คอลัมนิสต์

อัครมหาศิลปิน พระบิดาบันเทิงไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระอัจฉริยภาพในด้าน “บันเทิง” ที่ทรงสร้างคุณูปการ เอาไว้มากมาย

 

          “ย้อนวันมหาวิปโยค ท้องฟ้ามัวหม่น ระคนร่ำไห้ เสียงสวดมนต์ก้องกังวานไกล ไพร่ฟ้าประชาชนสุดตรอมตรม ระทมดั่งสายฟ้า ร้องแล่นผ่ากลางดวงใจ เจ็บจนน้ำรินไหล กลั่นทรวงในล้นออกตา พนมกรขึ้นเหนือเกล้า ก้มลงกราบผืนแผ่นดิน หวนรำลึกเป็นอาจิณ ดั่งยลยินพระมหากรุณาธิคุณ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท วิงวอนผ่านทวยเทพไท้ น้อมส่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สถิตสู่ทิพย์สถานวิมานเทอญ..”

          ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนารถบพิตร เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติมานานกว่า 70 ปี ทรงอุทิศพระวรกาย ทุ่มเทพระราชหฤทัย เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชนของพระองค์ โดยมิรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย หลายวิกฤติในประเทศ ผ่านพ้นไปได้ด้วยพระปรีชาสามารถ หลายล้านคำแซ่ซ้อง สรรเสริญ พร้อมเปล่งวาจา “ทรงพระเจริญ” แด่พระมหากษัติย์ผู้ยิ่งใหญ่ ของปวงชนชาวไทยชั่วกาลนาน

          ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระอัจฉริยภาพในด้าน “บันเทิง” ที่ทรงสร้างคุณูปการ เอาไว้มากมาย

          ด้านวรรณกรรม
          หนังสือพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ และทรงพระราชนิพนธ์แปล เอาไว้หลายต่อหลายเรื่อง ล้วนสอดแทรกพระราชดำริ และแง่คิดอันงดงาม แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม ได้แก่ พระมหาชนก ทองแดง ทองแดงฉบับการ์ตูน รวมถึงพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และติโต ล้วนเพียบพร้อมด้วยเนื้อหาสาระ อันหาที่เปรียบมิได้

          รวมถึงพระราชนิพนธ์เรื่องแรกอย่าง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน “วงวรรณคดี” ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 เป็นตอนแรก โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นถือได้ว่า วงวรรณคดี จัดว่าเป็นหนังสือที่ดีและมีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าอย่างมาก

          พระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” เป็นบันทึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 ในราชวงศ์จักรี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489

          พระองค์ได้ทรงบันทึกผ่านพระอักษรถึงเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนิน แสดงถึงความรู้สึกของพระองค์ ตลอดจนเหตุการณ์ที่ทรงได้ประสบพบเจอ ขอเชิญข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ที่พสกนิกรชาวไทย รู้สึกประทับใจ

          “วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว...พอถึงเวลาก็ลงจากรถพระที่นั่ง พร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด ! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้ง อย่างไรได้” แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

          ส่วนวรรณกรรม ที่ทรงพระราชนิพนธ์ และได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากคือเรื่อง “พระมหาชนก” เมื่อปี พ.ศ.2539 พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2539

 

อัครมหาศิลปิน พระบิดาบันเทิงไทย

 

          พระราชนิพนธ์พระมหาชนกนี้ มีภาพวาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียหลายท่าน ที่สำคัญที่สุดคือมีภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ภาพวันที่เรือล่ม โดยมีแผนที่อากาศแสดงเส้นทางพายุจริงๆ และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ โดยมีนางมณีเมขลา เหาะอยู่เบื้องบน เป็นต้น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ถูกตีพิมพ์ก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2540 เพียงไม่นาน และมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางดำเนินชีวิตอันเป็นมงคล โดยใช้ความเพียรนำทาง

          ดังตอนหนึ่งในหนังสือ ที่พระมหาชนกทรงว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ 7 วัน เทพธิดา ชื่อ “มณีเมขลา” ผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณความดี ก็ตรวจตราพบ จึงเหาะมาทดลองความเพียร โดยถามพระมหาชนกว่าเมื่อมองไม่เห็นฝั่งแล้วจะพยายามว่ายอยู่ทำไม พระมหาชนกตรัสตอบว่า

          “เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้นถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร และเราทำความพยายามแม้ตายก็จักพ้นครหา บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติ เทวดา และบิดา มารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง"

 

อัครมหาศิลปิน พระบิดาบันเทิงไทย

 

          นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ 2542 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ พระองค์โปรดให้จัดพิมพ์ พระมหาชนก เป็นฉบับการ์ตูนเพื่อสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจของเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังมีการจัดพิมพ์เป็น ฉบับอักษรเบรลล์ เพื่อเผยแพร่แก่คนตาบอดอีกด้วย พระมหาชนกฉบับการ์ตูนนี้ ผู้เขียนการ์ตูนประกอบคือ ชัย ราชวัตร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีพระราชดำริในการให้ใช้ลายเส้นแบบไทยๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นไทย

          ส่วนพระราชนิพนธ์ที่ติดอันดับขายดีที่สุดในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2545 คือเรื่อง “ทองแดง” (The Story of Tongdaeng) เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน เนื้อหาเกี่ยวกับ “คุณทองแดง” สุนัขทรงเลี้ยงธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา เพราะมีลักษณะพิเศษทั้งด้านกายภาพและอุปนิสัย แสนรู้ เฉลียวฉลาด มีมารยาท เป็นสุนัขตัวโปรดของพระองค์ท่าน ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงตัวที่ 17 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ติดตามถวายงานรับใช้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด

 

อัครมหาศิลปิน พระบิดาบันเทิงไทย

 

          ในพระราชนิพนธ์ทรงยกย่องคุณทองแดงเรื่องความกตัญญูรู้คุณที่มีต่อ “แม่มะลิ” เอาไว้ว่า “ผิดกับคนอื่น ที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้วมักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณซึ่งเป็นคนต่ำต้อย” แฝงนัยอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

          นอกจากนี้ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2547 ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนโดยใช้ชื่อ “ทองแดงฉบับการ์ตูน”
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งในพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับงานพระราชนิพนธ์ จึงขอเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันแสดงถึงจรรยาบรรณในการเขียนหนังสือ ดังนี้

          “นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือ แสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดี ก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้นนักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิด และความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม”

 

อัครมหาศิลปิน พระบิดาบันเทิงไทย

 

          (พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2515)
ด้านดนตรี

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี เสมือนคีตกวีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระราชนิพนธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีด้วยพระองค์เอง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แปลความตามศัพท์ว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ”

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรี ร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์

          ทรงประสบความสำเร็จในการใช้ดนตรีเป็นภาษาสากลสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศได้อย่างงดงาม ดังเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2503 ระหว่างงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่วอชิงตันเพลส ทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญให้ทรงร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีที่จัดแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยไม่ได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน สร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นอย่างยิ่ง และยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของ เบนนี่ กู๊ดแมน นักดนตรีแจ๊สระดับโลก ที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งทรงสามารถบรรเลงโต้ตอบได้อย่างครื้นเครง จนได้รับการถวายคำยกย่องในฐานะทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีอัจฉริยภาพสูง

          เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2507 สถาบันการดนตรีเมืองเวียนนา (The Institute of Music and Arts of the City of Vienna) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตร และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาดนตรี ในปี พ.ศ. 2536 มหาวิทยาลัยมหิดลทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาดนตรี

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่มีพระราชประวัติว่า ทรงเกี่ยวข้องกับการดนตรี มาตั้งแต่สมัยที่ยังทรงเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 8 ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงฝึกเครื่องดนตรีที่โปรดมากที่สุดคือ คลาริเนต และแซกโซโฟน ทั้งนี้ ทรงได้รับการถวายการสอน และฝึกตามแบบฉบับการศึกษาดนตรีอย่างแท้จริง โดยทรงศึกษาดนตรีทั้งในลีลาคลาสสิก และลีลาดนตรีแจ๊ส ทั้งๆ ที่มีพระราชหฤทัยโปรดที่จะทรงดนตรีแบบแจ๊สมากกว่า แต่ก็ยังต้องทรงฝึกดนตรีในลีลาดนตรีคลาสสิกด้วย พระอาจารย์ได้ถวายคำแนะนำ ให้ทรงฝึกอย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี เมื่อได้ทรงฝึกฝนดนตรีขั้นพื้นฐานพอสมควรแล้ว จึงเริ่มทรงดนตรีไปในแนวแจ๊ส โดยทรงฝึกเครื่องเป่ากับแผ่นเสียงของวงดนตรีที่มีชื่อเสียง เช่น วงดนตรีของซิดนี่ บาร์เช่ (Sydney Bachet) ซึ่งเป็นนักเป่าโซปราโน แซกโซโฟน ที่มีชื่อเสียงของโลก ทรงพระปรีชาสามารถ ในการทรงโซปราโนแซกโซโฟนได้ดีที่สุดพระองค์หนึ่ง

          ด้านจิตรกรรม
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ครั้งที่ยังประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ประมาณ พ.ศ.2480-2488) โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และจากตำราต่างๆ และเมื่อสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก มีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงานของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้สี การผสมสี ตลอดจนเทคนิควิธีการต่างๆ จะเสด็จฯ ไปบ่อยๆ จนเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์งานของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี โดยมิได้ทรงลอกเลียนแบบ หากแต่ทรงนำวิธีการทำงานของศิลปินเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะใหม่ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง

          หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังราวพ.ศ. 2502 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญจิตรกรไทย ที่มีชื่อเสียง อาทิ อาจารย์เหม เวชกร อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง อาจารย์อวบ สาณะเสน อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ อาจารย์จุลทรรศน์ พยัฆรานนท์ และอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ เป็นต้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงหารือเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินเหล่านั้นมาร่วมเขียนภาพแข่งขันกัน และทรงร่วมแข่งขันด้วย

          ในการทรงงานเขียนภาพ ทรงใช้เวลาเมื่อว่างพระราชภารกิจในตอนค่ำหรือตอนกลางคืน โดยทรงใช้ทั้งแสงไฟฟ้าและแสงธรรมชาติ ภาพที่ทรงเขียน ส่วนมากจะเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทุกพระองค์ ซึ่งมักจะเป็นพระสาทิสลักษณ์ครึ่งพระองค์เป็นส่วนใหญ่

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมอยู่เสมอ เมื่อทรงว่างเว้นจากพระราชภารกิจ คราวที่เสด็จฯ ประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เป็นการส่วนพระองค์ และเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะประทับเพื่อทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ต แคว้นซัสเซกส์ พ.ศ.2509 ทรงซื้อหนังสือและสีเขียนภาพกลับมาด้วย

          ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2505 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็นครั้งแรก ต่อมาในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์เข้าร่วมแสดงเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์เข้าร่วมแสดงในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติทุกครั้ง ทำให้พสกนิกรชาวไทยได้มีโอกาสชื่นชมพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น กระทั่งในปี พ.ศ.2508 มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม

          ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พ.ศ.2525 กรมศิลปากรได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีจำนวน 47 ภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน พ.ศ.2525 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงผลงานศิลปะของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

          จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เท่าที่ปรากฏแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) ภาพโดยคตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism) และศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism) จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ซึ่งแบ่งออกเป็นแนวทางต่างๆ ดังกล่าวนั้น มิได้หมายความว่า พระองค์ทรงเขียนตามวิธีการในศิลปะนั้น หากแต่ลักษณะการแสดงออกเป็นไปในแบบอย่างที่ใกล้เคียงกัน เทคนิคที่ทรงใช้มากในการเขียนภาพคือ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ

          รางวัลแด่คนบันเทิง
          นอกจากพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ที่ทรงปฏิบัติเพื่อประชาชนแล้ว ยังมีพระราชภารกิจในการพระราชทานรางวัลอันทรงคุณค่าให้แก่ ศิลปิน ดารา ในวงการบันเทิง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและมงคลในชีวิตอันหาที่เปรียบมิได้

          “ป้าจุ๊” จุรี โอศิริ ได้รับพระราชทาน “รางวัลนักพากย์ยอดเยี่ยม” จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของคนที่ชื่อ จุรี โอศิริ 

          “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ปรมาจารย์แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512

          อีกทั้ง ครูเอื้อ ยังได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมไข้ถึง 2 ครั้งระหว่างที่รักษาตัวจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง และยังได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร เพื่อขับร้องเพลง “พรานทะเล” ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรด ถวายเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต ในปลายปี 2523

          “ป้าโจ๊ว” หรือ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำชนะเลิศ (ประเภท ข.) พ.ศ.2508-2509 

          ในปี พ.ศ.2490 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ป้าโจ๊ว ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” ซึ่งเพิ่งทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ก่อนหน้านั้นไม่นาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ