คอลัมนิสต์

"ทุนอานันทมหิดล" พัฒนาคนเพื่อสร้างชาติ

"ทุนอานันทมหิดล" พัฒนาคนเพื่อสร้างชาติ

01 ธ.ค. 2559

โดย - ทีมข่าวไพรม์ไทม์

"ทุนอานันทมหิดล" คือโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่นักเรียนไทย ที่มีความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญคือ มีความประพฤติดี ได้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกยังมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ

ด้วยสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์นักพัฒนา พระองค์ทรงเข้าพระราชหฤทัยดีว่า การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญ วิชาการขั้นสูงในสาขาต่างๆ นี่จึงเป็นวิธีสร้างคนด้วยการศึกษา ส่งไปหาความรู้ในประเทศที่เป็นแหล่งวิทยาการแขนงต่างๆ

ขณะเดียวกันก็มีพระราชประสงค์ให้ทุนอานันทมหิดลเป็นเสมือนพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งแทบไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ในสถานที่ต่างๆ

นี่จึงเป็นที่มาของทุนอานันทมหิดล ที่ก่อตั้งในปี 2498 หรือเมื่อ 61 ปีที่แล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 2 หมื่นบาท เป็นทุนเริ่มต้น หลังจากนั้น 4 ปีต่อมาก็โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็น “มูลนิธิอานันทมหิดล” เมื่อ 3 เมษายน 2502

\"ทุนอานันทมหิดล\" พัฒนาคนเพื่อสร้างชาติ

การให้ทุนอานันทมหิดลนี้ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่ “นักเรียนทุนอานันท์” ที่จบมาส่วนใหญ่ต่างนำความรู้ที่ร่ำเรียนมากลับมาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

2 นักเรียนทุนอานันท์ถ่ายทอดเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน...

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าว่า “การให้ทุนนี้สะท้อนถึงแนวพระราชดำริและความมีพระราชหฤทัยกว้างของพระองค์ เมื่อผู้ได้รับพระราชทุนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกก็ไม่มีข้อผูกมัดว่าจะต้องกลับมารับราชการเพื่อใช้ทุนคืน เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า ผู้ที่ทำงานในต่างประเทศก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้เช่นกัน แต่ผู้ได้รับพระราชทุนส่วนใหญ่ก็กลับมาทำงานในประเทศ และกว่า 80% ของผู้สำเร็จการศึกษา ได้เลือกเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย”

"โดยพระองค์รับสั่งอยู่เสมอว่า จุดประสงค์ของทุนอานันท์คือการสร้างนักวิชาการที่รู้ลึกรู้จริงให้ประเทศ และไม่ว่าจะทำงานที่ใด ก็สามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ แม้จะไม่มีข้อผูกมัด แต่นักเรียนทุนอานันท์ตระหนักเสมอว่า ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะทุนนี้ไม่มีเวลาสิ้นสุด จะเห็นว่านักเรียนทุนอานันท์หลายคน แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ยังคงทำงานเพื่อประเทศต่อไป และสิ่งที่มีอยู่ในตัวของนักเรียนทุนอานันท์ทุกคน คือการคิดถึงส่วนรวม ซึ่งมีต้นแบบจากพระองค์ท่าน"

สำหรับนักเรียนทุนอานันท์ ในระยะแรก ส่วนใหญ่ไปเรียนสาขาแพทยศาสตร์ เพื่อเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบิดาแห่งการแพทย์ของไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลเป็นคนแรก คือ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

\"ทุนอานันทมหิดล\" พัฒนาคนเพื่อสร้างชาติ

ระยะต่อมาเมื่อความต้องการบุคลากรในสาขาอื่นๆ ในประเทศเพิ่มขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนสาขาวิชาต่างๆ จนขยายไปถึง 8 สาขา คือ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ปัจจุบันมีผู้จบปริญญาเอกแล้วกว่า 300 คน และอยู่ระหว่างศึกษาอีก 40 คน

และถึงแม้จะมีปัญหาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบเรื่องค่าเงิน แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กลับทรงแก้ปัญหา ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติม อีกทั้งยังจัดสรรทุนไว้อีกก้อน เพื่อสนับสนุน อุปกรณ์และเครื่องมือในการทำงานนักเรียนทุนที่จบกลับมา ให้ใช้ความรู้ความสามารถได้เต็มศักยภาพ

ดร.วิรไท เล่าต่อว่า “ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ซึ่งค่าเงินบาทเพิ่มจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ มูลนิธิอานันทมหิดล ก็ได้รับผลกระทบ กรรมการมูลนิธิบางคนได้กราบบังคมทูลเสนอให้เปลี่ยนจากการศึกษาในสถาบันต่างประเทศ มาศึกษาในประเทศแทน แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เห็นด้วย และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ได้รับพระราชทุนสามารถศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศได้ต่อไป พระองค์รับสั่งว่า สาเหตุที่ต้องส่งไปศึกษาเล่าเรียนที่สถาบันชั้นนำในต่างประเทศ เพราะต้องการให้มีเพื่อนฝูงมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือที่เรียกว่าคอนเนกชั่น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายนักวิชาการในการพัฒนาประเทศ สามารถต่อยอดการพัฒนาให้ประสบผลสำเร็จได้”

"แม้จะมีผู้เสนอให้จัดงานหาทุนมาสมทบ เพราะมูลนิธิมีเงินจำกัด แต่พระองค์ไม่โปรด เพราะเห็นว่านักเรียนทุนอานันท์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย การจัดงานขายบัตรจึงอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลเหล่านี้ แต่ในที่สุดก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดงานได้ โดยใช้ศาลาดุสิดาลัย เพื่อไม่ต้องเสียค่าสถานที่ มูลนิธิอานันทมหิดลจึงมีโอกาสพิเศษในการจัดงานในวันที่ 20 กันยายน ซึ่งเป็นวันประสูติของรัชกาลที่ 8 และพระองค์ใส่พระราชหฤทัยแม้กระทั่งรายละเอียดต่างๆ เช่น การจัดงานต้องคิดค่าบัตรไม่เกินโต๊ะละ 6,000 บาท เพื่อไม่ให้นักเรียนทุนอานันท์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับความเดือดร้อน เพราะข้าราชการได้รับเงินเดือนไม่มาก”

"นอกจากนี้พระองค์ยังได้จัดสรรทุนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักเรียนทุนอานันท์ ที่สำเร็จการศึกษากลับมา แต่ขาดเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสถานที่ในการทำงาน เช่น ห้องแล็บต่างๆ เพราะทรงตระหนักว่า การที่นักเรียนทุนอานันท์จะใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ จำเป็นต้องมีความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงานด้วย”

พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังคงถูกสานต่ออย่างไม่ขาดสาย โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล

ดร.วิรไท กล่าวว่า “สมเด็จพระเทพฯ เอาพระราชหฤทัยใส่นักเรียนทุนอานันท์ทุกคน เสด็จฯ ทอดพระเนตรใบเกรดของทุกคน และทรงจำได้หมดทุกคน ในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ ผมเปลี่ยนหัวข้อใหม่และพระองค์ท่านจำได้ เมื่อมีรับสั่งให้นักเรียนทุนเข้าเฝ้าฯ พระองค์รับสั่งว่า หัวข้อใหม่เป็นอย่างไรบ้าง ผมตกใจมาก ทำให้รู้ว่าพระองค์ทรงเอาใจใส่นักเรียนทุนอานันท์ทุกคน และไม่ว่าจะเสด็จฯ เมืองใด จะรับสั่งให้นักเรียนทุนอานันท์เข้าเฝ้าฯ ทุกครั้ง”

“สมเด็จพระเทพฯ ทรงถามถึงนักเรียนทุนคนหนึ่งว่า ทำไมคนนี้ถึงไม่มาเข้าเฝ้าฯ เลย ติดขัดเรื่องการเรียนหรือเรื่องใด อยากให้มูลนิธิเข้าไปช่วยเหลือ เมื่อมูลนิธิติดต่อไปก็พบว่าติดขัดเรื่องการเรียน พระองค์มีรับสั่งว่านักเรียนคนนี้เป็นที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยในไทย แต่ยังมีปัญหา เป็นเพราะการเรียนการสอนของเราติดขัดในส่วนใดหรือไม่ เมื่อมูลนิธิถวายคำแนะนำ พระองค์ก็รับสั่งไปยังคณบดีของมหาวิทยาลัยให้ปรับปรุง สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ใส่พระราชหฤทัยอย่างมาก”

"นอกจากทุนอานันท์แล้ว สมเด็จพระเทพฯ ยังพระราชทานทุนอีกจำนวนมาก ซึ่งมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงินที่หลายๆ คนทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย พระราชทานทุนทุกระดับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก ผมเคยกราบทูลถามพระองค์ไปว่า ทูลกระหม่อมมีนักเรียนทุนในพระบรมราชูปถัมภ์กี่คน พระองค์รับสั่งว่า ถ้ารวมที่พระเจ้าอยู่หัวทรงฝากไว้ด้วยก็มีประมาณ 1 หมื่นคน"

+++++++++++++++++++

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าว่า “ผมได้รับพระราชทุนในปี 2519 ดีใจมาก เพราะเป็นโอกาสดีที่จะได้ไปศึกษาต่อที่สถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศจนถึงระดับปริญญาเอก และถือเป็นทุนที่มีเกียรติสูง การคัดจะใช้วิธีคัดเลือกนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ได้เกียรตินิยม รวมทั้งพิจารณาเรื่องความมีคุณธรรม และในช่วงที่เรียนมีคุณลักษณะที่เหมาะสมหรือไม่ หลังจากนั้นจะเรียกมาสัมภาษณ์ ให้เขียนวิสัยทัศน์ แล้วนำไปคัดเลือก ทุนนี้ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ไม่มีการเขียนสัญญาทางกฎหมาย และก่อนจะไปศึกษาต่อยังได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลลา การเข้าเฝ้าฯ แต่ละครั้ง พระองค์พระราชทานเวลาให้อย่างมาก ทำให้เกิดความผูกพันทางใจ คิดอยู่เสมอว่าเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นเช่นนี้ เมื่อเรียนจบแล้วก็อยากกลับมาทำงานรับใช้ประเทศ”

“การได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต ก่อนเข้าเฝ้าฯ ตื่นเต้นมาก เกร็งไปหมด เมื่อได้เข้าเฝ้าฯ ก็มีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงพระเมตตายิ่ง มีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก ตอนที่เข้าเฝ้าฯ ได้ถือพานพุ่มเข้าไป และก้มลงกราบท่าน ตอนนั้นคิดว่าคงนั่งกับพื้น แต่พระองค์ท่านรับสั่งให้นั่งบนเก้าอี้ ท่านรับสั่งว่า คุยกันนานกลัวจะเมื่อย”

“ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง ในการเข้าเฝ้าฯ พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า บ้านเมืองมีปัญหาอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องความยากจน ความขัดแย้ง และทรงเล่าถึงแนวทางการพัฒนาประเทศ การได้เข้าเฝ้าฯ เหมือนเป็นแสงสว่างนำทาง ทำให้การไปเรียน ได้รู้ว่ามีเป้าหมายจะต้องทำอะไร ซึ่งในช่วงปี 2519 บ้านเมืองมีปัญหาไม่น้อย พระองค์ทรงเป็นห่วงบ้านเมือง เรื่องบางเรื่องเราไม่มีโอกาสได้รู้ แต่พระองค์ท่านทรงมีข้อมูล"

“การเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้น ทำให้เกิดความมุ่งมั่นว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะนำความรู้ที่ได้กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ เดิมคิดว่าจะทำงานด้านวิจัย หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงที่ได้ทำงานวิจัยในสหรัฐได้พบกับ ดร.อัมมาร สยามวาลา ก็ได้รับคำแนะนำว่า เมื่อกลับมาเมืองไทย หากอยากใช้ทั้งความรู้ทางวิชาการและได้ทำงานด้านนโยบาย มีหน่วยงานที่เหมาะสมคือธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย”  

ดร.ประสาร กล่าวอีกว่า “หลังจากจบการศึกษาได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกครั้ง ซึ่งได้รับพระราชทานเวลาชั่วโมงกว่า พระองค์ทรงซักถามถึงวิชาที่เรียนมาว่าเป็นอย่างไร จะนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศได้อย่างไร และพระองค์ทรงช่วยต่อยอดทางความคิด และพระราชทานกำลังใจ ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”

"เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ และช่วงนั้นกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับตลาดข้าว พระองค์ทรงให้ข้อคิดว่า พอจะมีแนวทางเพิ่มมูลค่าข้าวได้หรือไม่ ขณะนั้นเป็นช่วงปี 2524 ยังไม่ค่อยมีซูเปอร์มาร์เก็ตมากนัก แต่พระองค์ทรงมองการณ์ไกลมาก รับสั่งว่า แทนที่จะขายข้าวเป็นถุงหรือเป็นกระสอบ น่าจะทำแพ็กเกจจิ้ง ทำเรื่องการตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้ ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย"

"ทุกความคิดของพระองค์ ล้วนแต่ทรงเป็นห่วงประเทศชาติ พระองค์รับสั่งถามว่า เรื่องสถิติ หรือโมเดลทางคณิตศาสตร์ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงหรือไม่ หรือแม้แต่หลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของชาติตะวันตกที่ร่ำเรียนมา นำมาประยุกต์ใช้กับประเทศได้หรือไม่ พระองค์จะรับสั่งถามในทำนองนี้อยู่ตลอด"

“ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน พระองค์ท่านถือเป็นคนเก่ง คนดี และคนขยัน พระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ในหลายๆ ด้าน ตลอดช่วงเวลาของเราจะเห็นว่าพระองค์ท่านทรงพระปรีชาในด้านการพัฒนา ทั้งงานวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ การสร้างพาหนะต่างๆ ทรงเป็นนักปกครอง มีพระราชอุตสาหะ ทรงงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และยังทรงพระปรีชาทั้งด้านศิลปะ ดนตรี วาดภาพ ถ่ายรูป จะเห็นว่าในหลายๆ พระบรมราโชวาท พระองค์ท่านจะรับสั่งเรื่องความถูกผิด เรื่องหลักคุณธรรมเป็นประจำ พระองค์จึงเป็นแบบอย่างที่ทุกคนควรยึดถือปฏิบัติตาม”

+++++++++++++++++++++++++