
ทำไมประเทศไทยต้องมี รัฐธรรมนูญ ด้วย?
ต้องมี รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันว่าผู้มีอำนาจจะไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจมากเกินไป
กฎหมายที่ชื่อว่า “ รัฐธรรมนูญ ” ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดยมีที่มาจากการพ่ายแพ้สงครามระหว่างอังกฤษกับชาวอาณานิคมที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ 13 แห่งในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2326 ชาวอาณานิคมได้ประกาศอิสรภาพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2331 มีการนำหลักการดังกล่าวมาเป็นแนวทางการปกครองประเทศ เรียกเอกสารนั้นว่า Constitution หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ รัฐธรรมนูญ ” นั่นเอง
ปัจจุบันไม่ว่าในระบอบการปกครองใดย่อมถือว่า รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งกฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับ รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่ได้มีการบัญญัติ รัฐธรรมนูญ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่เรียกว่า ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil law) บางประเทศ รัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ใช้ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีในการปกครองประเทศเป็น รัฐธรรมนูญ เรียกว่า ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common law) เช่น ประเทศอังกฤษ ส่วนการได้มาของ รัฐธรรมนูญ แต่ละประเทศแตกต่างกันไป เช่น จากการเรียกร้องของประชาชน หรือจากการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ผู้ที่สามารถจัดให้มี รัฐธรรมนูญ ได้ต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดหรือรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น เพราะรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย สำหรับประเทศไทยถือว่า พระมหากษัตริย์ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน รัฐธรรมนูญ แก่ปวงชนชาวสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475
โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ของรัฐ สัมพันธภาพระหว่างฝ่ายบัญญัติกฎหมาย ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและฝ่ายชี้ขาดข้อกฎหมาย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐและสิทธิหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือกล่าวโดยรวมว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่วางระบบการปกครองประเทศที่เกี่ยวกับที่มาของอำนาจ ที่มาของการใช้อำนาจ และที่มาของการควบคุมการใช้อำนาจ
จากหลักการที่ว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ไม่ว่าประเทศนั้นจะปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบการปกครองอื่นใด ต่างก็ต้องมีการบัญญัติหลักเกณฑ์การบริหารประเทศไว้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็น รัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตยนั้น นอกจากจะเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ยังต้องเป็นหลักเกณฑ์ที่วางระบบการปกครองโดยยึดหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยผู้ปกครองที่จะมาใช้อำนาจต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ และต้องใช้อำนาจในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และยังต้องถือว่าอำนาจการปกครองนั้นเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน รวมถึงมีการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ปกครองให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ฉะนั้นประชาชน หน่วยงาน องค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการจะใช้อำนาจหน้าที่โดยอำเภอใจเกินกว่าที่ รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ไม่ได้ ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” จึงแตกต่างจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบการปกครองอื่นที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ และไม่สามารถควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ปกครองให้อยู่ในหลักของนิติรัฐและนิติธรรมได้
ย้อนมาที่คำถามว่า ทำไมประเทศไทยต้องมี รัฐธรรมนูญ ด้วย ตอบได้ว่า เพราะ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับได้บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และบัญญัติถึงที่มาของอำนาจ การใช้อำนาจและการตรวจสอบการใช้อำนาจ หลักประกันรับรองถึงสิทธิเสรีภาพของปวงชน กล่าวคือ สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน มีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว และอื่นๆ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของปวงชน เช่น ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอื่นๆ ตลอดจนกำหนดหน้าที่ของรัฐ คือ รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและอื่นๆ
บทบัญญัติเหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าผู้ใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องบริหารราชการแผ่นดินในเป็นไปตามนโยบายและกฎหมาย ใครเข้ามาเป็น ส.ส.และ ส.ว. ก็ต้องบัญญัติกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ และใครเข้ามาเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวด้วย หากไม่มีสิ่งเหล่านี้บัญญัติไว้ลองนึกดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขนาด รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้แล้วว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่ผู้ทรงเกียรติยังแหวกช่องโหว่ รัฐธรรมนูญ กันหน้าตาเฉย ดังนี้แหละจึงเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยจำต้องมี รัฐธรรมนูญ เพราะอย่างน้อยก็เป็นหลักประกันว่าผู้มีอำนาจจะไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจมากเกินไป
----------------------
(กฎหมายกับสังคม : ทำไมประเทศไทยต้องมี รัฐธรรมนูญ ด้วย? : โดย ... ผศ.อำนวย อินทสโร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)