
ราชันการกีฬา ราชาแห่งเรือใบ
ราชันการกีฬา ราชาแห่งเรือใบ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองจากการแข่บขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2510 ภาพแห่งความประทับใจในครั้งนั้นยังติดตาตรึงใจเหล่าพสกนิกร นักกีฬา และผู้เกี่ยวข้อง อย่างไม่รู้ลืมมาตราบเท่าทุกวันนี้....
การได้รับชัยชนะของพระองค์ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นชัยชนะเหนือนักกีฬาของชาติอื่นๆ ในแหลมทอง ซึ่งถ้ารู้เบื้องหลังทุกคนจะต้องยกย่องพระปรีชาสามารถของพระองค์มากยิ่งขึ้น เพราะเรือใบที่พระองค์ทรงนำเข้าแข่งขันนั้น เป็นฝีพระพัตถ์ของพระองค์เองด้วย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2510 ในการประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้ประกาศในที่ประชุมว่า
“ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จะทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในนามประเทศไทยด้วย”
พระองค์ทรงสมัครเข้าร่วมเลือกตัวเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย ทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมโดยไม่ถือพระองค์เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่นๆ ทุกประการ ทรงได้รับบัตรประจำตัวนักกีฬา (ไอดีการ์ด) หมายเลข 0918 ทรงได้รับฉลองพระองค์เบลเซอร์ และชุดวอร์ม รวมทั้งทรงรับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬาเช่นเดียวกับนักกีฬาทั่วไป
หลังจากการแข่งขันรวม 6 เที่ยว ระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม พ.ศ.2510 ที่อ่าวพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปรากฏว่าเมื่อรวมคะแนนแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ทรงมีคะแนนรวมเป็นอันดับ 1 เท่ากัน คือมีแต้มเสีย 6 คะแนน ซึ่งคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ผู้แทนสหพันธ์เรือใบนานาชาติและผู้แทนชาติที่เข้าร่วมแข่งขัน ได้ประชุมกันตกลงพร้อมใจถวายเหรียญทองให้ทั้ง 2 พระองค์ครองตำแหน่งชนะเลิศร่วมกัน
ทันทีที่มติที่ประชุมได้รับการประกาศไปทั่วประเทศ ประชาชนชาวไทยต่างเปล่งเสียงแสดงความดีใจ ปลื้มปีติในพระปรีชาสามารถของทั้ง 2 พระองค์ นั่นคือพระปรีชาสามารถอีกด้านหนึ่งในทางการกีฬาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงฉายแววพระอัจฉริยภาพทางกีฬาหลายประเภทตั้งแต่ทรงพระเยาว์
ดังปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อครั้งประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี (พระอิสริยศักดิ์ในขณะนั้น) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา (พระอิสริยศักดิ์ในขณะนั้น) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบรมเชษฐาธิราช ทรงฉลองพระองค์ชุดสกี พร้อมอุปกรณ์การเล่นสกี ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ปุยหิมะขาวโพลน ขณะมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงสกี โดยมี นายชาเตอลายนา ชาวสวิสเป็นครูฝึก ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่มีมาถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ว่า
“... นันทกับเล็กสกีหลายหน ทำเก่งกันทั้งคู่ เล็กยิ่งทำดีกว่านันท ทำน่าเอ็นดู ใครๆ เห็นเข้าก็งงงวย เพราะเล็กนิดเดียวทำได้ดีมาก...”
นอกจากนั้นยังทรงกีฬาอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง เรือพาย แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ กีฬาที่โปรดส่วนใหญ่เป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้พละกำลังเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้รอบตัว เทคนิคไหวพริบ และความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เป็นแบบอย่างให้นักกีฬาทุกคนได้เรียนรู้ศาสตร์ของกีฬาแต่ละชนิดอย่างแท้จริง
พระปรีชาสามารถกีฬาแบดมินตัน
แบดมินตัน ถือเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงมาก่อนกีฬาเรือใบ โดยในยุคต้นๆ กีฬากีฬาแบดมินตันเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น คนไทยไม่ค่อยสนใจกันมากนัก เพราะยังไม่รู้จัก และไม่เคยเห็นมาก่อน พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยคอยติดตามข่าวและเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแข่งขันครั้งสำคัญๆ อยู่เสมอ ทรงสังเกตวิธีการเล่นของนักแบดมินตันมืออาชีพแต่ละคน นักกีฬาแบดมินตันที่มีชื่อเสียงหลายคนในสมัยนั้นจึงได้รับเชิญให้เข้าไปร่วมเล่นที่สนามกีฬาแบดมินตันในสวนจิตรลดา หนึ่งในจำนวนนั้นมีแชมเปี้ยนโลกชาวสิงคโปร์ชื่อ “ว่อง เป็ง สูน” เข้าร่วมเล่นด้วย โดยทั่วไปจะทรงแบดมินตันสัปดาห์ละ 3 วัน
ผู้ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมเล่นแบดมินตันกับพระองค์ ซึ่งนอกจากนักกีฬาแบดมินตันแล้ว ยังมีหลวงศรีรัตนาถ คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อีกด้วย โปรดเล่นประเภทคู่ และประเภทชายสาม ทรงแบดมินตันอย่างนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง คือไม่ทรงแสดงอาการกริ้วอย่างใดเมื่อทรงตีลูกเสีย เมื่อผู้ที่ร่วมเล่นตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบกระทั่งพระวรกายจากความเข้มข้นในการเล่น ก็ไม่ทรงถือพระองค์แต่อย่างใด แสดงถึงความเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงของพระองค์ท่าน จากการที่พระองค์ได้ทรงแบดมินตันกับนักกีฬาเหล่านี้ ทรงเห็นว่ากีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้เพราะไม่เสียเปรียบทางรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป มีรับสั่งในเรื่องนี้หลายครั้ง ก่อนที่คนไทยหลายๆ คนจะมองเห็นความสำคัญของกีฬาแบดมินตันในสมัยนั้น
นอกจากนี้ยังทรงสามารถวิเคราะห์ถึงวิธีการเล่นของนักแบดมินตันระดับโลกในสมัยนั้นได้ทุกคน และทรงเข้าถึงวิธีการเล่นของแต่ละคนได้อย่างดีที่สุด มีรับสั่งถึงวิธีการแก้ไขการเล่นแก่นักแบดมินตันไทยด้วยความเป็นห่วง
ศ.เจริญ วรรธนะสิน อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย บันทึกพระจริยวัตรในกีฬาแบดมินตัน ในหนังสือ “เส้นทางพิชิตฝัน” ว่า
“การแข่งขันในวันนั้นเป็นการแข่งขันหน้าพระที่นั่งและเป็นการแข่งขันที่คนดูมากที่สุด เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง ทรงมีรับสั่งภายหลังจากการแข่งขันว่าเป็นการแข่งขันที่สนุก ทั้งตัน โจ ฮอค และข้าพเจ้า แข่งขันกันอย่างนักกีฬา มียิ้มหัวกันตลอดเวลาร่วมชั่วโมงที่ขับเคี่ยวกัน”
นอกจากนี้ยังมีอีกตอนหนึ่งความว่า
“เป็นบุญวาสนาของวงการแบดมินตันไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยมิเพียงแต่เป็นสมาคมที่อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น แต่พระองค์ท่านยังทรงกีฬาแบดมินตันเป็นพระราชกิจวัตร และโปรดปรานแบดมินตันอย่างชนิดจะหาพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกมาเปรียบเทียบได้ ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม วงการแบดมินตันไทยสมัยนั้นได้รับการอุ้มชูสนับสนุนอย่างดีที่สุด และพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา จึงมีความสัมพันธ์กับวงการแบดมินตันของไทยอย่างแน่นแฟ้นตราบเท่าทุกวันนี้” และตอนหนึ่งความว่า
“พวกเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักแบดมินตันไทยทั้ง 4 ให้พวกเรากระทำตนเป็นนักกีฬาที่ดี รักษาชื่อเสียงของประเทศชาติ และข้าพเจ้าเนื้อตัวสั่นด้วยความตื่นเต้นและตื้นตันใจ เมื่อรับสั่งชมข้าพเจ้าว่า วันที่แข่งขันกับตัน โจ ฮอก เจริญเล่นได้ดี เล่นได้สนุก ไม่เคร่งเครียด สมเป็นนักกีฬาที่ดี จากกระแสรับสั่งในครั้งนั้นได้มีอิทธิพลอย่างมหาศาลทำให้ข้าพเจ้าเพิ่มความสนุกในการเล่นของตนเองเสมอ และทำให้เข้าใจซาบซึ้งถึงแก่นแท้และคุณค่าของคำว่า นักกีฬา”
พระปรีชาสามารถกีฬาเรือใบ
นอกจากทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ซึ่งต่อมามาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์ท่านโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว เรือใบของพระองค์จะทรงต่อด้วยพระองค์เอง และจะทรงทดลองแล่นในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภทโอเคขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4
นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีก พระราชทานชื่อว่า “เรือใบแบบมด” ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ “แบบไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงต่อเรือขึ้นมาอีกลำหนึ่งเป็นเรือใบประเภทโอเค พระราชทานชื่อเรือว่า “VEGA” หรือเวคา (ชื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่สุกสว่างมาก) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล หัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินด้วยลำพังพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2509 ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้นคือสโมสรเรือใบจิตรลดา ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับสโมสรเรือใบต่างๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น สโมสรเรือใบราชวรุณ สโมสรเรือใบกรมอู่ทหารเรือ สโมสรเรือใบฐานทัพเรือสัตหีบ สโมสรเรือใบนาวิกโยธิน และสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ เป็นต้น
พระมหากรุณาธิคุณแก่การกีฬา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการกีฬา ทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5, 6, 8 และ 13 รวมทั้งกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1, 4, 8 และกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13, 18 ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมพระทานไฟพระฤกษ์เพื่อใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาต่างๆ ได้แก่ กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ กีฬาแหลมทอง กีฬาซีเกมส์ กีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาสมัครเล่นถึง 13 สมาคม โปรดเกล้าฯ ให้นักกีฬาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพรก่อนเดินทางไปแข่งขันกีฬาใหญ่ อาทิซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 26, 27 และ 28 เข้าเฝ้าฯ หลังการแข่งขัน พระราชทุนแก่นักกีฬาไปฝึกซ้อมและแข่งขันต่างประเทศ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และสิริมงคลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่วงการกีฬา
นอกจากนี้ยังเคยเสด็จฯ ทอดพระเนตรการแข่งขันชกมวยสากลอาชีพ ชิงแชมป์โลก รุ่นฟลายเวท ของ โผน กิ่งเพชร กับ ปาสคาล เปเรซ นักชกอาร์เจนตินา ที่เวทีมวยลุมพินี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2503 ที่นักชกไทยได้รับชัยชนะ ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลกคนแรกของประเทศไทย จากนั้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2506 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการชกของโผนกับไฟติง ฮาราดา ที่ยิมเนเซียม 1 (ปัจจุบันคืออาคารนิมิบุตร) สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งหนังสือพระมหากษัตริย์นักกีฬา ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเมื่อปี 2549 บันทึกไว้ว่า
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเมื่อโผนชกไปถึงยก 7 หรือยก 8 ตอนนั้นไม่แน่ใจ ในเวลานั้นโผนทำท่าจะหมดแรง แล้วมีคนตะโกนว่าพระองค์เสด็จฯ มาแล้ว โผนได้ยินก็มีกำลังใจฮึดขึ้นมาทันที จนคว้าชัยชนะมาครองได้สำเร็จ”
และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2509 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการชกชิงแชมป์โลกของชาติชาย เชี่ยวน้อย กับ วอลเตอร์ แม็คโกแวน แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท ชาวอังกฤษ ที่สนามกีฬากิตติขจร ซึ่งจากหนังสือ “ชาติชาย เชี่ยวน้อย วีรบุรุษเจ้าน้ำตา หมัดภูผาหิน” บันทึกเหตุการณ์หลังการชกที่ชาติชายคว้าแชมป์โลกได้ว่า
“ผมลงจากเวทีแล้วตรงไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทันทีที่ผมไปถึงหน้าพระที่นั่ง พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาจับหน้าผม แล้วทรงเขย่าเบาๆ จากนั้นมีรับสั่งว่า เก่งมาก ฉันดีใจมาก ผมรู้สึกปลาบปลื้มมาก หาที่สุดไม่ได้เลย”
พระเกียรติคุณด้านการกีฬา
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ และมีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) จึงมีมติเป็นเอกฉันท์และได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก คือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อปี 2543 ไอโอซี ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ลาลาลูนิส คัพ” ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2539 เพื่อเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของไอโอซี ในการเชิดชูและประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลที่เคยเป็นนักกีฬาดีเด่น และเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งต่อสังคมที่ไอโอซียังไม่เคยมอบรางวัลนี้แก่ผู้ใดมาก่อน
ส่วนสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) มีมติเอกฉันท์เมื่อปี 2541 ให้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเมอริต อวอร์ด เป็นการประกาศเกียรติคุณในด้านการกีฬาที่พระองค์เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ในวงการกีฬา ขณะที่สมาคมคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (แอนน็อก) ได้มีมติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล แอนน็อก เมอริต อวอร์ด ซึ่งประกอบด้วยสร้อย พร้อมประกาศณียบัตรสลักพระปรมาภิไธย สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) โดยนายโจเซฟ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่า ได้กล่าวสดุดีพระองค์ทางโทรทัศน์ ก่อนพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และสภามวยโลก ได้ลงมติเอกฉันท์ถวายเหรียญรางวัลทองคำเกียรติยศสูงสุด ชื่อ Golden Shining Symbol of World Leadership เพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนับสนุนการกีฬาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬามวย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
พระราชจริยวัตรด้านการออกกำลังกาย
นอกจากทรงเข้าร่วมเล่นกีฬาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่น วิ่ง และเดินเร็ว ทรงออกกำลังพระวรกายสม่ำเสมออย่างถูกหลักวิชาการ มีการบันทึกพระชีพจร ความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลังทรงออกกำลังพระวรกาย ในขณะเดียวกันทรงกระตุ้นพระวรกายให้เกิดความอบอุ่นก่อนเริ่มเล่นกีฬา และผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังพระวรกาย ทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นพระราชกิจวัตร เป็นแบบฉบับของนักกีฬาที่ดี
จากความสนพระราชหฤทัยการกีฬาในแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการออกกำลังพระวรกายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ใน พ.ศ.2510 ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยในขณะนั้น หรือการกีฬาแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ได้นำ ศ.นพ.ฮาราลด์ เมลเลโรวิทซ์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเสรี นครเบอร์ลิน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ศ.นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี แพทย์ประจำพระองค์ เคยกล่าวถึงพระราชจริยวัตรในการอภิปรายหัวข้อเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการกีฬา” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2530 ว่า
“...พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเกือบทุกชนิด ตลอดจนออกกำลังพระวรกายด้วยการทรงพระดำเนินเร็ว หรือที่เรียกว่าจ๊อกกิ้ง อาจจะเป็นเพราะทรงมีพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมาย จึงไม่ได้ทรงกีฬาบ่อยๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังทรงจ๊อกกิ้งเป็นประจำ ถึงแม้ในช่วงแปรพระราชฐานไปในสถานที่ต่างๆ ในเวลากลางวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศเวลาเพื่อราษฎร กว่าจะเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ แม้จะเป็นเวลามืดค่ำก็ยังทรงออกกำลังพระวรกายด้วยวิธีการทรงพระดำเนินเร็วเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร เพื่อให้พระวรกายของพระองค์แข็งแรง พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ...”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่พระราชหฤทัยกับการออกกำลังพระวรกายอยู่เสมอ เมื่อ พ.ศ.2525 ภายหลังเสร็จสิ้นการออกกำลังเพื่อฟื้นฟูพระวรกายหลังจากพระประชวร ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแก่ข้าราชบริพารว่า
“...การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยเกินไป ร่างกายและจิตใจก็จะเฉา ถ้าทำมากเกินไป ร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ...”
ขณะที่พระราชนิพนธ์เรื่อง “กีฬาเป็นยาวิเศษ” ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหนังสือ “ออกกำลังกายเป็นยาวิเศษ” ในพระราชนิพนธ์ทรงเล่าถึงเส้นทางการออกกำลังกายของพระองค์ในแต่ละช่วงพระชนม์ชีพ เริ่มจากทรงได้รับการปลูกฝังเรื่องออกกำลังกายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ วิธีการฝึกหัดตีแบดมินตันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีวิธีการพิเศษ “นับร้อย” ซึ่งเป็นวิธีการที่เข้มงวดพอๆ กับผู้ฝึกหัดกีฬาอาชีพปฏิบัติกับนักกีฬา ซึ่งในเวลาต่อมาทรงทราบว่าเหตุใด “ทูลหม่อมพ่อ สมเด็จแม่” ของพระองค์จึงทรงเข้มงวดให้พระองค์ฝึกฝนเล่นกีฬาและออกกำลังกายยิ่งนัก
ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการฝึกความแข็งแรงของพระวรกายพระองค์เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อต้องเสด็จฯ ตามพื้นที่ต่างๆ ในชนบทนั่นเอง...