมือเดียว
หลักพุทธศาสนามูลฐาน นั้นเป็นหลักที่มุ่งเฉพาะไปยังความดับทุกข์ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย ไม่ยอมพยากรณ์อย่างปัญหาที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ อย่างไร อย่างนี้มันไม่ใช่เป็นปัญหาที่มุ่งไปเรื่องความดับทุกข์ เราจะต้องรู้จักมูลเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือ ความหลง ความเข้าใจผิดว่ามีตัวเรา ของเรา หรือมี “ตัวกู ของกู” พวกเรามีโรคตัวกู ของกู กันอยู่ทุกคน แล้วก็รับเชื้อนี้เพิ่มเติมเข้ามาทุกคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง และคิดไปในใจตามประสาคนที่ไม่รู้
เราจะต้องรู้จักเชื้อคือ “ความยึดมั่นถือมั่น” ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่าอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นมี 2 อย่างคือ “ยึดมั่นว่าเรา” คือรู้สึกว่า เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นลูกผู้ชายแพ้ใครไม่ได้อะไรทำนองนี้ นี่เรียกว่าเรา และ “ยึดมั่นว่าของเรา” คือว่า นั่นของเรา นั่นของที่เรารักที่เราชอบ แม้ที่เราเกลียดก็ถือว่าเป็นศัตรูของเรา นี่เรียกว่าเป็นของเรา
ความรู้สึกตัวเรา ของเรา หรือตัวกู ของกู ที่มีอยู่ในใจเป็นเชื้อโรคอยู่แล้ว ก็เบิกบานออกมาเป็นความเห็นแก่ตัว แล้วก็ทำไปตามอำนาจความเห็นแก่ตัว มันจึงเป็นความโลภ โกรธ หลง ทำให้เดือดร้อนทั้งตัวเองและผู้อื่น ที่โลกเรากำลังลำบากยุ่งยากอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็ไม่มีอะไรนอกจากความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน โรคเห็นแก่ตัวนี้มันตั้งขึ้นได้เพราะว่าทุกคนไม่รู้จักสิ่งซึ่งเป็นเครื่องต้านทานโรคก็คือ “หัวใจของพุทธศาสนา”
สิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น อาตมาอยากจะแนะถึงประโยคสั้นๆ ที่ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” คราวหนึ่งมีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้า โดยทูลว่าพระพุทธวจนะทั้งหมด ถ้าจะสรุปให้สั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านว่า ได้ พระองค์ตรัสว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” แล้วพระองค์ก็ย้ำลงไปอีกทีหนึ่งว่า ถ้าใครได้ฟังความข้อนี้ก็คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพุทธศาสนา
สิ่งใดมีความยึดถือว่าตัวกู ว่าของกูแล้ว สิ่งนั้นคือตัวทุกข์ ในสิ่งใดไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ของกู แล้วสิ่งนั้นไม่มีทุกข์ เราจะต้องรู้ว่าตัวกู ของกู นี้เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวง เมื่อมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็มีลักษณะในทางมืด เป็นอวิชชา ไม่ใช่เป็นแสงสว่าง เพราะมันไม่ว่าง มันกลัดกลุ้มเดือดพล่านอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกู ของกู ทีนี้สิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือ จิตใจที่ไม่รู้สึกว่าตัวกู ของกู คือเป็นจิตว่างไม่เดือดพล่านอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกู ของกู อย่างที่ว่านั้น จิตอย่างนี้มันเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา
เราจะต้องจับข้อเท็จจริงข้อนี้ให้ได้ว่ามันมีของอยู่ 2 อย่าง คือ ความรู้สึกว่าตัวกู ของกู อย่างหนึ่ง และสติปัญญาอีกอย่างหนึ่ง สองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างตรงกันข้าม ถ้าสิ่งหนึ่งเข้ามาอีกสิ่งหนึ่งต้องกระเด็นออกไป ถ้าสิ่งหนึ่งมีอยู่แล้วอีกสิ่งหนึ่งอยู่ไม่ได้ ถ้าความรู้สึกที่ว่าตัวกู ของกู เต็มปรี่อยู่แล้วละก็ สิ่งที่เรียกว่าสติปัญญานี้เข้ามาไม่ได้ ถ้าสติปัญญามีอยู่แล้วตัวกู ของกู ก็หายไป ว่างจากตัวกู ของกู นั่นแหละคือสติปัญญา
ว่างจากตัวกูนี้ก็เรียกว่า “ว่าง” แล้วไม่ว่างจากตัวกูเราเรียกว่า “วุ่น” ว่างนั้นคือการที่มีใจคอปรกติ ใจคอไม่ระส่ำระสาย วุ่นวาย ถ้าว่างยิ่งขึ้นไปอีกก็ถึงที่สุด คือว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา อย่างนี้เป็น “นิพพาน” วุ่นนั้นก็ตรงกันข้าม วุ่นได้ทุกอย่างทุกทาง ทั้งทางกาย ทางใจ และทางวิญญาณ มันวุ่นคือว่าถูกรบกวนไปหมด ไม่มีความสงบสุขเลย
ทีนี้ เราควรจะพูดถึงส่วนที่เป็นการรักษาเยียวยาให้ชัดเจนลงไป มีหลายวิธีในการขจัดโรคตัวกู ของกูนี้ วิธีที่ 1 คือทำการพิจารณาอยู่เสมอให้เห็นว่าตัวกู ของกู นี้เป็นเพียงมายา คือ สิ่งที่ไม่มีตัวจริง เป็นภาพลวงตา ตามวิถีทางที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ พระพุทธเจ้าท่านว่าเมื่อทางตา ทางหู ทางใดทางหนึ่งสัมผัสเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส เมื่อมีการกระทบกันแล้วเรียกว่า “สัมผัส” บาลีว่าผัสสะ ผัสสะนี้ปรุงให้เป็นเวทนาเกิดความรู้สึก “พอใจหรือไม่พอใจ” เวทนานี้ปรุงเป็นตัณหาเกิดความรู้สึก “อยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้” ตัณหานี้ปรุงเป็นอุปาทาน คือ ตัวทุกข์ (สรุปได้ว่า: กูสัมผัส > กูพอใจ ไม่พอใจ > กูอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ > กูเป็นทุกข์)
ให้ดูที่ว่าอาการของปฏิจจสมุปบาท คือ อาการของการที่สิ่งต่างๆ มันอาศัยสิ่งหนึ่งแล้วปรุงสิ่งหนึ่งขึ้น แล้วอาศัยสิ่งนั้นปรุงอีกสิ่งหนึ่งขึ้น คือ อาศัยกันเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีตัวจริงที่ไหน วิธีที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ก็คือว่า อย่าให้มันอาศัยกันเกิดขึ้นได้ ให้ตัดตอนมันเสีย คือว่าเมื่อผัสสะกระทบทางตาเป็นต้นแล้วให้มันขาดตอนลงไป (กูสัมผัส > หยุด) อย่าให้ปรุงเป็นเวทนา อย่าให้เกิดความรู้สึก “พอใจหรือไม่พอใจ” ขึ้นมา นี้เรียกว่าไม่ปรุงเวทนา เมื่อไม่ปรุงเวทนาแล้วก็ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ซึ่งไม่มีทางที่จะเกิดตัวกู ของกู ก็ไม่เป็นทุกข์
อีกทีหนึ่งก็คือว่า คนธรรมดาสามัญที่จะไม่ให้ผัสสะปรุงเป็นเวทนานั้นยากนัก เพราะพอกระทบเข้าแล้วก็ต้องไปเกิดความรู้สึก “พอใจหรือไม่พอใจ” เสมอไป ไม่หยุดอยู่ได้เพียงแค่ผัสสะเพราะไม่เคยได้ศึกษาอบรมในทางธรรม แต่ก็ยังมีทางเอาตัวรอดอีกตอนหนึ่ง คือตอนที่ปรุงเป็นเวทนาเกิดความรู้สึก “พอใจหรือไม่พอใจ” แล้วนี้ ก็ให้หยุดอยู่เพียงนั้น แล้วดับไป (กูสัมผัส > กูพอใจ ไม่พอใจ > หยุด) อย่าให้เลยไปเป็นตัณหาเกิดความรู้สึก “อยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้” ตามความพอใจหรือไม่พอใจ เพราะถ้าพอใจก็อยากได้ รักใคร่ หลงใหล หึงหวง ริษยา อะไรกันเป็นแถวเลย ถ้าไม่พอใจแล้วอยากตีให้ตาย อยากทำลาย อยากจะฆ่ามันเสียเลย
ทีนี้ตัวที่เกิดความอยากพล่านอยู่ในใจนั้นก็คือ ตัวกู ที่รู้สึกอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ ตัวกูมันอยากจะได้เอามาเป็นของกู เป็นทรัพย์สมบัติของกู เกียรติยศของกู เป็นชัยชนะของกู เป็นความปลอดภัยของกู ในนั้นมันมีความรู้สึกว่าของกูอยู่ด้วย ถ้าอยากอย่างนี้แล้วได้ชื่อว่า เวทนานั้นได้ปรุงเป็นตัณหา อุปาทานเสียแล้ว ถ้าอย่างนี้แล้วต้องเป็นทุกข์ ไม่มีใครช่วยได้
คนธรรมดาถ้าเกิดผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา แล้วเกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นี้เป็นทางที่เดินง่ายที่สุด เดินกันจนเตียนโล่งไปหมด แต่เราไม่เอาอย่างนั้น พอมีผัสสะกระทบแล้ว เราก็วกกลับเดินไปในทางของสติปัญญา ไม่เดินไปทางตัวกู ของกู แม้ว่าจิตเดินไปจนถึงเวทนาแล้วก็ตาม ยังวกกลับไปทางของสติปัญญาก็ได้ไม่ลอยไปตามกระแสแห่งตัวกู ของกู อย่างนี้ทุกวันทุกคืนจะไม่มีทุกข์เลย แล้วถ้าทำได้เก่งคือว่าทำไปตามวิธีที่ถูกต้องถึงที่สุดแล้ว เป็นพระอรหันต์ได้ในตัวเอง
เราต้องพยายามศึกษาอบรมอยู่เป็นประจำว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา” เราอาศัยการดับตัวกูเสียได้ ด้วยมองเห็นตัวกู ของกูนี้ว่าเป็นมายาโดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักของปฏิจจสมุปบาทเป็นวิธีที่ 1 ส่วนวิธีที่ 2 คือเห็นอารมณ์ทั้ง 6 โดยหลัก “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” คือมองที่อารมณ์ มองลงไปที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มันจะมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าแม้แต่อารมณ์นี้มันก็เป็นมายา โดยอาศัยความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (อนิจจัง แปลว่าเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทุกขัง แปลว่ามีลักษณะเป็นทุกข์ น่าสังเวชใจ อนัตตา แปลว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรถือว่าเป็นตัวตน คนส่วนมากมองเห็นตรงกันข้ามหมด)
เราอย่าทำเล่นกับเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ใช่เรื่องสำหรับคนแก่ หรือว่าเป็นเรื่องเอาไว้สวดศพคนตายแล้ว มันเป็นเรื่องที่ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับคนเป็นๆ ถ้าใครสามารถเอาความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามากำกับอยู่กับชีวิตประจำวันแล้ว มันจะต่อต้านกับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มากระทบไม่ให้เกิดเรื่องวุ่นวายคือ ไปหลงรัก หรือไปหลงเกลียด ซึ่งเป็นเหตุให้หัวเราะและร้องไห้ เราจะมีชีวิตเป็นอยู่อย่างมีความเกษม หมายความว่า อิสระและสงบเย็น
เราอย่าตกไปเป็นทาสของอารมณ์ จนไปหัวเราะหรือร้องไห้ตามที่อารมณ์มายั่ว เราเป็นอิสระแก่ตัวอย่างนี้ดีกว่า นี้คือการที่เราใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเครื่องมือกำกับชีวิตเป็นประจำวัน สามารถเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นมายา ตัวกู ของกู ก็เป็นมายา เป็น illusion เพราะว่ามันก็เกิดมาจากอารมณ์ที่เป็นมายา เห็นแบบนี้เราก็ไม่เป็นทุกข์
สรุปว่ามีหลายวิธีในการขจัดโรคตัวกู ของกู นี้ยกตัวอย่างเช่น เราจะเห็นตัวกู ของกู นี้เป็นมายาโดยหลักของปฏิจจสมุปบาทก็ได้ หรือว่าอีกวิธีหนึ่งเราจะเห็นอารมณ์ทั้งหกคือ รูป เสียง กลิ่น รสนี้มันเป็นมายา โดยหลักของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้
พูดเพียงครั้งเดียว หรือฟังเพียงครั้งแรกนี้ พอเข้าใจเลาๆ ต้องไปสังเกตจนจับให้ได้ว่า เราเองนี้แท้ที่จริงก็มีว่างอยู่มาก เวลาที่เราว่างไม่วุ่นหรือมีสติปัญญามีอยู่มาก วุ่นหรือความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู นั้นมาเป็นพักๆ คราวๆ ที่เรียกว่า ความเกิดนั้นมันมาเป็นคราวๆ เกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที แต่ว่าขณะที่ไม่เกิดนั้นไม่เป็นทุกข์เลยและมีอยู่มาก แล้วคนก็โง่เองมองข้ามไปเสียเอง คือมองข้ามนิพพานที่มีอยู่เองไปเสีย แม้เป็นนิพพานน้อยๆ นิพพานชิมลอง แต่ว่าก็เป็นนิพพานอย่างเดียวกับนิพพานจริง เพียงแต่ว่ามันไม่ถาวร เพราะว่าเราไม่สามารถป้องกันและทำลายโรค โรคจึงมาแทรกเสียเป็นพักๆ นิพพานก็เลยขาดเป็นห้วงๆ
ถ้าใครมีบุญ คือฉลาดถึงกับรู้ว่า โดยที่แท้พื้นฐานนั้นมันว่างหรือเป็นนิพพานอยู่เองแล้ว เรื่องมันก็ระวังอยู่แต่เพียงว่า อย่าให้ของใหม่เข้ามาแทรกแซง เจ้าบ้านว่างดีอยู่แล้ว แขกอาคันตุกะนั่นคือวุ่น เพราะฉะนั้นอย่าให้มันเข้ามา ไล่มันออกไป ไม่ให้เข้ามาในบ้านในเรือนของเรา มันก็ว่างอยู่ตลอดเวลาได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า ท่านไม่ใช่ผู้บังคับกฎธรรมชาติได้ ท่านเป็นเพียงผู้เปิดเผยกฎธรรมชาติให้ไปปฏิบัติกันเอาเอง ถ้าปฏิบัติผิดมันก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าปฏิบัติถูกมันก็ไม่เป็นทุกข์
ในที่สุดนี้ ก็ขอให้เราทุกคนที่รวมกันเป็นกลุ่มของพุทธบริษัทนี้ ถ้าเห็นว่าดีว่าจริงอย่างนี้แล้ว ก็ช่วยกันรักษากิจการนี้ไว้อย่าให้ล้มไป ให้เจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเอง แก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน ก็ได้ชื่อว่า เกิดมาทีหนึ่งได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำ และได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น มันมีเท่านั้น อาตมาขอยุติการบรรยายตามโอกาสนี้ เพียงเท่านี้
(บทความนี้เรียบเรียงจากคำบรรยายของท่านพุทธทาส เรื่องใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา จากหนังสือแก่นพุทธศาสน์ หนังสือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO)
“ทีนี้ตัวที่เกิดความอยากพล่านอยู่ในใจนั้นก็คือ ตัวกู ที่รู้สึกอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ ตัวกูมันอยากจะได้เอามาเป็นของกู เป็นทรัพย์สมบัติของกู เกียรติยศของกู เป็นชัยชนะของกู เป็นความปลอดภัยของกู ในนั้นมันมีความรู้สึกว่าของกูอยู่ด้วย ถ้าอยากอย่างนี้แล้วได้ชื่อว่า เวทนานั้นได้ปรุงเป็นตัณหา อุปาทานเสียแล้ว ถ้าอย่างนี้แล้วต้องเป็นทุกข์ ไม่มีใครช่วยได้”