
การตาย“ธวัชชัย”ท้าทายภาพลักษณ์“ดีเอสไอ”
ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอ ต้องเร่งดำเนินการทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว เพื่อให้สมกับความคาดหวังของประชาชนและสังคมที่ให้ความไว้วางใจและศรัทธา
การตายของ "ธวัชชัย อนุกูล" อดีตเจ้าพนักงานที่ดิน จ.พังงา ผู้ต้องหาทุจริตประพฤติมิชอบ ฐานออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนอุทยานแห่งชาติกว่า 1,000 แปลง ทั้งใน จ.ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี รวมมูลค่านับหมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมและนำมาคุมขังที่ชั้น 6 ของดีเอสไอ กำลังกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนศรัทธา ความน่าเชื่อถือของ “ดีเอสไอ” ไม่น้อย
เพราะแค่เกิดการเสียชีวิตของ “ผู้ต้องหา” ในห้องขังของ ดีเอสไอ ซึ่งเป็น หน่วยงานในระดับชาติ ที่นำต้นแบบมาจาก “เอฟบีไอ” ของสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร แต่นี่...ยังมีความซับซ้อนถึงสาเหตุการตายของ “ธวัชชัย” ว่า เป็นอย่างไรกันแน่
“เจษฎา อนุจารี” ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาชีพว่าความ สภาทนายความ มองว่า ห้องขังของดีเอสไอใช้มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงไม่ควรให้เกิดการตายของผู้ต้องหาในห้องขัง
“ไม่ว่าสุดท้ายจะสรุปผลออกมาว่านายธวัชชัยฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรม ดีเอสไอก็เสียหายทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย เพราะการตายของผู้ต้องหาเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัวของดีเอสไอ แสดงว่าการควบคุมดูแลผู้ต้องหาไม่ดีพอ อีกทั้งห้องขังผู้ต้องหาที่ดี ต้องไม่มีช่องให้ผู้ต้องหาเกิดการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติขึ้นได้ เช่น บานพับของห้องขัง ก็ต้องไม่มีแง่มุมไหน ที่ทำให้ผู้ต้องหาผูกคอตายได้ และถ้าหากเป็นการฆาตกรรม ก็ยิ่งเสียหายไปใหญ่ และถ้าคนในร่วมรู้เห็นด้วย ก็ยิ่งเสียหายมากขึ้นไปอีก”
และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเรื่องที่ผู้ต้องหาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ แต่นั่นก็จะเกิดขึ้นตาม “โรงพัก” หรือ “คุก” แต่สำหรับ “ดีเอสไอ” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำคดีสำคัญๆ ของประเทศ จะต้องมีความระมัดระวังมากกว่าหน่วยงานธรรมดาทั่วไป
อีกทั้งดีเอสไอ เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติิธรรมชั้นต้นหน่วยงานหนึ่งที่ประชาชนไว้ใจ และฝากความหวังในการได้รับความยุติธรรม และการเกิดขึ้นของดีเอสไอ เมื่อปี 2545 ส่วนหนึ่งก็มาจากสังคมเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อตำรวจ จึงต้องการมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกับตำรวจ เพื่อมาช่วยคานอำนาจและช่วยเหลือประชาชนเพิ่มขึ้น
ดังนั้นการที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ได้ให้มีหน่วยงานภายนอก มาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการตายของ “ธวัชชัย” ตั้งแต่ต้น จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากให้ดีเอสไอสอบสวนข้อเท็จจริงเพียงหน่วยงานเดียว เมื่อได้ข้อสรุปแล้วถึงจะจริงหรือไม่ ก็คงไปตอบให้สังคมยอมรับในข้อสงสัยไม่ได้
เพราะว่าการตายของ “ธวัชชัย” มี “เงื่อนงำ” ทำให้ผู้คนสงสัยไม่น้อยหากมองย้อนไปก็จะเห็น
29 สิงหาคม 2559 ชุดปฏิบัติการพิเศษ ดีเอสไอ นำหมายจับเข้าจับกุมตัว “ธวัชชัย” ได้ และเมื่อชุดจับกุมนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีสอบปากคำ ระหว่างนั้น “ธวัชชัย” ยังมีอาการยิ้มแย้ม และบอกว่าจะขอใช้สิทธิประกันตัวในชั้นศาลที่จะมีการนำไปฝากขังในวันถัดไป แต่กลับเสียชีวิตเสียก่อนที่จะถึงรุ่งสาง
ขณะที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตายของ “ธวัชชัย” ในช่วงแรกข่าวออกมาว่าเขาใช้ “เสื้อ” ผูกคอตาย ต่อมากลายเป็นใช้ “ถุงเท้า” ผูกคอ แต่ญาติผู้ตายระบุว่าบาดแผลที่คอเป็นรอยรัดขนาดเล็ก คาดเดาว่าเป็นรอย เชือก หรือ ลวด มากกว่าจะเป็นถุงเท้า
และหากเป็น “ถุงเท้า” ก็ยังมีข้อสงสัยกันว่า ถุงเท้าของผู้ต้องหาที่มีความยาวแค่ครึ่งหน้าแข้ง จะใช้ผูกคอตายได้ด้วยหรือ
นอกจากนี้ในเรื่องห้องขังมี “กล้องวงจรปิด” หรือไม่ ข่าวก็ออกมาสับสน ตอนแรกข่าวว่าห้องขังไม่มีกล้องวงจรปิด แต่ต่อมาข่าวกลับออกมาว่ามีกล้องวงจรปิด แต่ “เซิร์ฟเวอร์” เสีย
ล่าสุด ดีเอสไอ ออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อเคลียร์เรื่องนี้ สรุปว่า ห้องขังไม่มีกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด ดังนั้นเกิดอะไรขึ้นภายในห้องขัง ก็จะไม่มีภาพบันทึกขณะเกิดเหตุไว้
แต่ที่ยุ่งขึ้นไปอีก เมื่อรายละเอียดในใบแจ้งการตายจากสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า “ตับแตก” มีเลือดออกในช่องท้อง จากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก ร่วมกับการขาดอากาศหายใจ
ทำให้ผู้คน “ฉงน” ว่า ผูกคอฆ่าตัวตาย “ตับแตก” ได้ด้วยหรือ และลำพังการปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิตธวัชชัยของเจ้าหน้าที่ “ตับแตก” ได้ไหม
31 สิงหาคม 2559 ดีเอสไอ ออกมาระบุว่าที่ “ธวัชชัย” ผูกคอตาย สันนิษฐานว่าเกิดจากความเครียด เพราะหาก “ธวัชชัย” ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ จะถูกอายัดตัวอีกหลายคดี และคดีทุจริตออกเอกสารสิทธิมิชอบที่ธวัชชัยถูกดำเนินคดี มีพยานเอกสารชัดเจน แม้จะไม่มีตัวผู้ต้องหาคือธวัชชัยให้การในชั้นสอบสวนก็ไม่มีผลต่อรูปคดี ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องฆ่าตัดตอนแต่อย่างใด และอาจเป็นไปได้ที่สาเหตุของการมีเลือดออกในช่องท้องและตับแตกเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ
แต่เรื่องต้อง “ร้อนฉ่า” ขึ้น เมื่อในวันที่ 1 กันยายน 2559 พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาล ได้จัดโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงตอบข้อสงสัยต่อสื่อมวลชน
"ดีเอสไอแจ้งเหตุว่ามีคนเป็นลมหมดสติ ไม่ได้แจ้งว่ามีเหตุผูกคอฆ่าตัวตาย ส่วนการปั๊มหัวใจคนไข้เพื่อกู้ชีพก็ดำเนินการตามหลัก อีกทั้งอวัยวะภายในหัวใจ-ปอด ถูกกั้นด้วยกระบังลม จึงแยกส่วนออกจากตับ ไม่มีทางที่การปั๊มหัวใจจะส่งผลให้ตับแตก"
สรุปว่าประเด็นสำคัญของการแถลงของ “หมอเหรียญทอง” ในครั้งนี้ อยู่ที่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าการปั๊มหัวใจคนไข้ที่ถูกต้องจะกระทำเฉพาะช่วงอกเท่านั้น ส่วน “ตับ” อยู่ที่ช่องท้อง จึงไม่มีทางทำให้ “ตับแตก” ได้
แค่นั้นไม่พอ...ต่อมาในวันที่ 3 กันยายน “หมอเหรียญทอง” ได้โพสต์ข้อความผ่าน “เฟซบุ๊กส่วนตัว” ตั้งข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตของธวัชชัยอาจเป็นการ “ถูกฆาตกรรม” และมีเจ้าหน้าที่ภายในดีเอสไอรู้เห็นด้วย วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดผลกระทบกับทางองค์กรให้ตกอยู่ในสถานะผู้ร้ายทางสังคม การฆาตกรรมธวัชชัยจึงอาจเป็นการทำให้สังคมเข้าใจไปในทิศทางว่าผู้เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงโฉนดที่ดินเป็นผู้บงการโดยได้รับความร่วมมือจากดีเอสไอ เพื่อทำลายชื่อเสียงของดีเอสไอ เพราะอาจมีผู้ที่ี่กำลังถูกดีเอสไอดำเนินคดีอยู่นำเหตุผลดังกล่าวไปเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง
ทำให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ถึงกับออกอาการ “ฉุนขาด” และออกมาตอบโต้ทันควันว่า คนที่พูดมีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ออกมาพูดจาทำให้สังคมสับสน
"ผมอยากถามว่าคุณเป็นมนุษย์ประเภทไหน สังคมต้องเลือกฟังข้อมูลเพราะคนที่ออกมาพูด ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ สิ่งที่สังคมตั้งคำถาม ต้องทำความจริงให้ปรากฏด้วยความโปร่งใส เอาหน่วยงานกลางเข้ามาร่วมตรวจสอบ แต่มาวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์กันอย่างโน้น อย่างนี้ มันไปทำให้องค์กรอื่นเสียหาย ผมว่าการออกมาพูดแบบนี้ ไม่ค่อยมีวุฒิภาวะเป็นถึงนายพล เป็นถึงแพทย์ต้องมีจรรยาบรรณ ถ้าผมจะพูดบ้างว่าคุณออกมาพูดเพื่อต้องการเบี่ยงเบนของโรงพยาบาลหรือไม่ โรงพยาบาลมีหน้าที่ชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น ก็แค่นั้น ข้อเท็จจริงก็อยู่ในสำนวนการสอบซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดำเนินอยู่ จะพูดไปเพื่ออะไรไม่เข้าใจ”
อย่างไรก็ตาม การตายของ “ธวัชชัย” ยังต้องเดินหน้าคลี่คลายกันต่อไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
คือ 1.ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง” เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของธวัชชัย โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว นอกจากมีเจ้าหน้าทีี่สังกัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว ยังมีคนนอก คือ แพทย์นิติเวชจาก 3 สถาบัน มาร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยมีเวลาดำเนินการให้เสร็จภายใน 15 วัน ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบเสร็จแล้ว ก็จะดำเนินการใน 2 ประเด็น คือ 1.หากพบว่ามีมูลว่าเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็ต้องดำเนินทางวินัย 2.หากเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญา ทางกระทรวงยุติธรรมก็จะแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน
2.ในส่วนของพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ท้องที่เกิดเหตุ ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน ในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากตามกฎหมายเมื่อปรากฏแน่ชัดหรือเกิดเหตุสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ เช่น ฆ่าตัวตาย หรือถูกผู้อื่นทำให้ตาย หรือตายอยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ต้องมีการ “ชันสูตรพลิกศพ” และเมื่อพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น ก็จะส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของธวัชชัยว่ามาจากอะไร
ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งออกมาว่าเสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตายเอง ปมการตายของธวัชชัยก็คงสิ้นสงสัย แต่ถ้าหากศาลสั่งว่ามีใครทำให้ธวัชชัยตาย พนักงานสอบสวนก็จะไปตั้งสำนวนใหม่เป็นคดีอาญาดำเนินคดีกับบุคคลนั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม การตายของ “ธวัชชัย” ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอ ต้องเร่งดำเนินการทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว รวมทั้งต้องกลับมาทบทวนการปฏิบัติงานของตัวเองที่ผ่านมาว่ามีข้อบกพร่องอะไรที่ต้องมาแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม
เพื่อให้สมกับความคาดหวังของประชาชนและสังคมที่ให้ความไว้วางใจและให้ความศรัทธา
------------------------
(คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : การตาย “ธวัชชัย อนุกูล” ท้าทายภาพลักษณ์ “ดีเอสไอ” : โดย...สำนักข่าวเนชั่น)