คอลัมนิสต์

สงครามน้ำ...ที่หลวงพระบาง

สงครามน้ำ...ที่หลวงพระบาง

31 มี.ค. 2559

สงครามน้ำ...ที่หลวงพระบาง : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

             เทศกาลสาดน้ำสงกรานต์บ้านเรา พ.ศ.นี้ อาจไม่สนุกสุดเหวี่ยงเหมือนที่ผ่านมา เพราะอยู่ในช่วง “ประชารัฐร่วมใจ คนไทยประหยัดน้ำ” แต่เพื่อนบ้านอย่างลาว และเมียนมาร์ ต่างประโคมข่าวสงกรานต์ใหญ่โต

             สำหรับ สปป.ลาว การจัดงานเฉลิมฉลองสงกรานต์ที่ยังรักษาเอกลักษณ์แห่งจารีตและธรรมเนียมประเพณีที่สืบต่อกันมาได้เป็นอย่างดีนั้น ก็คือสงกรานต์ปีใหม่ หรือ “บุญปีใหม่ลาว” ที่เมืองหลวงพระบาง

             ระยะหลังๆ มานี้ การจัดบุญปีใหม่ลาวที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง จะมุ่งเน้นไปที่การดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปให้มากขึ้น ด้วยหวังว่าจะทำให้มีรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

             ในอดีต ช่วงสงกรานต์ คนลาวจากแขวงต่างๆ จะเดินทางไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่หลวงพระบาง โดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ แทบจะเป็นเมืองร้าง แต่ปัจจุบัน ทุกแขวงต่างก็จัดงานฉลองปีใหม่ลาวกันคึกคัก

             บุญปีใหม่ปีนี้ แขวงหลวงพระบางได้กำหนดวันจัดงานมาแล้วคือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนถึง 20 เมษายน 2559 รวม 10 วัน 10 คืน

             แขวงหลวงพระบาง วางเป้าหมายไว้ว่า จะมีนักท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นคนลาวและชาวต่างชาติ ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว

             ด้านกิจกรรมต่างๆ ในตลอดเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ลาว จะเริ่มด้วยงานตลาดนัดวางแสดงสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองที่สนามธาตุหลวง ในวันที่ 9 เมษายน

             วันที่ 10-11 เมษายน จะเป็นการจัดงานประกวด “นางสังขานหลวงพระบาง” (นางสงกรานต์) เพื่อคัดเลือกสาวงาม 7 คน ไปเป็นธิดาพระยากบิลพรหม

             วันที่ 12 เมษายน มีขบวนแห่ช้าง จากวัดใหม่ไปวัดเชียงทอง

             วันที่ 13 เมษายน (วันสังขานล่วง) ที่จะเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเที่ยงวัน ส่วนช่วงบ่ายวันเดียวกัน ก็จะมีกิจกรรมการก่อเจดีย์ทรายที่ริมฝั่งน้ำคานในเขตเมืองจอมเพ็ด

             วันที่ 14 เมษายน (วันสังขานเนา) จะเป็นการเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทลื้อที่บ้านผานม โดยจะมีบุคคลสำคัญของทางการลาว และแขกชาวต่างชาติเข้าร่วมพิธีบายศรีของชาวไทลื้อด้วย

             ตอนบ่าย เป็นการแห่หวอ จากวัดธาตุน้อยไปวัดเชียงทอง เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

             วันที่ 15 เมษายน (สังขานขึ้น) วันขึ้นปีใหม่ มีทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ส่วนในช่วงบ่ายถึงเย็น จะมีพิธีบูชาพระธาตุจอมศรี พิธีไหว้พระบาง พิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อรับพรปีใหม่

             วันที่ 16 เมษายน มีการแห่หวอ และนางสังขานทั้งเจ็ด จากวัดเชียงทองกลับไปวัดธาตุน้อย และขบวนแห่โคมไฟพญานาคลงจากพระธาตุจอมศรีสู่หอพิพิธภัณฑ์ (พระราชวังเก่า)

             วันที่ 17 เมษายน อัญเชิญพระบางจากหอพิพิธภัณฑ์พระราชวังเก่าไปยังวัดใหม่สุวันนะพูมาราม เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ และจัดขบวนแห่นางสังขานทางเรือ เพื่อไปสรงพระพุทธรูปในถ้ำติ่งที่เมืองปากอู (ปากน้ำอู)

             วันที่ 18-19 เมษายน เป็นช่วงเวลาของความสนุกสนาน ที่นักท่องเที่ยวจะได้เล่น “สงครามน้ำ” กันเต็มที่ ซึ่งทางแขวงหลวงพระบาง เพิ่มโปรแกรมนี้เข้ามา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยแท้

             วันที่ 20 เมษายน วันสุดท้ายของเทศกาลนั้น จะมีการอัญเชิญพระบางจากวัดใหม่สุวันนะพูมารามกลับไปประดิษฐานที่หอพิพิธภัณฑ์พระราชวังเก่า อันเป็นการสิ้นสุดการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ลาว

             ขอแนะนำการเดินทางไปหลวงพระบาง โดยไม่ต้องใช้เส้นทาง 13 เหนือ (เวียงจันทน์-หลวงพระบาง) นักท่องเที่ยวสามารถไปหาซื้อทัวร์ได้ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และจากนั้น ก็เดินทางข้ามพรมแดนที่ อ.ท่าลี่ มุ่งหน้าสู่หลวงพระบาง ด้วยความสะดวกสบาย

             ส่วนการเดินทางโดยเครื่องบินก็ง่ายมาก มีเที่ยวบินจากไทยไปหลวงพระบางทุกวัน ทั้งการบินลาว, บางกอกแอร์เวย์ ส และแอร์เอเชีย

             สงกรานต์นี้ อยากเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน ขอเชิญไปสัมผัสงานฉลองปีใหม่ลาว ที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง รับรองว่ามีแต่ความม่วนซื่น