
'เทศกาลตะจาน' กับการเมืองพม่า
14 เม.ย. 2559
มนุษย์สองหน้า : 'เทศกาลตะจาน' กับการเมืองพม่า : โดย...แคน สาริกา
สงกรานต์พม่า หรือ Thingyan ออกเสียงว่า ตะจาน ซึ่งจะตรงกับช่วงวันที่ 12-16 เมษายนของทุกปี
เทศกาลน้ำหรือเทศกาลตะจานในรอบ 5-6 ปี นับแต่เมียนมาร์เปิดประเทศ มีภาคเอกชนเข้ามาสร้างเวทีหรือปะรำ ขนาดใหญ่ริมถนน มีคอนเสิร์ตของนักร้องหลากหลายแนวเพลง
ทุกเวทีจะมีสายยางฉีดน้ำใส่ผู้ชมด้านล่างให้ได้ร่วมสนุกสนาน ร้องเต้น เล่นสาดน้ำจนเปียกชุ่มกันอย่างเต็มที่
แถมมีสถานีโทรทัศน์บางแห่งได้ถ่ายทอดการแสดงดนตรี และการเล่นน้ำอย่างเมามันของวัยรุ่น
สำหรับปีนี้ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาร์ จากรัฐบาลของพรรคยูเอสดีพี มาเป็นพรรคเอ็นแอลดี ที่มีออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำ
ถิ่น จอ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในรอบ 54 ปี ได้สาบานตัวเข้าทำงานเป็นวันแรกเมื่อ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
วันเดียวกันนั้น มุขมนตรีภาคย่างกุ้ง ได้ออกคำสั่งห้ามก่อสร้างเวทีหรือปะรำเล่นน้ำในเทศกาลตะจานบนถนน Kaba Aye Pagoda และ Kandawgyi โดยเฉพาะการตั้ง “เวทีเล่นน้ำเชิงพาณิชย์”

หลายปีที่ผ่านมา มันกลายเป็นถนนวงแหวนที่แออัดติดขัดรอบเจดีย์ชเวดากอง ประเมินกันว่า เวทีเล่นน้ำทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน มีมากกว่า 300 เวที
เนื่องจากเวทีเหล่านี้ ทำให้สูญเสียพื้นผิวการจราจร และก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด
ที่สำคัญ รัฐบาลต้องการให้ประชาชนประหยัดน้ำ เพื่อเตรียมเผชิญภัยแล้งอย่างรุนแรงในสองเดือนข้างหน้า
รัฐบาลภาคย่างกุ้ง ต้องการให้ประชาชนเฉลิมฉลองเทศกาลตะจานแบบเรียบง่าย และรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม
รัฐมนตรีกิจการชาติพันธุ์คนใหม่ให้สัมภาษณ์ว่า เวทีเล่นน้ำที่ผ่านมา เน้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสียงเพลงดัง และการแสดงที่ยั่วยุกามารมณ์
ที่แย่ที่สุด เทศกาลน้ำกลายเป็นแหล่งค้าประเวณีและยาเสพติด จึงทำให้รัฐบาลใหม่ของพรรคเอ็นแอลดีต้องลุกขึ้นมา “คุมเข้ม” เทศกาลตะจาน
ก่อนถึงเทศกาลตะจาน 1 สัปดาห์ ตำรวจย่างกุ้งได้เข้าตรวจร้านขายยา และยึดยาเสริมสมรรถภาพทางเพศไปจำนวนหนึ่ง
ตำรวจบอกว่า ยาปลุกเซ็กส์เหล่านี้จะขายดีในช่วงเทศกาล และการเล่นน้ำแบบสนุกสุดเหวี่ยง ด้านหนึ่งได้กลายเป็นปาร์ตี้เซ็กส์ไปโดยปริยาย

แต่การที่ทางการมาออกคำสั่งห้ามกะทันหัน ได้ทำให้ส่งผลให้ภาคเอกชนโวยลั่น เพราะมีการประชาสัมพันธ์ และติดตั้งเวทีเล่นน้ำไปแล้ว
5-6 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจพม่าขยายตัว มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น และวัฒนธรรมบริโภคแบบตะวันตกก็ทะลักเข้าผ่านสื่อใหม่
ภาคเอกชนจึงใช้เทศกาลตะจานจัดอีเวนท์โปรโมทแบรนด์สินค้า จึงทำให้ปะรำหรือเวทีเล่นน้ำผุดขึ้นมากมาย ทั้งในย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์
ขนาดบริษัทอีเวนท์ยักษ์ใหญ่ของไทยยังเคยเข้าไปรับจัดงานเทศกาลน้ำ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ชาวพม่ามาแล้ว
ดังที่ทราบกัน ออง ซาน ซูจี มีแนวคิดค่อนข้างอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรม เธอจึงไม่ต้องการเห็นเยาวชนพม่ามั่วสุมยาเสพติดและเซ็กส์
นักการเมืองพรรคเอ็นแอลดีต้องการให้ตะจานกลับมาเป็นเทศกาลน้ำที่ยึดถือวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ ไม่ใช่เป็นอีเวนท์ขายสินค้าชื่อยาเสพติด และกามารมณ์
เทศกาลตะจาน พ.ศ.นี้ จึงเป็นเทศกาลท้าทายการจัดระเบียบสังคมของอำนาจใหม่ของพรรคเอ็นแอลดี
-------------------------
(มนุษย์สองหน้า : 'เทศกาลตะจาน' กับการเมืองพม่า : โดย...แคน สาริกา)