
ปริศนา“กระเบนราหู”ตายเกลื่อน 14วัน..คำตอบที่ไร้ความชัดเจน
เหตุกระเบนน้ำจืดลอยตายในแม่น้ำแม่กลองจำนวนมาก หลายหน่วยงานลงตรวจสอบ แต่ดูเหมือนสาเหตุการตายไปคนละทิศทาง แต่จำเป็นต้องรู้ให้แน่ชัดเพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหา
จากปรากฏการณ์พบ “ซากปลากระเบนน้ำจืด” หรือกระเบนราหู ลอยเกลื่อนแม่น้ำแม่กลองทั้งในพื้นที่อ.บางคนที อ.อัมพวา และอ.เมือง จ.สมุทรสงคราม มาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันยอดปลากระเบนน้ำจืดตายแล้วจากตัวเลขอย่างเป็นทางการของกรมประมงถึง 45 ตัว โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนั้น
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เพราะบางคนก็บอกสาเหตุอาจจะมาจากน้ำเสีย หรือน้ำเน่าจากโรงงาน ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพราะปลากระเบนเป็นสัตว์ที่สมควรอนุรักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติแม่น้ำบริเวณดังกล่าวและยังเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสาเหตุอย่างแท้จริง โดยเฉพาะทีมของ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ร.ท.พัชรโรดม อุนสุวรรณ ประธานชมรมอนุรักษ์ปลากระเบนสมุทรสงคราม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงเรือสำรวจปลากระเบนในแม่น้ำแม่กลอง เพื่อนำตัวอย่างเนื้อของซากปลากระเบนน้ำจืดไปตรวจหาสาเหตุการตายที่แท้จริง
เบื้องต้นตรวจสอบพบว่าในท้องซากปลากระเบนน้ำจืด ยังมีเศษอาหารในกระเพาะอาหาร จึงแน่ใจว่าปลากระเบนไม่ได้ป่วยตาย แต่เป็นการตายแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากสารพิษอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน
“ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปลากระเบนในแม่น้ำแม่กลองยังมีจำนวนเท่าไร ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงพื้นที่ศึกษาปลากระเบนในแม่น้ำแม่กลองนานเกือบ 10 ปี แม้จะฝังชิพให้ปลากระเบนแล้วกว่า 200 ตัว แต่ก็ยังมีข้อมูลจำกัดอยู่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง” รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ระบุ
เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากที่ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี สั่งการให้คณะประมง เร่งดำเนินการให้คำปรึกษาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบและหาข้อเท็จจริงของสาเหตุการตายโดยด่วน ทางคณะประมงได้มอบหมายให้ วีรกิจ จรเกตุ หัวหน้าสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม นำทีมร่วมสำรวจคุณภาพน้ำเพื่อหาสาเหตุการตายของปลากระเบนในครั้งนี้ และในวันที่ 10 ตุลาคม ทีมงานคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ดร.สุขกฤกษ์ นิมิตรกุล ดร.เยาวลักษณ์ มั่นธรรม และวีรกิจ จรเกตุ ลงพื้นที่ตั้งแต่ปากแม่น้ำแม่กลองไปจนถึงจ.ราชบุรี เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำและดินตะกอน เพื่อยืนยันสาเหตุการตายของปลากระเบนเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนผลจากการตรวจวัดคุณภาพผิวน้ำบริเวณแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ในช่วงเวลากลางวัน พบว่าปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) มีค่าอยู่เพียง 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน และมีค่าต่ำกว่าค่าที่เคยวัดได้ในช่วงเดือนเดียวกันในปีที่แล้วมาก ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
ดร.จงรัก กล่าวว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความกังวลและห่วงใยมากที่สุดก็คือ การคงอยู่ของปลากระเบนชนิดนี้ที่นับวันมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง ตลอดจนคุณภาพชีวิตของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย จึงได้มอบหมายให้คณะประมง หาแนวทางเพื่อรักษาจำนวนของปลากระเบนเจ้าพระยาเอาไว้ให้มากที่สุดในโอกาสต่อไป
ขณะที่ กรมประมงให้ข้อมูลว่า กระเบนราหู จัดเป็นสัตว์น้ำจืด ขนาดใหญ่ที่ยังคงพบในแหล่งน้ำสำคัญ อาทิ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ห้ามผู้ใดจับหรือทำการประมงตามประกาศจังหวัดสมุทรสงคราม โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 และได้รับการเสนอให้เป็น “สัตว์คุ้มครอง” และเป็นสัตว์คุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ อีกทั้งปลากระเบนราหูถือว่าเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ โดยเฉพาะคุณภาพน้ำของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอีกด้วย
สำหรับน้ำแม่กลอง ถือว่าเป็นแหล่งที่พบปลากระเบนราหูชุกชุมที่สุด และทางจ.สมุทรสงครามพยายามอนุรักษ์และรักษาจำนวนประชากรปลากระเบนราหูไว้ด้วยการออกประกาศห้ามจับในแหล่งน้ำภายในจังหวัด ดังนั้นเหตุการณ์ที่ปลากระเบนน้ำจืดตายจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน ทางกรมประมงได้ระดมนักวิชาการเร่งหาเหตุ “กระเบนราหูแม่กลอง” ตาย และได้เตรียมพร้อมที่จะปล่อยปลาชนิดนี้เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูหลังเข้าสู่สภาวะปกติ
“มีศักดิ์ ภักดีคง” รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีชาวบ้านทั้งในพื้นที่ อ.อัมพวา อ.เมือง และอ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ได้พบซากปลากระเบนลอยตายในแม่น้ำแม่กลองตามกระแสน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมากพร้อมทั้งพบการตายของปลากะพงในกระชัง ทางกรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นเฝ้าระวังอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ความช่วยเหลือในการเก็บซากปลากระเบนราหูที่ลอยตายในแม่น้ำลำคลองไปทำลายด้วยวิธีการฝังกลบและร่วมตรวจสอบหาสาเหตุการตายโดยเร็วที่สุด
เบื้องต้นมุ่งประเด็นไปที่เรื่องของคุณภาพน้ำ ซึ่งผลจากการตรวจวัดพบปริมาณค่าออกซิเจนค่อนข้างต่ำ สำหรับสาเหตุการตายที่แท้จริงยังจำเป็นที่จะต้องหาคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง
เนื่องจากกรณีนี้มีเพียงปลากระเบนราหูและปลากะพงที่เลี้ยงในกระชังเท่านั้นที่ตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งวิถีการดำรงชีวิตของปลากระเบนจะอาศัยอยู่ที่พื้นท้องน้ำจึงมีความเชื่อกันว่าอาจเกิดมาจากการปล่อยน้ำเสีย ทำให้ระบบนิเวศพื้นท้องน้ำเปลี่ยนแปลงกะทันหัน และเนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีทั้งน้ำขึ้น น้ำลง ฝนตก และความคดเคี้ยวของแม่น้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่มั่นใจว่ามลพิษมาจากทิศทางไหนประกอบกับมีน้ำหลากในช่วงฝนตกหนักทำให้อุณหภูมิในน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงค่าออกซิเจนที่ต่ำอาจทำให้ปลาปรับตัวไม่ทันจนอาจน็อกตาย
ส่วนกรณี รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ได้เจาะเลือดปลากระเบนตัวที่รอดชีวิตนำไปตรวจหาสารพิษ ซึ่งพบว่าปลาได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือก ทำให้ความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป ดังนั้นสาเหตุหลักที่ปลากระเบนตายจึงคาดว่าน่าจะเกิดจากสารพิษ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากสารพิษใด คงต้องสำรวจในพื้นที่ว่ามีการปล่อยสารอะไรออกมาบ้าง
แต่เบื้องต้นคาดว่าไม่น่าจะใช้ยาฆ่าแมลงเพราะยาฆ่าแมลงมีผลต่อตับและจากผลการตรวจค่าตับปลาพบว่าไม่เปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งสารที่พบเป็นสารที่ออกฤทธิ์เฉียบพลันไม่ได้ออกฤทธิ์สะสม จึงคาดว่าไม่ใช่โลหะหนัก อีกทั้งปลากระเบนที่ช่วยขึ้นมาจากแม่น้ำได้สำรอกอาหาร แสดงว่าไม่ใช่อาการป่วยตามธรรมชาติ หากป่วยตามธรรมชาติปลาป่วยจะไม่กินอาหาร
“ตอนนี้สถานการณ์โดยรวมอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง ถึงแม้จำนวนการตายของปลากระเบนราหูและปลากะพงจะลดจำนวนน้อยลงแล้ว แต่กรมประมงก็ยังไม่นิ่งนอนใจยังจัดส่งนักวิชาการประมงลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกวัน นอกจากกรมประมงแล้วยังมีหน่วยงานจากภาครัฐและภาคประชาสังคมอื่นก็ยังร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย ล่าสุดเรายอดรวมการตายของปลากระเบนราหูจากการเก็บข้อมูลของกรมประมงตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน-10 ตุลาคม พบว่ามีปลากระเบนน้ำจืดตาย 45 ตัว รอดตาย 2 ตัว เป็นเพศเมียทั้งคู่ และมีลูกในท้อง 5 ตัว คือตัวแรกมีลูก 2 ตัว ตัวที่สองมีลูก 3 ตัว ขณะนี้ปลากระเบนเหล่านี้ถูกนำไปพักฟื้นอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงคราม” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว
ขณะเดียวกัน กรมประมงแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังในจ.สมุทรสงคราม ให้เร่งจับสัตว์น้ำในกระชังขึ้นจำหน่ายโดยเร็ว พร้อมทั้งควรงดปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงกระชังในช่วงระยะเวลานี้ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น และหากพบเห็นกระเบนราหูตายหรือเกยตื้นบริเวณชายฝั่งให้รีบแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามทันที
ดังนั้นนับจากวันที่ 29 กันยายน ที่พบซากปลากระเบนน้ำจืดในแม่น้ำแม่กลอง แต่บทสรุปที่ได้น่าจะเกิดจากสารพิษค่อนข้างชัดเจน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสารพิษประเภทใด และที่มาจากไหน ทั้งที่เวลาผ่านไปแล้ว 14 วัน!
ดลมนัส กาเจ