“เอ๋-ชนสวัสดิ์”แม่ทัพ“อัศวเหม”สู้เลือกตั้งปากน้ำ
ทันทีที่เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการ ปล่อยตัวนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม หรือเอ๋ อดีตนายกอบจ.สมุทรปราการ เมื่อเช้าวันที่ 7 กันยายน 59 ที่ผ่านมา
ทำให้สนามการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในจังหวัดสมุทรปราการ คึกคักขึ้นทันตาเห็นหลังเงียบเหงาไปช่วงหนึ่ง ช่วงที่ศาลพิพากษาจำคุกนายชนม์สวัสดิ์ 1 ปี 6 เดือน ในคดีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ (สท.สมุทรปราการ) เมื่อปี 42 โดยศาลพิพากษา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 59
จากนั้นไม่นาน นายพูลผล อัศวเหม นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพี่ชายคนรองของนายชนม์สวัสดฺิ์ ก็เสียชีวิตจากการช็อกขณะออกกำลังภายในบ้านพัก บ้านเลขที่ 111 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ นายพูลผลเสียชีวิตเป็นช่วงเดี่ยวกับช่วงที่นายชนม์สวัสดิ์อยู่ในเรือนจำ ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวตระกุล“อัศวเหม”ซึ่งคุมการเมืองปาก ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติมานาน ตั้งแต่ยุคของ นายวัฒนา อัศวเหม ผู้เป็นพ่อที่หนีคดีคลองด่านไปต่างประเทศ
เมื่อ“เอ๋-ชนม์สวัสดิ์” ได้รับพักโทษเพราะถูกจำคุกมา 2 ใน 3 และถูกปล่อยตัวออกมา ก็ทำให้ตระกุล“อัศวเหม”แห่งปากน้ำ ได้แม่ทัพการเมืองแทนนายพูลผลที่เสียชีวิตไป ว่าไปแล้ว นายชนม์สวัสดิ์เป็นนักการเมืองที่ใจนักเลง มีความเป็นลูกผู้ชาย วันที่ไปฟังฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทุจริตเลือกตั้งสท.สมุทรปราการ ก็ไปอย่างสง่าผ่าเผย ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าคดีนี้มีโอกาสรอดอยาก แต่มารับคำพิพากษา และยอมถูกจองจำ ตามขบวนการยุติธรรม
ก่อนหน้านั้น นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ผู้เป็นบิดาของ“เอ๋-ชนม์สวัสดิ์” และแม่ทัพของตระกุล“อัศวเหม” ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีทุจริตคลองด่าน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 51 ให้ลงโทษจำคุกนายวัฒนา เป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่นายวัฒนาจะยื่นขออุทธรณ์ แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา ทำให้นายวัฒนาต้องหลบหนีโทษจำคุกไปใช้ชีวิตในต่างแดนถึงปัจจุบัน
ตระกูล“อัศวเหม”ยุคแรกมีพี่น้อง 4 คน คือ นายสมบูรณ์ อัศวเหม นายวัฒนา อัศวเหม นายสมพร อัศวเหม และนายอมรศักดิ์ อัศวเหม (น้องชายต่างมารดา) โดยนายวัฒนา อัศวเหม เจ้าพ่อปากน้ำ เดิมชื่อ “กิมเอี่ยม แซ่เบ๊” ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น ‘อัศวเหม’ ซึ่งแปลว่า ม้า ทำธุรกิจโดยได้รับการสนับสนุนจากนายสังข์ พัธโนทัย คนสนิทจอมพล ป.พิบูลสงคราม (นายสังข์เป็นบิดานายมั่น พัธโนทัย) และนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หรือ“โควตงหมง”อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายวัฒนา อัศวเหม เข้าสู่เส้นทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 18 โดยลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการ ในนามพรรคสังคมชาตินิยม ของนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หัวหน้าพรรคและได้รับการเลือกตั้งสมความตั้งใจ จากนั้นนายวัฒนา ก็กลายเป็นส.ส.ผูกขาดจ.สมุทรปราการ มาตลอด 10 สมัย และเป็นรัฐมนตรี 6 ครั้ง
ก่อนที่สนามเลือกตั้งสมุทรปราการจะถูกพรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยึดครองเมืองปากน้ำแบบเบ็ดเสร็จ แม้กลุ่มการเมืองของนายวัฒนา อัศวเหม พยายามรักษาพื้นที่ส.ส.โดยส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงสนามทุกครั้ง โดยใช้ชื่อพรรคราษฎร, พรรคมหาชน, พรรคเพื่อแผ่นดินและพรรคมาตุภูมิ แต่สู้กระแส“ทักษิณ”ไม่ได้ และการเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม 54 ทายาท“อัศวเหม”ที่สวมสีเสื้อพรรคมาตุภูมิ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งนายอัครวัฒน์ อัศวเหม (ลูกชายนายสมบูรณ์ พี่ชายนายวัฒนา) และนายพูลผล อัศวเหม (ลูกชายนายวัฒนา) หวังชิง 2 ที่นั่ง จาก 7 ที่นั่ง แต่พ่ายแพ้พรรคเพื่อไทยที่กวาดที่นั่งแบบเบ็ดเสร็จ
หลังแพ้เลือกตั้งส.ส. นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ผันตัวจากนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ มาชิงตำแหน่งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด(อบจ.) สมุทรปราการในปี 54 และกู้ศักดิ์ศรีให้คนในตระกูล“อัศวเหม”คืนมาได้ เมื่อได้รับเลือกเป็นนายกอบจ.สมุทรปราการ และต่อมา“ตระกูลอัศวเหม” มีการวางตัวบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนลงรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลหรืิอแม้แต่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รับรู้กันว่า 80% ล้วนแต่เป็นเครือข่ายหรืออยู่ในฟากของ“อังศวเหม”แทบทั้งสิ้น
เมื่อ“เอ๋”ชนสวัสดิ์ ได้รับอิสระภาพแน่นอนว่า เขาต้องกลับมารับบทแม่ทัพตระกุล“อัศวเหม” เพื่อรักษาฐานการเมืองของตระกูลเจ้าพ่อปากน้ำเอาไว้ เพราะพี่ชายคนโต คือ นายพิบูลย์ อัศวเหม(เปลี่ยนชื่อเป็นวริทชนวีร์) ก็ทำธุรกิจอย่างเดียวไม่ยุ่งการเมืองและดูแลธุรกิจของตระกูลเป็นหลัก พีคนรองนายพูลผล อัศวเหม ก็เสียชีวิตไปแล้ว มรดกการเมืองทั้งหมดจึงตกอยู่ที่นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม น้องคนเล็กนั้นเอง
โดยมีพี่น้องตระกูล“อัศวเหม”ที่อยู่ในแวดวงการเมืองท้องถิ่นจ.สมุทรปราการ มีนายอัครวัฒน์ อัศวเหม รองนายกอบจ.สมุทรปราการ นางสุกัญญา อัศวเหม ประธานสภาอบจ.สมุทรปราการ (ลูกนายสมบูรณ์พี่ชายของนายวัฒนา) นายวรพร อัศวเหม ประธานสภาเทศบาลตำบลบางปู(ลูกนายสมพรน้องของนายวัฒนา) นายต่อศักดิ์ อัศวเหม (ลูกนายอมรศักดิ์น้องต่างมารดาของนายวัฒนา) รองนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ ให้การสนับสนุนทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อรับมือการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นปลายปี 60 หรือ ต้นปี 61 ตามโรดแม็บของคสช.กำหนดไว้
โดย - นายคลองหลอด