ความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน
ความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน : บทบรรณาธิการประจำวันที่3ส.ค.2559
การปฏิรูปตำรวจมีหัวใจที่จะทำให้ประชาชนเกิดความน่าเชื่อถืออยู่ไม่กี่เรื่องหนึ่งในนั้นคือ งานสอบสวน ซึ่งหลายฝ่ายทั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่างเห็นพ้องต้องกัน เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อร้องเรียนถึงการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนมากมาย มีความพยายามจะสร้างกลไก เพื่อให้งานสอบสวนอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเป็นกลางและน่าเชื่อถือที่สุด แต่ปัญหาหลักๆ คือพนักงานสอบสวนมีการเป่าคดี ไม่รับแจ้งความ ไม่ไปดูที่เกิดเหตุ ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าให้แก่ผู้เสียหาย ที่สำคัญที่สุดคือ ทำคดีไม่เป็น เรียกรับเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ระบบความยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ เป็นจุดที่ประชาชนเห็นชัดและสัมผัสมากที่สุด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสายตาประชาชนไม่ดีและไม่มีต้นทุนทางสังคมเหลืออยู่ ดังนั้นการปฏิรูปงานสอบสวนจึงเป็นหัวใจหลักที่ประชาชนสามารถแตะต้องได้มากกว่างานด้านอื่น
จะว่าไปแล้วงานสอบสวนถือเป็นหัวใจของคดีความ เป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาอาชญากรรมได้ ปัจจุบันผู้ที่กระทำความผิดไม่ได้เกรงกลัวต่อตำรวจ ไม่ได้เกรงกลัวต่อการทำสำนวนการสอบสวนที่รัดกุม ในความเป็นจริงงานสอบสวนควรรวมไปถึงการสืบสวน การป้องกันและปราบปรามการพิสูจน์ทราบผู้กระทำความผิด แต่สภาพในปัจจุบันพบว่า เมื่อเกิดคดีความพนักงานสอบสวนถ้าออกไปดูที่เกิดเหตุก็จะเก็บพยานหลักฐาน ถ้าหามาได้ สอบสวนพยานที่เห็นเหตุการณ์ วัตถุพยาน เป็นต้น จากนั้นก็นำมาประกอบในสำนวนการสอบสวน แต่การติดตามคนร้ายเป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ไม่รู้ว่า งานสืบสวนคืบหน้าไปถึงไหน เพราะต่างคนต่างแยกกันทำ มิหนำซ้ำบางคดีเมื่อผู้เสียหายขึ้นไปแจ้งความยังพบกับความเจ็บช้ำซ้ำสองเพราะพนักงานสอบสวนบางคนไล่ให้ผู้เสียหายไปหาหลักฐานมาให้ ประชาชนตาดำๆ จะไปรู้ว่าจะเอาหลักฐานมาจากไหน ได้อย่างไร บางคนถึงกับปล่อยผ่านไม่ไปแจ้งความก็มี
ดังนั้นระบบงานสอบสวนจึงเป็นงานหลักที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแก้ไขเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากงานสอบสวนมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นต่อภาพหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง เพราะเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายตำรวจนายแรกๆ ที่ประชาชนต้องเจอคือ พนักงานสอบสวน หากเจอคนที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความกระตือรือร้น ก็ถือว่าโชคดีไป แต่ส่วนมากจะพบกับความผิดหวัง แนวคิดการจัดระบบงานสอบสวน โดยให้เพิ่มผู้ช่วยเจ้าพนักงานของสภาปฏิรูปฯ หรือในส่วนขององค์กรตำรวจเอง ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติต้องมีความชัดเจน ทั้งในแง่คำสั่ง การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับความมีส่วนร่วมของผู้บังคับบัญชาในทุกระดับตั้งแต่โรงพักถึงกองบังคับการ การเติบโตในชีวิตราชการ เงินค่าตอบแทนพิเศษต่างๆ สิ่งเหล่านี้มีความจำเป้น ถ้าสังคมคาดหวังว่าตำรวจต้องทำได้ทุกอย่าง บำบัดทุกข์ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ก็ต้องทำให้คนในองค์กรมีชีวิตที่ดีเสียก่อน เพราะในปัจจุบันตำรวจอยู่กันอย่างเจียมตัว เงินงบประมาณที่จะใช้ในงานทั้งการป้องกันปราบปราม งานสืบสวน ที่ต้องใช้เงิน ไม่มีงบประมาณหรือการเบิกจ่ายที่รวดเร็วพอ ทำให้กระบวนการด้านนี้ติดขัด ไม่สามารถทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือ การจะปฏิรูปองค์กรตำรวจต้องมีหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนรวม ทั้งภาครัฐและสังคม หาจุดกึ่งกลาง ความเหมาะสม ทั้งในแง่กฎหมายและการบริหารงาน ทำให้จะเป็นส่วนหนึ่งให้กระบวนการยุติธรรมถูกยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ