คอลัมนิสต์

‘ปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มจากผู้มีอำนาจ’

‘ปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มจากผู้มีอำนาจ’

08 ส.ค. 2559

‘ปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มจากผู้มีอำนาจ’  : ทีมข่าว"ไพรม์ไทม์”เนชั่นทีวี ช่อง22

           ...คงจะมีคำถามว่า คสช.ได้ทำอะไรไปบ้าง? เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีการปฏิรูปตำรวจ เพราะในยุคหนึ่งแวดวงสีกากีมีคำขวัญว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจทำไม่ได้” แต่ในวันนี้ ภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน ดูเหมือนว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ตำรวจจะต้องทำ

           เป็นที่รู้กันว่า คสช.ที่เข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นนายทหาร โดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า น้องชายของ พล.อ.ประวิตร คือ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังมีบารมีอยู่เต็มเปี่ยม และน่าจะมองเห็นแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะเป็น โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล และการพัฒนาเพื่อให้ตำรวจเป็นตำรวจมืออาชีพได้ไม่ยากนัก

           ขณะเดียวกันยังมีหน่วยงานอย่างน้อย 3 แห่ง ที่รับไปเสาะหาแนวทางการปฏิรูปกิจการตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อไม่นานมานี้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกรอบในการปฏิรูปตำรวจ 4 แนวทาง คือ 1.ตำรวจต้องมีความเป็นอิสระ ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองให้ได้มากที่สุด 2.การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม 3.ปฏิรูปการสอบสวน เพราะที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชามักจะเข้ามาแทรกแซงสำนวนการสอบสวน โดยที่มีผู้อิทธิพลจะเข้ามาครอบผู้บังคับบัญชาอีกต่อหนึ่ง และ 4.ต้องปฏิรูปการถ่ายโอนงานที่ไม่ใช่งานของตำรวจให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบ เพราะทุกวันนี้ภารกิจของตำรวจมีมากเกินไป

           ทั้ง 4 เรื่องนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ได้จากแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้รวบรวมและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในก่อนหน้านี้ แต่ สปท.ได้เสนอแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจไว้ทั้งหมด 8 เรื่องพร้อมแนวทางแก้ไข เช่น เรื่องระบบงานสอบสวน เป็นต้น

           แต่ดูเหมือนว่าความพยายามปฏิรูปตำรวจยังไม่ทันได้เริ่มต้น ปัญหาเดิมๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายก็กลับมาเป็นกระแสอีกคราว โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับสารวัตรถึงรองผู้บังคับการ ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าการจัดวางคนไปรับผิดชอบยังมีความผิดพลาดและช่องโหว่ เช่น นายตำรวจซึ่งทำหน้าที่จราจรกลับถูกย้ายไปทำหน้าที่สืบสวน

           แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจหัวหน้าคสช.มอบอำนาจให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.จัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายแบบเบ็ดเสร็จ แต่ในวงการตำรวจต่างก็รู้กันดีว่า อำนาจที่ว่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาทยังคงถูกกล่าวถึง และเมื่อคราวใดที่บางคนพูดถึง พล.ต.อ.พัชรวาท มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประวิตร จนเป็นที่ร่ำลือกัน

           ...อาจมีคำถามว่า ทิศทางการปฏิรูปตำรวจในยุคคสช. เป็นอย่างไรกันแน่? เพราะขณะที่ คสช. พยายามผลักดันการปฏิรูปตามข้อเสนอแนะของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดูเหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีแนวคิดเป็นของตัวเองในเรื่องนี้

           พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลการปฏิรูปของตำรวจ เปิดเผยกับไพรม์ไทม์ว่า การปฏิรูปตำรวจทั้งระบบประกอบด้วย 10 ประเด็นคือ 1.การปรับปรุงการบริหารงานบุคคล 2.การกระจายอำนาจการปฏิบัติงาน 3.การพัฒนาระบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย 4.ค่าตอบแทนและสวัสดิการ 5.การจัดหาอุปกรณ์ประจำกายและประจำหน่วยที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน 6.การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น 7.การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการทำงานร่วมกับท้องถิ่น 8.การจัดระบบนิติวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลืองานด้านการอำนวยความยุติธรรม 9.การสรรหาและฝึกอบรมข้าราชการตำรวจให้มีความพร้อมในการทำงาน และ 10.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานในหน้าที่หลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีกรอบระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จอยู่ 3 ช่วง คือ ในระยะเร่งด่วน 1 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 20 ปี

           ขณะที่ “พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน” โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม บอกกับไพรม์ไทม์ว่า หากจะปฏิรูปตำรวจให้ได้ ต้องแยกการเมืองออกจากตำรวจ ซึ่งรูปแบบที่มีการเสนอคือการสกัดนักการเมือง โดยการตั้งเป็นคณะกรรมการแบบอัยการและศาล เมื่อได้ตัวผบ.ตร.แล้ว นายกฯ จะสั่งตรวจคุณสมบัติก่อนแต่งตั้ง

           ...แต่มีคำถามที่ดูเหมือนจะไม่มีใครให้คำตอบได้ คือ ขณะที่คสช.และรัฐบาลมีความมุ่งมั่นปฏิรูปตำรวจให้ได้ แต่ตัวบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลมีความตั้งใจและจริงจังแค่ไหนที่จะเดินหน้ากับการปฏิรูป ?

           เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ของตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ที่ล่าช้าท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้เส้นสายและการวิ่งเต้น อาจจะเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่งว่าการปฏิรูปตำรวจจะเป็นไปได้แค่ไหน...

           ติดตาม "ไพรม์ไทม์กับเทพชัย” ได้ทุกวันเสาร์ 19.50-20.50 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 หรือ https://www.facebook.com/Primetime กับเทพชัย