คอลัมนิสต์

ศาล รธน. เปิดทาง “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯอีก 8 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามคำถามพ่วง ขยายความให้เลือก "นายกฯคนนอก" ได้ ภายใน 5 ปี : วิเคราะห์โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

          จากที่จับตาดูกันว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้จะให้อำนาจ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้หรือไม่ ปรากฎว่าไม่มีการแตะตรงนี้ แต่ได้ขยายเวลาในการขอยกเว้นการเลือกนายกฯจากในบัญชี หรือ เลือก “นายกฯคนนอก” ได้ เป็น 5 ปี จากเดิมให้ยกเว้นเฉพาะในอายุสภาสมัยแรกเท่านั้น

          จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)แก้ไข “ไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ” สรุปใจความสำคัญของ 2 ข้อที่ศาลรธน.วินิจฉัย คือ

          1.ให้ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ คือ สมาชิกรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของสองสภา

          ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญ ของ กรธ.ที่เสนอไป กำหนดให้เป็นอำนาจของ ส.ส.เท่านั้น (มาตรา 272 วรรค 2)

          คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “การให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเสนอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง ยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติที่มีเจตนารมณ์ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสองนี้มีเจตนารมณ์มุ่งหมายให้เป็นทางออกกรณีไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯได้ ซึ่งขั้นตอนการขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรค ไม่ไช่การเสนอชื่อนายกฯ”

          2.การกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาในการให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ (มาตรา 272 วรรค 1) และ การขอยกเว้นเพื่อเสนอชื่อนายกฯนอกบัญชี (มาตรา 272 วรรค 2)  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ให้กำหนดไว้ให้เหมือนกันคือ “ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้”

          ตามร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. กำหนดระยะเวลาไว้ต่างกัน คือ วรรค 1 ในส่วน ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯได้ กำหนดไว้ว่าเป็น “5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้ง”  ส่วนวรรค 2 ในส่วนการยกเว้นเพื่อเสนอชื่อนายกฯนอกบัญชี กำหนดว่า “ในวาระแรกเมื่อมีการเลือกตั้ง” ซึ่งจะหมายความถึงเฉพาะในช่วงอายุสภาผู้แทนฯชุดแรกเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงว่าสภาฯชุดแรกจะมีอายุกี่ปี ซึ่งเป็นไปตามเนื้อหาเดิมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ (มาตรา 272)

          ทั้งนี้การกำหนดให้สามารถขอยกเว้นเพื่อเสนอชื่อนายกฯนอกบัญชีได้เป็นเวลา 5 ปี เท่ากับว่าในสภาผู้แทนฯชุดที่ 2 คือการเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกรัฐสภา(ส.ส.+ส.ว.) มีสิทธิขอยกเว้นเพื่อเลือกนายกฯนอกบัญชีได้อีกครั้ง เท่ากับว่า นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง หรือ“นายกฯคนนอก” สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วง 2 อายุสภาผู้แทนฯ ซึ่งอาจจะนานถึง 8 ปีก็เป็นได้

          ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลที่ต้องกำหนดระยะเวลาทั้งวรรค 1 และ วรรค 2 ไว้ให้เหมือนกัน ว่าการกำหนดเวลาและวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามวรรค 1 และ วรรค 2 ต้องสอดคล้องกัน “เพื่อให้ได้นายกฯเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆสำเร็จบรรลุผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และเจตนารมณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน”

          ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

          ฉะนั้นที่เคยคิดกันว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะเป็นนายกฯ อีกสมัยหลังการเลือกตั้ง ตอนนี้ต้องคิดใหม่ เพราะ “บิ๊กตู่” สามารถเป็น “นายกฯคนนอก” ได้อีก 2 สมัยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

          แต่จะ "สง่างาม" ตามที่ "บิ๊กตู่" เคยพูดไว้หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง!

++++++++++

**ข้อมูลประกอบ

          เนื้อความ มาตรา 272 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดย กรธ. ที่เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ

          “มาตรา 272 ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 การให้ความเห็นชอบเสนอบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใด ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

          ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าเสนอชื่อต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลันและในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ