คอลัมนิสต์

เงื้อง่าราคาแพง

เงื้อง่าราคาแพง

19 ก.พ. 2559

เงื้อง่าราคาแพง : กระดานความคิด โดย... น้ำเชี่ยว บูรพา

 
          เหลือบไปเห็นสงครามมือถือ 3-4 จีที่กำลังระอุแดดยามนี้แล้ว ก็ให้สะท้อนใจไปถึงสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่พักหลังมานี้ แทบจะหายไปจากสื่อเพราะอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
 
          แต่ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูที่ว่า ตัวพนักงานในองค์กรเหล่านี้คงได้แต่ชะเง้อชะแง้กันไป อย่างแผนฟื้นฟูกิจการของทีโอที ที่บอกจะเร่งหา “พันธมิตรธุรกิจ” หรือ Strategic partner เข้ามาร่วมพัฒนาทรัพย์สินขององค์กรที่ีมีอยู่นับแสนล้านบาทนั้น ร่วม 2 ปีแล้ว ยังไม่คืบหน้าไปไหน วันวานยังเห็น นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่เข้าใจว่าคงเป็นบริษัทสื่อสารที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ ยังคงออกมาทวงความจริงใจจากทีโอทีอยู่เลย หลังจากที่เจรจาความร่วมมือเพื่อเป็นพันธมิตรธุรกิจยืดเยื้อมากว่า 2 ปี
 
          เห็นว่า จนถึงขณะนี้เอไอเอสยังคาดหวังว่า สัญญาการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างเอไอเอสและทีโอทีนั้นจะสำเร็จลุล่วง และเซ็นสัญญากันได้ภายในเดือนมีนาคม เพราะกระบวนการดังกล่าวใช้เวลามากว่า 2 ปีแล้ว ก่อนประมูลใบอนุญาต 4 จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ นั้น เอไอเอสอยากเป็นพันธมิตรกับทีโอทีมากเพียงไร หลังประมูลได้คลื่นมาแล้วก็ยังเหมือนเดิมและแม้เอไอเอสจะไม่ได้ถือครองคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ก็ยังคงไม่เปลี่ยนความตั้งใจ
 
          แจกแจงข้อเสนอล่าสุดมาด้วยว่า 1.สัญญาเช่าใช้คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ของทีโอทีจำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ ระยะเวลา 10 ปี โดยเอไอเอสเสนอผลตอบแทนให้ปีละ 3,900 ล้านบาท มีสิทธิใช้งาน 80% ของเครือข่ายทั้งหมดอีก 20% นั้นทีโอทีสามารถนำไปหารายได้เพิ่มเติม
 
          2.แผนความร่วมมือในการบริหารเสาสัญญาณมือถือ 13,800 ต้น ที่อยู่ในข้อพิพาทระหว่างกันว่ากรรมสิทธิ์ของเสาจะเป็นของใคร ซึ่งความตั้งใจของเอไอเอสอยากตั้งบริษัทร่วมทุน บริหารเสาสัญญาณร่วมกัน แต่หากเส้นทางจัดตั้งบริษัทร่วมทุนต้องใช้เวลา ขณะที่ทีโอทีกำลังต้องการรายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กรเอไอเอสก็พร้อมจ่ายค่าเช่าเสาให้ทีโอทีในอัตราปีละ 3,600 ล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติเท่ากับยอมรับว่าเสาโทรคมนาคมเป็นของทีโอที
 
          3.ข้อตกลงว่าด้วยการเช่าใช้อุปกรณ์ 2 จี ซึ่งเอไอเอสได้ส่งมอบไปแล้วตามเงื่อนไขสัมปทานเดิม โดยเอไอเอสเสนอผลตอบแทนให้อีกปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี
 
          โดยสรุปผลตอบแทนที่เอไอเอสเสนอไปนั้นจะทำเงินให้ทีโอทีปีละ 9,500 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ของทีโอทีได้ แต่การที่ทีโอทียังไม่รีบตัดสินใจปล่อยเวลายืดเยื้อนับว่าสูญเสียโอกาสมากพอแล้ว
 
          เห็นเอไอเอสแบไต๋มาเสียขนาดนี้แล้ว ก็ได้แต่ทอดถอนลมหายใจไปกับคนทีโอที แม้หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ทีโอทีจะต้องคิดให้รอบคอบ เพราะบทเรียนมีให้เห็นอยู่ แต่ก็อย่างที่บอกทั้งสองฝ่ายได้เปิดการเจรจากันมากว่า 2 ปีเข้าไปแล้ว ต่างฝ่ายต่างเปิดเงื่อนไขกันหมดไส้หมดพุงไปหมด แต่ก็ไม่ตกร่องปล่องชิ้นกันเสียที แถมยังมีข่าวว่า อาจจะยื้อไปช่วงกลางปี
 
          หลังสำนักงานอัยการสูงสุดส่งร่างข้อตกลงกลับมาให้ทีโอทีเคลียร์ประเด็น สัญญาความร่วมมือระยะยาวดังกล่าวเข้าข่ายการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือ “พีพีพี” หรือไม่ ขัดต่อมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 อีกหรือไม่
 
          แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับทีโอที ว่าจะหยิบเบี้ยใกล้มือ หรือจะเสี่ยงคุยกับรายอื่นเพื่อต่อรองรายได้ให้มากที่สุด แต่เรื่องมันก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะเกมนี้เอกชนก็ทำท่าว่าจะจับมือกันช่วยกันทำกันเอง ทิ้งให้ทีโอทีจั่วลม หรือไม่ก็ไปเสี่ยงเอากับรายใหม่ที่วันนี้ยังไม่รู้ว่าจะหมู่หรือจ่า เพียงลำพัง
 
          เกมนี้ผู้บริโภคก็ต้องคอยจับตา เพราะการเลือกค่ายนี้ เลือกค่ายนั้น ย่อมมีผลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม !