คอลัมนิสต์

มาเฟียอยู่สบาย-ผู้คุมเฝ้าคุกจนเกษียณ

มาเฟียอยู่สบาย-ผู้คุมเฝ้าคุกจนเกษียณ

18 มิ.ย. 2559

ถ้าจะพูดถึงคนในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำที่ไหน จะมีคนอยู่สองประเภท คือ นักโทษกับนักทัณฑวิทยาปฏิบัติการ หรือเรียกสั้นๆ ว่าผู้คุม ความยากลำบากก็แตกต่างกันไป

           เพราะนักโทษนั้น เมื่อเข้ามาถูกคุมขังในคุกแล้ว อิสรภาพก็จะสิ้นสุดลง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความ อิสรภาพจะหนีหายไปจากชีวิต เพราะเมื่อรับโทษครบตามกำหนดแล้ว ก็จะได้รับการปล่อยตัว แต่สำหรับผู้คุมแล้ว เขาบอกว่า ชีวิตของพวกเขาจะพ้นจากคุกก็ต่อเมื่อเกษียณอายุราชการ
     
           อาหารที่ถูกลำเลียงลงจากรถที่เข้ามาส่งในคุกแต่ละวัน ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่พอจะมีสตางค์ สามารถซื้อหามากินได้ ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่า หรือขนมปังที่น่าจะมีราคาแพง รวมทั้งทุเรียนที่ตอนนี้ราคาในตลาดกิโลกรัมละกว่า 100 บาท เป็นอาหารที่ถูกส่งไปให้นักโทษที่สั่งซื้อไปรับประทาน
 
           กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รักษาราชการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ บอกว่า เดิมทีก็ให้ผู้คุมนำอาหารมากินเองได้ แต่ระยะหลังมีปัญหาเรื่องสิ่งของต้องห้ามถูกพบบ่อย ก็เลยตัดปัญหาให้ทำครัวเลี้ยงผู้คุมด้วย แต่สำหรับนักโทษนั้น หากต้องการกินอาหารพิเศษจากภายนอก ก็สามารถใช้เงินซื้ออาหารมารับประทานได้
     
           กิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม บอกว่า มีระเบียบห้ามนักโทษพกเงิน แต่นักโทษจะนำเงินมาฝากไว้ที่เรือนจำซึ่งนักโทษในเรือนจำกลางคลองเปรมมีประมาณ 8,100 คน มีเงินฝากรวมกันกว่า 70 ล้านบาท แต่เรือนจำมีระเบียบให้นักโทษ 1 คน ใช้เงินได้ไม่เกินวันละ 300 บาท

           ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมบอกว่า เรื่องขาใหญ่ในเรือนจำนั้นเป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งก็อาจจะขอเลี้ยงพิซซ่านักโทษด้วยกัน ที่ผ่านมาก็เคยมาขออนุญาตเลี้ยงพิซซ่า 400 ถาด ก็เคยมี
 
           “ลองหลับตานึกภาพพิซซ่า 400 ถาด ที่ขนเข้ามาในเรือนจำก็คงจะใช้รถหกล้ออย่างน้อย 1 คัน และพิซซ่าเหล่านั้นก็คงจะเพียงพอที่จะเลี้ยงนักโทษที่แต่ละแดนมีราวๆ 800 กว่าคนได้” เขาระบุ
 
           แต่สัดส่วนนักโทษ 800 กว่าคน เมื่อเทียบกับผู้คุมที่มีเพียง 14-15 คนต่อแดนแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เขาเหล่านั้นจะบังคับ หรือจูงใจให้นักโทษที่กระทำความผิดจากสารพัดคดีให้มีระเบียบวินัยได้

           ผู้คุมรายหนึ่งบอกต่อทีมงานไพรม์ไทม์ว่า อยู่ที่นี่ใช้ใจล้วนๆ สัดส่วนนักโทษกับผู้คุมมันเทียบกันไม่ได้ หากเกิดการกระทบกระทั่งมาแค่นักโทษกรูกันเข้ามาจับแขนจับขาได้ก็จบแล้ว
 
           ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมบอกว่า เมื่อก่อนรับผู้คุมเข้ามาทำงานแค่จบ ปวช.ก็ได้แล้ว แต่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เพราะมีอายุน้อยกว่านักโทษ ทำงานไม่ได้ เพราะบางคนกลายเป็นลูกน้องนักโทษไปเลยก็มี ก็เลยมีการขยับเป็นระดับ ปวส. และเมื่อเข้ามาเป็นผู้คุมก็จะมีสวัสดิการ มีเบี้ยเลี้ยง มีที่พักให้ รวมไปถึงซักรีดเครื่องแบบ ดูแลให้หมด หรือบางคนภรรยาทำอาหารอร่อยก็สามารถทำเรื่องขอเอามาขายเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัวอีกด้วย
 
           เว้นแต่ผู้คุมที่ไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งหากมีการค้นเจอสิ่งของต้องห้าม ผู้คุมที่ดูแลบริเวณนั้นก็จะต้องถูกย้ายทันที ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ต้องย้ายไปรัศมี 200 กิโลเมตร
 
           ชีวิตในคุกถึงจะยากง่ายแตกต่างกัน แต่ลงได้ชื่อว่าคุกแล้ว ก็คงไม่มีใครอยากเข้าไปสัมผัสบรรยากาศเกิน 1 วันแน่นอน
 

เสียงจากนักโทษ...“ผู้คุม”นี่แหละตัวดี
 
           อดีตคนคุก อย่างน้อย 2 ราย ได้ให้ข้อมูลผ่านไพรม์ไทม์นิวส์ เพื่อยืนยันอีกครั้งว่า การสั่งค้ายาเสพติดด้วยโทรศัพท์มือถือในคุก จะทำไม่ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่รู้เห็นเป็นใจ
   
           “ชัย” อดีตผู้ต้องหาคดียาเสพติด ที่เข้าออกเรือนจำมาแล้วถึง 3 แห่ง ทั้งเรือนจำคลองด่าน, สถานบำบัดกลางปทุมธานี และเรือนจำคลองไผ่ ทำให้เขาได้เห็นขบวนการนำเข้ายาเสพติดและเครือข่ายพ่อค้ายาที่ใช้เรือนจำเป็นพื้นที่ทำธุรกิจ
     
           “เราต้องดูว่าเจ้าหน้าที่คนไหนเล่นด้วยง่ายๆ คือ ลองเอาของไปให้ เรียกว่า “จีบเจ้าหน้าที่” ถ้ารับแสดงว่าคนนี้สามารถซื้อได้” เขาระบุ
     
           อดีตนักโทษผู้ต้องหาคดียาเสพติด ที่ติดคุกมาร่วม 7 ปี อธิบายด้วยว่า เมื่อขบวนการค้ายาในเรือนจำเริ่มขึ้น ด้วยการนำเข้าโดยผ่านเจ้าหน้าที่ภายใน ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามากับรถอาหาร รถที่เข้ามาส่งของ พวกนี้จะมีสัญญาณจากพ่อค้ารายใหญ่ เมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่าสินค้ามากับรถอะไรเที่ยวไหน ก็จะมีคนไปรอรับแล้วเอาไปซ่อนทันที
   
           “จะมีช่วงที่ต้องระวังก็ตอนเอาจากถุงใหญ่มาแบ่งขายเพราะต้องทำกันบนเรือนนอน จะมีการจ้างคนดูต้นทางว่ามีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาหรือไม่แต่ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ก็จะรู้ว่าทำอะไรกัน ก็จะขึ้นลงตามเวลา พวกพ่อค้าก็จะรู้”
   
           “ศักดิ์” เป็นอดีตนักโทษในข้อหาค้ายาเสพติดอีกราย ที่ผ่านการจองจำมาทั้งเรือนจำกบินทร์บุรี และสถานบำบัดกลางปทุมธานี รวม 9 ปี ก็ยืนยันต่อไพรม์ไทม์ นิวส์ ว่า การค้ายาเสพติดในเรือนจำถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะทำไม่ได้เลยเพราะยาเสพติดที่นำเข้ามาจำนวนมากนั้นต้องผ่านมากับเจ้าหน้าที่ มีส่วนน้อยมากที่นักโทษจะลักลอบเอาเข้ามาเอง
    
           “พวกกองงานฝึกวิชาชีพเป็นเส้นทางหลักเลยเพราะพวกนี้จะมีสินค้าอื่นปนๆ กันมาทั้งกลุ่มพับถุง งานประดิษฐ์ ช่างไม้ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าสินค้าจะมากับงานกลุ่มไหน ก็จะมีเด็กไปรับและหิ้วขึ้นเรือนนอนไปเลย หรือไม่ก็เอาไปซ่อนในที่ลับพื้นที่พวกนี้จะรู้กันเพราะจะมีนักโทษคอยคุมสินค้าอีกที”
 
           ในเรือนจำที่อยู่จะเอายามาแบ่งขายลักษณะไม่ต่างกับเรือนจำอื่นแต่ที่ “ศักดิ์” เคยรับโทษจะเรียกเป็น จี คือ 1 หลอดนมเล็ก ราคาขายก็ประมาณ 3,500 บาท เอามาแบ่งขายรายย่อยด้วย นักโทษที่ไม่ค่อยมีเงินก็จะขอแยกซื้อ 500 ถึง 1,000 บาท ในเรือนจำขนาดเล็ก ก็จะใช้บุหรี่แลกบ้าง เงินสดบ้างโดยให้ญาติโอนเงินให้แก่เครือข่ายภายนอก

           ในเรือนจำที่ “ศักดิ์” อยู่จะมีการจ้างช่างไม้ซึ่งก็เป็นนักโทษ เข้าไปทำช่องลับบนเรือนนอน เพื่อเป็นที่เก็บยาจะรู้กันแค่นักโทษด้วยกันและก็ไม่มีใครกล้าพูดเพราะหมายถึงความตาย มีแทงกันเป็นประจำส่วนใหญ่ก็หักหลังกันเรื่องยานี่แหละ เอาของไปแล้วไม่จ่าย ก็จะมีพวกคุ้มกันของไปจัดการ ตายก็มีบาดเจ็บก็มาก
  
           “ผู้คุมส่วนใหญ่กลัวเรื่องย้ายแดนเพราะมีความคุ้นเคย มีรายได้จากนักโทษแน่นอน รวมถึงการอนุญาตให้นักโทษเปิดบ่อนด้วย เจ้าหน้าที่จะมาเก็บต๋ง แต่ห้ามส่งเสียงดังเพราะจะทำให้ผู้คุมที่ไม่อยู่ในเครือข่ายสงสัยหรืออาจมีการทำหนังสือร้องเรียนด้วย” อดีตนักโทษรายนี้ระบุ