คอลัมนิสต์

ผลงานของตำรวจจราจร ?ตอนสุดท้าย'ลอยแพคนทำงาน'  

ผลงานของตำรวจจราจร ?ตอนสุดท้าย'ลอยแพคนทำงาน'  

29 มิ.ย. 2559

ผลงานของตำรวจจราจร ?ตอนสุดท้าย'ลอยแพคนทำงาน'  : โลกตำรวจ ปนัดดา ชำนาญสุข

ขุนพลและไพร่พลตำรวจในส่วนงานจราจรทั้งหลายได้คิดและก่อการใหญ่ในการทำงานเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้พ้นจากภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน (อบถ.) และเป็นการทำงานด้วยกระบวนการทำงานแบบมืออาชีพเสียด้วย

แต่ทำไมผู้บริหารงานสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่สื่อสารผลงานด้านนี้ให้สังคมได้รับทราบ หรือว่าความทุ่มเทในการทำงานด้านนี้ มิใช่ผลงานที่พึงประสงค์?

“ใช่เลย คนตายจากอุบัติเหตุทางถนน มากกว่าและอเนจอนาถมากกว่าอาชญากรรม แต่คดีอุบัติเหตุจราจรมีใครสนใจบ้างมั้ย?” นายตำรวจใหญ่ตั้งคำถาม พร้อมขยายความว่าการทำคดีผู้ใหญ่บ้านถูกยิงตายด้วยปมเหตุหรือเงื่อนงำทางการเมืองเป็นคดีที่น่าสนใจ? และตำรวจในพื้นที่ถูกจับจ้องติดตามจากผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือและผู้บริหารบ้านเมืองอย่างมากและใกล้ชิด

ในขณะที่เหยื่อที่ตายกลางถนนทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติจำนวนมากเกิดขึ้นในพื้นที่เช่นกัน แต่ไม่ได้รับการติดตาม กำกับ ตรวจสอบมากนัก

แน่นอน เมื่อผู้มีอำนาจสนใจในเรื่องใด เรื่องนั้นย่อมถูกจัดลำดับว่าเป็นความสำคัญอันดับแรกที่จำเป็นต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จอย่างเรียบร้อยและรวดเร็ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า ความสำเร็จในการแก้ไขป้องกัน อบถ.ในประเทศไทยขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และการให้ความสำคัญอย่างจริงจังของผู้นำแต่ละหน่วย หรืออีกนัยหนึ่งคือรัฐบาลนั่นเอง

ดังนั้น การครองแชมป์การตายกลางถนนที่ติดอันดับโลกจนเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้ถนนสาธารณะในประเทศไทย จึงเป็นภาพสะท้อนของการที่รัฐบาลและผู้นำสูงสุดของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นความสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือพัฒนาระบบความคิด และระบบงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป้าหมายคือ ทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิที่จะใช้ถนนสาธารณะอย่างปลอดภัย

แต่อย่างน้อย ในครั้งหนึ่งเมื่อปี 2553-2554 มีผู้นำตำรวจส่วนหนึ่งไม่ยอมจำนนต่อระบบงานและโครงสร้างการบริหารจัดการที่ไม่เอื้อ โดยได้รวมกลุ่มกันพัฒนาระบบงานสืบสวนอุบัติเหตุทางถนน (อบถ.) และดำเนินการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายวงจนทั่วทุกกองบัญชาการ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหา อุปสรรคตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะแก้ไข ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคนั้น

จนกระทั่งปลายปี 2558 เหล่าบรรดาไพร่พลตำรวจทั่วทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศได้ดำเนินงานตามระบบสืบสวน อบถ. ถึงแม้ว่าในบางสถานีตำรวจจะไม่มีอัตรากำลังตำรวจจราจร แต่ตำรวจสายป้องกันปราบปรามที่ทำหน้าที่หลักในการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่หรือที่ประชาชนนิยมเรียกว่า “สายตรวจ” นั้น ได้ถูกหัวหน้าสถานีตำรวจมอบหมายให้มีหน้าที่เพิ่มคือ สืบสวน อบถ.ร่วมด้วยเมื่อได้รับแจ้งว่ามี อบถ.เกิดขึ้นในพื้นที่

“ทำบุญช่วยชีิวิตคน ด้วยการทำงานอย่างมืออาชีพ” เป็นคำเชิญชวนที่ใช้ร่วมกันยามเหนื่อยล้า ท้อแท้จากการไม่มีทรัพยากรในการทำงาน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความท้อแท้ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของความไม่ยุติธรรมในการบริหารงานบุคคลภายในองค์กรตำรวจ การทำงานของหน่วยต่างๆ จึงมีลักษณะราวกับการปล่อยปละละเลย ลอยแพคนทำงาน โดยขาดการกำกับ ติดตาม สนับสนุน ขาดการส่งเสริมขวัญและกำลังใจให้สามารถทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ระบบสืบสวน อบถ.เพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการที่นับได้ว่าเป็นการวางระบบงานที่สำคัญและเป็นการปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานที่ยิ่งใหญ่ของตำรวจจราจรที่มีเป้าหมายในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีขั้นตอนที่สำคัญคือ เมื่อเกิด อบถ.ทุกราย ทันทีที่ตำรวจได้รับแจ้ง จะต้องไปยังที่เกิดเหตุเพื่อสืบสวนหาสาเหตุและนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผล ข้อมูลการวิเคราะห์เชิงสาเหตุจะถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมบริหารสถานีตำรวจเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการแก้ไขป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ กองบังคับการ และกองบัญชาการจะเป็นผู้ดำเนินการในกรณีที่เกินขีดความสามารถในการดำเนินการของสถานีตำรวจ หรือประสานงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบนั้น

ระบบสืบสวนอบถ.นี้ก็ได้รับผลกระทบจากระบบการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในห้วงเวลาที่ผ่านมาด้วยเช่นเดียวกับระบบงานอื่นๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กล่าวคือ ผู้บริหารในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายตลอด 1 ปีที่ผ่านมาต่างเฝ้ารอลุ้นคำสั่งการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งของตนเองจนกระทั่งปล่อยให้กระบวนการทำงานทั้งหมดตกอยู่ในมือของตำรวจชั้นประทวนหรือหมวดอาวุโสที่ใกล้เกษียณอายุราชการ

เมื่อมีปัญหาในการทำงานต่างต้องแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นเองไปตามมีตามเกิด หรือตามยถากรรม

ดังนั้นเมื่อทุกๆ งานตกอยู่ในมือของตำรวจชั้นผู้น้อยระดับไพร่พล กอปรกับภาระงานจำนวนมากที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกับปัญหา อุปสรรคในการทำงานจำนวนไม่น้อย บริบทเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลงานที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น ระบบที่ดีที่กำลังจะตั้งหลักได้จึงกลับถอยหลังลงไปอย่างน่าเสียดาย เช่นเดียวกับงานอื่นๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังจะเห็นได้จาก อาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยี ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคปฏิรูปนี้ก็กลับปรากฏให้เห็นจนกระทั่งเป็นข่าวบ่อยครั้งตามการนำเสนอของสื่อมวลชน

ความเสียหายจากการบริหารงานบุคคลในโลกของตำรวจที่ผ่านมาตลอด 1 ปีนี้ จึงมิใช่ตกอยู่เพียงแค่องค์กร หากแต่ ส่งผลเสียต่อประชาชน และ ประเทศชาติอย่างแท้จริง !!!!!