คอลัมนิสต์

ปรับโครงสร้างตำรวจต้องรอบคอบ

ปรับโครงสร้างตำรวจต้องรอบคอบ

02 มี.ค. 2559

ปรับโครงสร้างตำรวจต้องรอบคอบ : บทบรรณาธิการประจำวันที่2มี.ค.2559

             โครงสร้างใหญ่ๆ ในการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใกล้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง  โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้องค์กรตำรวจปลอดจากการเมือง คล้ายๆ กับคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งปัจจุบันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองมีน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่จะเบ็ดเสร็จซะทีเดียว ครั้งนี้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการพยายามปรับให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ  (ก.ตร.)  เป็นผู้เลือกนายตำรวจที่จะมานั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แทนคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ก่อนหน้านี้มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ทำให้เชื่อว่าการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงและตำรวจจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง โดยให้อำนาจ ก.ตร.ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของผบ.ตร. ส่วน ก.ต.ช.จะไม่มีอำนาจในการบริหารงานบุคคลต่อไป เสมือนเป็นการตัดมือไม้ระดับบริหารของ สตช. ที่ก่อนหน้านี้ ก.ต.ช.มีอำนาจในการชี้นำได้

             ประเด็นที่คณะกรรมาธิการเสนอให้ ก.ตร.เป็นผู้แต่งตั้ง ผบ.ตร.ก็เพราะอยากให้เป็นองค์กรเดียว โดยให้ ก.ตร.พิจารณานายตำรวจระดับจเรตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร. หรือเทียบเท่ายศ พล.ต.อ. นั่นก็หมายความว่า จากนี้ไปตำแหน่งที่ปรึกษาก็จะมีโอกาสลุ้นเพื่อขึ้นเป็นผู้นำโดยผู้ที่ได้รับการสรรหาต้องแสดงวิสัยทัศน์ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลใช้คำสั่งที่ 44/2558 แก้ไขให้ ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอรายชื่อบุคคลต่อ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูล การปรับโครงสร้างสำนัักงานตำรวจแห่งชาติมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ยิ่งปรับยิ่งทำให้องค์กรไม่นิ่ง การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้นทุนตำรวจก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามความคาดหวัง ความจริงตำรวจไม่ได้มีปัญหาเรื่องปลอดการเมืองเพียงอย่างเดียว เพราะหากได้นักการเมืองที่มีคุณธรรมมาปกครอง บริหาร สภาพแย่ๆ แบบนี้คงไม่เกิด

             สิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบคือ หากแม้ ก.ตร.จะเป็นผู้เลือกผู้นำองค์กร แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่มีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง หรือก.ตร.อาจกลายเป็นเสือตัวใหม่ เพราะอย่าลืมว่า หากมี ก.ตร.เป็นผู้เลือก นายตำรวจที่อยู่กับก.ตร.นั่นแหละที่จะกุมอำนาจใน สตช.แทนนักการเมือง แต่หากเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเมื่อไร มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ข้าราชการประจำ ย่อมตกเป็นเบี้ยล่างอยู่ดี ถึงตอนนั้นช่องทางหรือการบีบให้ใครเข้าสู่ตำแหน่งย่อมเกิดขึ้นแน่นอน กลไกจะต้องเข้มแข็งก่อน ที่ผ่านมาตำรวจถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองก็เพราะต้องการอยากได้ตำแหน่ง ทำให้การเมืองเข้าแทรกตั้งแต่ฝ่ายปฏิบัติจนถึงระดับบริหาร วงจรตำรวจเลยเกิดปัญหาทั้งตำแหน่งไม่พอรองรับกับบรรดานักวิ่ง ทำให้ตำรวจมีฝีมือมากมายต้องถูกเบียดไม่ได้รับความก้าวหน้า ทำให้ระบบคุณธรรมสูญสิ้นไปโดยปริยาย ปัญหาตำรวจมีไม่มีอย่างเรื่องสวัสดิการ ความเป็นอยู่ ความเป็นธรรม แก้เท่านี้ได้องค์กรตำรวจก็เดินหน้า