คอลัมนิสต์

ดราม่าเกณฑ์ทหาร

ดราม่าเกณฑ์ทหาร

05 เม.ย. 2559

ดราม่าเกณฑ์ทหาร : ขยายปมร้อน โดยศรุติ ศรุตา

             ระยะหลังมานี้ “เกณฑ์ทหาร” กลายเป็นเรื่องดราม่าที่ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ รวมไปถึงโลกโซเชียลทั้งหลายต่างให้ความสนใจ

             ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ข้ามเพศ หรือดารา นักร้อง มาเข้ารับการเกณฑ์ทหาร หรือมาขอผ่อนผัน

             อย่างเมื่อล่าสุด ดารานักร้องรายหนึ่งโชว์ใบรับรองแพทย์ว่า เป็นโรคหอบหืด แล้วก็ไม่ได้เป็นทหารเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์

             ดูเหมือนว่า โรคหอบหืดนี่ช่วงเกณฑ์ทหารดาราจะเป็นกันมาก เพราะปีก่อนพระเอกสุดหล่อก็เอาใบรับรองแพทย์มายื่นเหมือนกัน

             พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน บอกว่า โรคหืดหอบเป็นโรคที่ขัดตามกฎระเบียบการเกณฑ์ทหาร

             แต่บุคคลที่เป็นโรคที่ขัดตามกฎระเบียบที่กำหนด จะต้องไปตรวจร่างกายก่อนการเกณฑ์ทหารประมาณ 10 วัน และต้องมีใบรับรองจากแพทย์มายืนยันกับเจ้าหน้าที่หน่วยตรวจเลือกทหาร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจเอกสารว่าถูกต้องหรือไม่ และการตรวจโรคจะต้องตรวจที่โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลที่กองทัพบกกำหนดเท่านั้น

             ขั้นตอนการตรวจก็จะมีแพทย์เฉพาะทางตรวจให้ จากนั้นทางโรงพยาบาลจะตั้งคณะกรรมการที่เป็นแพทย์เฉพาะทาง 3 คน เพื่อมาวินิจฉัยว่าบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นโรคที่ขัดตามกฎระเบียบการเกณฑ์ทหารหรือไม่

             ขั้นตอนว่ามาอย่างนั้น

             นักร้องนักแสดงที่ว่าก็คงจะไปตรวจตามขั้นตอน เมื่อมาเกณฑ์ทหารแสดงใบรับรองแพทย์แล้ว เจ้าหน้าที่ทหารที่ตรวจเลือกก็คงดูละเอียดแล้วจึงได้แทงเรื่องออกไปอยางนั้น

             แต่ปัญหาคือ โลกโซเชียลทุกวันนี้ นอกจากความจริงแล้วมันมีเรื่องของความรู้สึก ความเชื่อ กันอยู่

             เสียงค่อนแคะก็เลยดังแล้วก็ลามไปไวกว่าไฟลามทุ่ง

             หนักเข้าก็เลยกลายเป็นเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่บั่นทอนสังคมไทยมานาน จนมีคนเชื่อว่า ถ้า “รวย-ดัง-สกุลใหญ่” ไม่ต้องติดคุก

             ความเหลื่อมล้ำที่หมักหมมมานาน ทำให้ไม่ว่าเรื่องใหญ่ หรือเรื่องเล็ก ก็จะถูกเหมารวมกันไปหมดว่า อำนาจรัฐถูกความ “รวย-ดัง-สกุลใหญ่” สั่งการได้

             นั่นอาจเป็นที่มาของคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ติดตามทุกคดีความที่อาจส่งผลกระทบกับความรู้สึกเหลื่อมล้ำในสังคม

             นับแต่คดี สาวซีวิคชนรถตู้โดยสารจนมีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ คดีเบนซ์ซิ่งนรกชนรถเก๋งจนไฟคลอก 2 นิสิตปริญญาโทเสียชีวิต อานิสงส์ของการตื่นตัว ยังส่งไปถึงคดีทายาทมหาเศรษฐีซิ่งซูเปอร์คาร์ชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน ที่คดีเงียบหายไป จนบางข้อหาหมดอายุความไปแล้ว ก็ถูกรื้อ ถูกเร่งคดีกันขึ้นมาใหม่ รวมทั้งมีการสอบสวนว่า ตำรวจปล่อยให้คดีหมดอายุความได้อย่างไร

             บางคนเห็นว่า คดีอุบัติเหตุเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขนาดตำรวจเจ้าของพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุรถเบนซ์ชนรถเก๋งกว่าจะตื่นขึ้นมาตามคดีก็ล่วงเลยเวลาไป 3-4 วัน

             ไม่คิดว่า เรื่องเล็กๆ ในสายตาบางคน อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคน

             แล้วก็เรื่องอย่างนี้แหละที่บ่อนทำลายโครงสร้างใหญ่ด้วยคำพูดที่ว่า “สองมาตรฐาน”

             ความแตกแยกของบ้านเมืองที่ผ่านมาคำว่า “สองมาตรฐาน” คือส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองมาถึงจุดนี้

             และที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นผู้มีอำนาจคนไหนเห็นความสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีแต่จะช่วยส่งเสริมให้มันเกิดขึ้น ย้อนไปดูแต่ละคดี แต่ละเรื่องในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่คนทั่วไปยันพระห่มผ้าเหลือง บ้านเมืองถึงได้เป็นอย่างนี้