
3 วิธีปราบ “ส่วยร้านนวด”
โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ
“ก.ม.คุมร้านนวด–หมอนวด” หรือ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 แต่จะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังหลังวันที่ 27 กันยายน 2559 จุดประสงค์เพื่อจัดระเบียบร้านนวด–สปา ไม่ให้มีการค้าประเวณี หรือทำผิดกฎหมายอื่น และเพื่อยกระดับป้องกันไม่ให้ภาพลักษณ์ของร้านนวดแผนไทยเสื่อมเสียไปทั่วโลก
ปรากฏว่ากฎหมายฉบับนี้กลายเป็นเครื่องมือหากินของกลุ่มมาเฟียรีดส่วย สร้างความเดือดร้อนให้ร้านนวด 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศไทย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายน กลุ่มผู้ประกอบการหมอนวดกว่า 50 คน ตัวแทนร้านนวด 14 ร้านของเชียงใหม่รวมตัวกันยื่นหนังสือฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมว่า ถูกตำรวจบางคนใช้อำนาจเรียกเก็บส่วยตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม พร้อมบังคับให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งด้วย โดยตั้งข้อหาว่าไม่มีใบอนุญาตทั้งที่เจ้าของร้านกำลังยื่นเรื่องทำใบอนุญาตที่ถูกต้อง เจ้าของร้านบางแห่งโดนปรับเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นบาท จากนั้นแก๊งรีดส่วยแนะนำว่าหากอยากเปิดร้านต่อให้จ่ายเงินเดือนละ 1,000-4,000 บาท
ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นระบุ จำนวนร้านนวดแผนไทยและนวดเพื่อสุขภาพในเชียงใหม่มี 155 ร้าน และผู้ประกอบการสปา 32 แห่ง โดยเจ้าของร้านร้อยละ 90 ยอมจ่ายเพราะไม่อยากมีเรื่องกับตำรวจ ทั้งที่ไม่เคยมีการเรียกรับส่วยแบบนี้มาก่อนเลย
นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมออกกฎหมายข้างต้น ยอมรับว่า ตอนนี้ได้รับร้องเรียนเรื่องกลุ่มบุคคลมาหาประโยชน์จากร้านนวดขนาดเล็กจริง ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้เป็นเจ้าภาพดูแลกฎหมายฉบับนี้ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการแก้ไขแล้ว เพราะช่วง 27 กันยายน 2559–มีนาคม 2560 จะเป็นช่วงเวลา 180 วันที่เปิดให้ร้านนวดและร้านสปาหรือสถานประกอบการอื่นที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายฉบับนี้ ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาต ทำให้ยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ร้านใด
“มาตรการเบื้องต้นที่เสนอกันคือ 1 ต่อไปนี้ผู้มีอำนาจในการตรวจร้านนวดนั้น ควรเป็นเจ้าหน้าที่จากสบส.หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องมีบัตรประจำตัวเฉพาะ และต้องผ่านการฝึกอบรมด้วยว่าการตรวจร้านนวดหรือร้านสปาต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ใครจะเข้าไปตรวจแล้วเรียกรับเงินก็ได้ ในต่างจังหวัดได้ขอความร่วมมือไปยังสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตำรวจหรือคนอื่นไม่ควรมีหน้าที่เข้าไปตรวจ มาตรการที่ 2 คือการเปิดฮอตไลน์สายด่วนของ สบส.เพื่อรับปรึกษาและให้ข้อมูลถูกต้องกับสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนขอใบอนุญาตต่างๆ หรือไว้แจ้งข้อมูลหากมีใครมาข่มขู่เรียกรับเงิน”
นายกรดยอมรับว่า ช่วงนี้ยังมีความสับสนอยู่มากในเรื่องการขึ้นทะเบียนหรือการขออนุญาตต่างๆ ทำให้มี มาตรการที่ 3 คือการพยายามจัดการให้กฎหมายการดูแลร้านนวดและสปาอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงนี้มีการประชุมเพื่อช่วยกันกำหนดรายละเอียดและกติกาต่าง ๆ เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากกฎหมายเพิ่งประกาศใช้
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการระดมรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนวดกว่า 5 พันคนยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่ามีปัญหาความไม่เป็นธรรม ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย มรดกทางวัฒนธรรมของไทย และขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยในการประกอบอาชีพ ขาดการทำประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็น ผลดี-ผลเสีย และความเป็นไปได้จากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนหลายประการ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน เครือข่ายนวดแผนไทยได้ยื่นรายชื่อเพิ่มเป็น 8 พันคนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาปัญหาความชอบธรรมในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งด่วน และ เพิ่มเติมปัญหาการเก็บส่วยที่กำลังเกิดขึ้นกับร้านนวดในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว
นายสุกษม อามระดิษ เลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย ตัวแทนเครือข่ายผู้ประกอบการและผู้ให้บริการนวดแผนไทยให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ช่วงการรอคอยเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบการและผู้ดำเนินการ ซึ่งยังไม่มีระเบียบที่ชัดเจนออกมา ทำให้เกิดช่องว่างมีเจ้าหน้าที่รัฐไปข่มขู่เรียกเงิน จากการรวบรวมของผู้ร้องเรียนเข้ามาสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1 กลุ่มที่เป็นตำรวจ 2 กลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่จากกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุข มหาดไทย ฯลฯ
“ตอนนี้ได้รับแจ้งเพิ่มว่า มีกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มอ้างตัวเป็น นายหน้า จะมาช่วยติดต่อขอใบอนุญาตและหลักฐานต่างๆ ตามที่สบส.ต้องการ และขู่ว่าหากไม่ให้พวกเขาดำเนินการให้จะไม่มีทางขอใบอนุญาตได้ และมีคนแจ้งเข้ามาด้วยว่า มีพวกแอบแฝงตัวมาข่มขู่พอขอดูบัตรประจำตัวก็ไม่ให้ ป้าบางคนเปิดร้านกับลูกสาว 2 คนเปิดนวดมาหลายปี ไม่เคยมีปัญหาอะไร ตอนนี้มีผู้ชายขับรถมาจอดหน้าร้าน แล้วขอดูใบอนุญาต อยากให้ทุกหน่วยงานรับทราบปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไข ร้านนวดแผนไทยบางร้านไม่เคยไปขึ้นทะเบียนที่ไหน เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่มีบันไดหนีไฟ ไม่มีห้องน้ำแยกชายหญิง สบส.พูดแต่เรื่องผิดกฎหมายจะปิดร้าน จะดำเนินคดี โดยไม่มีการแนะนำหรือหาทางออกให้ นวดแผนไทยเป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ทำมาหากินอาศัยหยาดเหงื่อแรงกายกับมรดกทางวัฒนธรรม ทั่วประเทศไทยประเมินว่ามีร้านนวดประมาณ 1 หมื่นกว่าแห่ง หมอนวดอีกว่า 1 แสนคน ที่กำลังเดือดร้อน”
ยิ่งไปกว่านั้น นายสุกษมได้ชี้ให้เห็นปัญหาในเรื่องการรับรองหลักสูตรด้วย เนื่องจาก สบส.กำหนดให้หมอนวดต้องมีใบรับรองจบหลักสูตรที่ สบส.รับรองมาตรฐานให้เท่านั้น แต่ในความจริงองค์ความรู้เรื่องนวดแผนไทย นวดน้ำมัน หรือนวดต่างๆ เป็นการสะสมและถ่ายทอดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน สอนคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ไม่ได้มีหลักสูตรตายตัว หรือกรณีที่กระทรวงต่างๆ จัดเป็นคอร์สสอนเพื่อเป็นอาชีพเสริม แล้วตั้งชื่อต่างๆ แต่หลังจาก สบส.มากำหนดชื่อ เช่น นวดไทย 150 ชั่วโมง นวดเท้า 150 ชั่วโมง ถ้าชื่อหลักสูตรที่ได้ใบประกาศมาไม่เป็นไปตามที่ สบส.กำหนดจะไม่รับรอง สร้างความเดือดร้อนให้หมอนวดผู้จบหลักสูตรเหล่านี้มา
“สบส.อาศัยอำนาจกฎหมายแสดงถึงอำนาจเหนือกว่าหน่วยงานอื่น หรือกระทรวงอื่นด้วยการไม่รับรองบางหลักสูตรนวดที่เคยเปิดเรียนเปิดสอนกันมาหลายสิบปี เช่น หลักสูตรของศูนย์การศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของกระทรวงศึกษาธิการ หรือของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สังกัดกระทรวงแรงงาน มาตรฐานการรับรองหลักสูตรคืออะไร ควรแจกแจงให้ชัดเจนและเปิดให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วม” นายสุกษม กล่าวแนะนำ
จาก 3 มาตรการปราบ “ส่วยร้านนวด” คือ กำหนดให้มีบัตรประจำตัวผู้มาตรวจ เปิดฮอตไลน์สายด่วน และสะสางกฎหมายขอใบอนุญาตที่ซ้ำซ้อน ทั้ง 3 วิธีจะสำเร็จหรือไม่ ?
หากไม่สำเร็จ มาเฟียร้านนวดอาจต้องเจอกับมาตรการเด็ดขาดของ ม.44 อยู่ที่ “รัฐบาลประยุทธ์” ว่าจะเห็นใจหมอนวด ผู้ช่วยผ่อนคลายความปวดเมื่อยมากน้อยเพียงไร ?
-------------------
สรุปสาระสำคัญ “พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559”
1.กำหนดให้มี “คณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ
2.แบ่งกิจการ 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ “กิจการสปา” หมายถึง การนวด การบำบัดด้วยน้ำ อบตัว ฯลฯ “กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม” หมายถึง นวดแผนไทย นวดหน้า พอกหน้า ฯลฯ และ “กิจการอื่นๆ” เช่น ฟิตเนส แอโรบิก โยคะ ทำสมาธิ ฯลฯ
3.กิจการทั้ง 3 ประเภทต้อง “ขอใบอนุญาตสถานประกอบการ” โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท
4.“ผู้ดำเนินการ” ต้องมาขอใบอนุญาต โทษปรับ 2 หมื่นบาท
5.ค้าประเวณี มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติดอื่นๆ โทษปรับ 3 หมื่นบาท
6.“กลุ่มหมอนวด” ในกฎหมายฉบับนี้เรียกว่า “ผู้ให้บริการ” ไม่ต้องขอใบอนุญาต แต่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก “สบส.” เช่น หลักสูตรนวดไทย หลักสูตรนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย หลักสูตรนวดสวีดิช ฯลฯ
7.กำหนดให้มีการควบคุมดูแลอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ต่างๆ
-------------------
(3 วิธีปราบ “ส่วยร้านนวด” : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)