
หนีคดีห้าม'อุทธรณ์-ฎีกา'
หนีคดีห้าม'อุทธรณ์-ฎีกา' : บทบรรณาธิการประจำวันที่14ก.ค.2559
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ โดยสาระสำคัญเพื่อไม่ต้องการให้จำเลยที่หนีคดีสามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งจำเลยจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล หากไม่แสดงตนศาลจะไม่รับพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งเดิมมาตรา 182 ประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า กรณีใดที่ศาลออกหมายจับแล้ว ไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 1 เดือน ให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ และถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาแล้ว ซึ่งจำเลยก็จะใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ โดยให้ทนายเป็นผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี อีกทั้งจำเลยหนีคดี จึงขอให้แก้กฎหมาย
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.... มีสาระสำคัญให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แยกเป็นศาลเฉพาะ ใช้ระบบไต่สวนต่างจากคดีอาญาทั่วไป มี 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ครอบคลุม 6 ประเภทคดี อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อหน้าที่ คดีฐานฟอกเงิน หรือความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ คดีอาญาเรียกรับผลประโยชน์หรือใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการ คดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และคดีร้องให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่องอายุความในกรณีที่จำเลยหลบหนีจะไม่นับอายุความ จึงต่างจากคดีอาญาทั่วไป
จะว่าไปแล้วในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาคดี ในบางเรื่องคณะรัฐมนตรีก็มีมติไม่อนุมัติในหลักการ เช่น เรื่องประมวลกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของศาล โดยสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นฝ่ายเสนอ โดยระบบศาลปัจจุบันมี 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยคดีหนึ่งใช้ระยะเวลาไม่น้อย บางคดีถึง 10 ปี จึงให้บางคดีที่ได้แก้ไขแนวทางการดำเนินการให้สิ้นสุดแค่ศาลอุทธรณ์ เช่นเดียวกับคดีแพ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถฎีกาได้ ถ้าจะฎีกาทางศาลจะตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าจะรับฎีกาหรือไม่ แต่เรื่องนี้หลายหน่วยงานไม่เห็นพ้องด้วย เพราะคดีแพ่งเป็นคดีทรัพย์สิน ส่วนคดีอาญาเป็นเรื่องชีวิตและสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรไปตัดกลไก ควรปล่อยให้ดำเนินการจนครบ 3 ศาล
หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล คือ นโยบายด้านการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน มีความเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกระบวนการยุติธรรมที่เข้าถึงได้ง่าย มีมาตรฐานตามหลักสากล ทั้งนี้มีการเร่งรัดปรับปรุงประมวลกฎหมายหลักและกฎหมายอื่นๆ ที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ รวมทั้งปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมายและค่าใช้จ่ายให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมโดยง่าย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ และถือว่าเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดประโยชน์ส่วนรวม
สังคมก้มหน้ากำลังเผชิญภัยพิบัติกลางถนน! : บทความพิเศษ โดยสุทธิชัย หยุ่น http://www.oknation.net/blog/black
ป้ายเตือน “ชาวสังคมก้มหน้า” กลางถนนกรุงโซลของเกาหลีใต้เป็นข่าวคราวไปทั่วโลกเพราะอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้คนเดินชนกันเอง หรือปะทะกับรถราที่วิ่งผ่านไปมานั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อีกหน่อยในเมืองไทยก็อาจจะมีคนเรียกร้องให้ขึ้นป้ายเตือน “อย่าก้มหน้า โปรดระวังอุบัติเหตุจากการจ้องจอมือถือ!”
เพราะปรากฏการณ์อย่างนี้ในเมืองไทยก็กำลังระบาดหนักหน่วงไม่แพ้ที่ไหนในโลก
ที่กรุงโซล, ทางการที่นั่นเพิ่งจะติดตั้งป้ายเตือนภัยอย่างนี้ 300 จุดเพื่อป้องกันไม่ให้ “มนุษย์ก้มหน้า” เล่นกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือแม้ขณะเดินอยู่กลางถนนจนไม่มองซ้ายมองขวา ไม่มองบนมองล่าง เสี่ยงกับการเดินชนกับคนอื่นหรือไม่ก็กลายเป็นภัยแก่ตนเองและคนอื่น
ศัพท์ใหม่ที่นั่นเรียก “smartphone zombies” อันหมายถึง “มนุษย์ผีดิบมือถือ”
บางเมืองในยุโรปป้องกันปัญหานี้ด้วยการสร้าง “ช่องเดินพิเศษ” สำหรับคนเล่นมือถือเพื่อการสัญจรที่ปลอดภัย
มีช่องสำหรับจักรยาน, สำหรับผู้พิการ, และบัดนี้ต้องมีช่องพิเศษสำหรับ “ผีดิบมือถือ” ที่เดินก้มหน้า ไม่ดูตาม้าตาเรืออีกต่อไป
ที่เกาหลีใต้เขาต้องมีการรณรงค์อย่างนี้เพราะสถิติเมื่อปี 2009 มีกรณีการเดินชนคนชนรถของ “ผีดิบมือถือ” ประมาณ 437 คดี แต่ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2014 เป็น 1,000 คดี
คนเกาหลีใต้มีอัตราประชากรที่เป็นเจ้าของมือถือสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และความหมกมุ่นกับมือถือได้กลายเป็นปัญหาสังคมในหลายมิติ ที่เห็นชัดที่สุดคือความถี่ของอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับมือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
แต่การติดป้ายเตือนอย่างนี้จะมีผลได้อย่างไรหากทุกคนเดินก้มหน้ามองดูจอมือถือของตนเอง ไม่เงยหน้ามามองอะไรทั้งสิ้น?
ทางแก้ทางหนึ่งคือการติดป้ายนั้นในระดับสายตาทั้งสองข้างทางเพื่อให้ผู้คนเหลือบมามองบ้าง
แต่เอาเข้าจริงๆ ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะยิ่งนับวันคนยิ่ง “ก้มหน้าก้มตา” เล่นมือถือของตนเองเท่านั้น
หรือเพียงแค่ป้ายไม่พอ จะต้องมีเสียงเตือนดังก้องกังวานกลางสี่แยกถนนหนทางต่างๆ ทำนองว่า “โปรดเงยหน้า...ท่านกำลังจะเดินชนรถสิบล้อข้างหน้า!”
แต่แม้จะใช้เสียงเตือนก็อาจไม่ได้ผล เพราะบางคนใส่หูฟังเพลงหรือรายการต่างๆ ในมือถือพร้อมกับการเคลื่อนไหวของร่างกายนั่นหมายความว่านอกจากก้มหน้าไม่มองอะไรนอกจากจอมือถือแล้ว หูก็ยังไม่รับฟังอะไรที่ไม่ได้มาจากโทรศัพท์มือถือของตัวเองอีกด้วย
ผมเห็นการ์ตูนตลกร้ายเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เสนอว่าต่อไปนี้อาจจะมีคนเสนอบริการ ช่วยจูงผู้คนที่ก้มหน้าข้ามถนนขณะสายตาเพ่งอยู่กับมือถือเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในที่สาธารณะ
นี่อาจไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป เพราะสังคมไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤติในกรณีนี้ไม่แพ้ผู้คนในประเทศอื่นๆ เช่นกัน
โรค “สังคมก้มหน้า” กำลังระบาดไปถึงในบ้าน, ห้องนอน, ห้องประชุม, โต๊ะกินข้าว, และทุกแห่งหนจนกระทบความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่รุนแรงกว่าที่จะประเมินได้
แม้นักจิตวิทยาที่เก่งที่สุดก็ยังวิเคราะห์ไม่ออก เพราะท่านเองก็ก้มหน้าก้มตาเช็กไลน์จากเพื่อนๆ อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่เงยหน้ามาพูดคุยกับเราด้วยซ้ำไป!