
การค้าสำนวนคดี
การค้าสำนวนคดี : บทบรรณาธิการประจำวันที่30มี.ค.2559
คดีของทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังที่ขับรถชนคนตายในพื้นที่ สน.ทองหล่อ เมื่อปี 2555 กลับมามีปัญหาอีกครั้งและมีความชัดเจนกับคำว่า “ค้าสำนวน” ตามโครงการของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ออกมาปรามพวกค้าสำนวนทั้งหลายมีการกำหนดโทษไว้ด้วย ส่วนเรื่องราวของคดีจะเป็นอย่างไรจากนี้คงต้องรอดู แต่ประเด็นคำถามถึงคำว่า “ค้าสำนวน” ตามที่ รรท.ผบช.น.ว่านั้นมีมานานเป็นเรื่องที่ยังแก้ไม่ตก พูดง่ายๆ คือ ตำรวจไปหาประโยชน์จากคดี ทำให้โทษหนักกลายเป็นเบา โทษเบากลายเป็นสั่งไม่ฟ้อง เรื่องนี้คนที่เคยประสบจะทราบดี การวิ่งเต้นพนักงานสอบสวนถือว่าเป็นจุดแรกในกระบวนการยุติธรรม เพราะคดีความต่างๆ เริ่มต้นที่พนักงานสอบสวน ก่อนไปถึงมืออัยการ และศาลจะเป็นผู้พิจารณาตัดสิน ดังนั้นหากเริ่มต้นคดีเป็นอย่างไร แนวโน้มก็จะเป็นไปในทางที่ดี ยกเว้นจะมีการขุดคุ้ยขึ้นมาหรือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน พนักงานสอบสวนอาจระมัดระวังตัวขึ้น แต่ส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้สนใจกระแส ผลประโยชน์จึงมาก่อน ดังที่เห็นเป็นข่าวปรากฏอยู่บ่อยๆ
การค้าสำนวนมักเกิดขึ้นจากข้อเสนอของฝ่ายผู้ต้องหา ขอให้พนักงานสอบสวนช่วยเหลือยกเว้นการบันทึกหลักฐานบางอย่าง ละเว้นการสอบสวนพยานหลักฐานอย่างละเอียด งดการตรวจสอบบางอย่างเช่น คดีอุบัติเหตุก็ไม่ตรวจเลือดวัดค่าแอลกอฮอล์ เป็นต้น เพื่อเป็นช่องทางการต่อสู้คดีอย่างที่เรียกว่า “ทำสำนวนอ่อน” โดยธรรมชาติตำรวจในสายสอบสวนเหมือนกับตำรวจชั้นสองทำงานหนักเพราะสำนวนแต่ละวันมีมาก ยิ่งในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีปัญหามากมาย จนบางครั้งทำสำนวนไม่ทัน บางส่วนมีเงื่อนไขของเวลามาบีบด้วย ทำให้ความละเอียดรอบคอบ จึงไม่มีหลักฐาน พยานที่สมบูรณ์เพียงพอหรือปัดพยานหลักฐานออกไปด้วยความจงใจเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา ตำรวจเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ยิ่งทำสำนวนมากเท่าไร ความเข้าใจหรือธรรมชาติคดีจะยิ่งมากขึ้น รู้มาก เขี้ยวจัด พนักงานสอบสวนพวกนี้จึงหาผลประโยชน์จากการค้าสำนวนจนร่ำรวย
ตำรวจสายสอบสวนในอดีตถูกมองว่าไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีรายได้เหมือนตำรวจสายสืบสวน สายปราบปราม ที่มีแหล่งผลประโยชน์ในท้องที่ มีการส่งส่วยรายเดือน จากธุรกิจผิดกฎหมายบ้าง การค้าสีเทาๆ บ้าง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้มีหน้าที่แบบนั้นโดยตรง จึงต้องหาผลประโยชน์จากส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ แม้ปัจจุบันทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีเงินเพิ่มพิเศษกับพนักงานสอบสวนตามตำแหน่งตั้งแต่รองสารวัตร จนถึง พล.ต.ต.ระดับผู้บังคับการก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มากจนมีฐานะร่ำรวยเหมือนกับตำรวจในสายอื่น ระบบการค้าสำนวนจึงมีอยู่ถึงทุกวันนี้ และมีส่วนทำให้กระบวนการยุติธรรมสั่นคลอน ถึงแม้จะมีการถ่วงดุลจากอัยการเพราะต้องรับสำนวนต่อจากตำรวจเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ แต่ทั้งหมดก็กลายเป็นช่องทางของทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการบางคนก็ตาม จึงทำให้ความยุติธรรมเบื้องต้นขาดความน่าเชื่อถือ รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมควรเริ่มคิดหาทางแก้