คอลัมนิสต์

“สามพี่น้อง” แห่งบ้านป่าหวาย

“สามพี่น้อง” แห่งบ้านป่าหวาย

21 ก.ย. 2559

มนุษย์สองหน้า : โดย.. แคน สาริกา

          สื่อมวลชนสายทหารในระยะหลัง จะคุ้นเคยกับ “บ้านทหารเสือ” อันหมายถึงกรมทหารราบที่่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) เพราะมีอดีตผู้บังคับบัญชา ร.21 รอ. เป็นใหญ่เป็นโตในเวลานี้

          เมื่อพูดถึง “บ้านป่าหวาย” อาจดูจะห่างหายไปสักพักใหญ่ หลังจากสิ้นยุค พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็เพิ่งมีนักข่าวเขียนถึงบ้านป่าหวายอีก ตอนที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ขยับขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่

 

          “บ้านป่าหวาย” หมายถึง “ค่ายวชิราลงกรณ์” อันเป็นที่ตั้งของกรมรบพิเศษที่ 1

 

          สมัยที่โลกใบนี้แบ่งเป็น 2 ค่ายคือ ค่ายเสรีประชาธิปไตย กับค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพที่เหนือกว่า ต้องเพลี่ยงพล้ำแก่ประเทศ ที่มีศักยภาพทางทหารด้อยกว่า ด้วยการใช้ “การสงครามพิเศษ” และการปฏิบัติของ “หน่วยรบพิเศษ”

 

          กองทัพบก จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยรบพิเศษขึ้น เป็นหน่วยแรก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2497 ที่บ้านป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี ใช้ชื่อว่า “กองพันทหารพลร่ม” หรือที่เรียกขานทหารหมวกแดงว่า “พลร่มป่าหวาย”

 

          นักรบหมวกแดง ได้เข้าร่วมภารกิจลับสนับสนุนกำลังทหารหลัก ในสมรภูมิรบทั้งในเวียดนามใต้ และในประเทศ ตามยุทธศาสตร์ต่อสู้เอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2521 ทหารเวียดนามแสนกว่านาย โค่นระบอบเขมรแดงได้ในเวลาเพียงสองสัปดาห์ และวันที่ 8 มกราคม 2522 ได้จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา โดยมีสหายเฮง สำริน เป็นผู้นำ

 

          กองทัพเวียดนาม ส่งสัญญาณกวาดล้างเขมรแดง, เขมรสีหนุ และเขมรเสรี(นายพลซอนเซน) ที่ลี้ภัยอยู่ตามแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งรัฐบาลไทยสมัยนั้น หวั่นวิตกว่าไฟสงครามจะลามมาเข้าบ้านเรา

 

          เดือนมิถุนายน 2522 รัฐบาลไทยส่งนายทหาร 3 นาย เดินทางอย่างลับๆ ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพบกับ “เติ้ง เสี่ยว ผิง” ผู้นำของจีนในขณะนั้น และได้มีการบรรยายสรุปสถานการณ์ที่ไทยเผชิญอยู่ให้ฟัง

 

          ในที่สุด จีนตัดสินใจช่วยเหลือกองกำลัง 3 ฝ่ายคือ เขมรแดง, เขมรสีหนุ และเขมรเสรี (นายพลซอนเซน) โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านการลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยสู่ “กองกำลังเขมร 3 ฝ่าย” ที่ตั้งฐานอยู่ประชิดพรมแดนไทย

 

          สถานการณ์การรบรุนแรงขึ้น กองทัพเวียดนามไล่ถล่มทหารเขมร 3 ฝ่ายจนล้ำเข้ามาเขตแดนไทย กองทัพบกจึงเสนอจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 838 (นปพ.838) โดยอยู่ภายใต้โครงการ 315 ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้รับผิดชอบ

 

          กองทัพบก ได้มอบความรับผิดชอบการปฏิบัติการในพื้่นที่ระวังป้องกันให้กับกรมรบพิเศษที่ 1 (รพศ.1) รับผิดชอบด้านกัมพูชา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะผู้บังคับการกรม ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 838 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2529 รวมระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน โดยกำลังพล รพศ.1 ทุกนาย จะต้องทำหนังสือลาออกจากราชการไว้

 

          เวลานั้น “พล.อ.สุรยุทธ์” ครองยศพันเอก เป็น ผบ.รพศ.1 และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้บังคับกองพัน ส่วนน้องเล็ก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เพิ่งเข้ารับราชการทหารใน รพศ.1 เป็นผู้บังคับกองร้อย

 

          นายทหารไทยทั้ง 3 นาย ต่างแยกย้ายกันไปปฏิบัติภารกิจลับ ช่วยฝึกการรบ และร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ทหารเขมรแดง ,เขมรสีหนุ และเขมรเสรีหรือเขมรขาว

 

          ยามนั้น นักรบหมวกแดงแห่งบ้านป่าหวาย ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง รู้จักกันในนาม “หัวหน้าวิชชุ” (พล.อ.สุรยุทธ์) , “หัวหน้านาวิก” (พล.อ.สนธิ) และ “หัวหน้าชัยสิทธิ์” (พล.อ.เฉลิมชัย)

 

          ภารกิจลับนี้ ไม่ต่างสมัยกองทัพไทย ส่งกำลัง “ทหารเสือพราน” ภายใต้โครงการ 333 ไปรบในลาว ระหว่างปี 2512-2516 นายทหารต้องลาออกจากราชการ และเปลี่ยนชื่อใหม่เหมือนกัน

 

          ความต่างของสงครามลับ 2 ยุคคือ “สงครามลับในลาว” มี “ซีไอเอ” เป็นสปอนเซอร์ ส่วน “สงครามลับในกัมพูชา” มี “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” เป็นสปอนเซอร์

 

          สงครามเขมร 3 ฝ่าย รบเขมรเฮงสำริน ยุติลงด้วยการเจรจาปรองดอง และกองทัพเวียดนาม ถอนตัวออกไป

         

          หลายปีต่อมา พี่น้องหมวกแดงแห่งบ้านป่าหวาย ผู้ผ่านสงครามลับกัมพูชา ได้เป็น “แม่ทัพบก” ถึงสามคน