
ทบ.ผลิตจรวดหลายลำกล้องนำวิถีรุ่นDTI-1Gเสริมเขี้ยวเล็บใหม่
18 ก.พ. 2559
ทบ.ผลิตจรวดหลายลำกล้องนำวิถีรุ่นDTI-1Gเสริมเขี้ยวเล็บใหม่ : ตะลุยกองทัพ โดย... ทีมข่าวความมั่นคง
นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ที่เป็นองค์กรมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล เป็น ผอ.สปท.ในการผลิตต้นแบบระบบจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G ส่งมอบให้แก่กองทัพบก ผ่าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานรับมอบ เพื่อนำเข้าประจำการ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 712 จ.ลพบุรี
สำหรับจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากต้นแบบจรวดหลายลำกล้องแบบไม่นำวิถี DTI-1 ที่มีระยะยิงไกล 180 กม. และเป็นโครงการแรกของ สปท.โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศจีนทั้งสองแบบก่อนจะส่งมอบให้กองทัพบกนำไปใช้เมื่อปี 2554 และประสบปัญหายิงไม่ตรงเป้า จึงมีการปรับแก้ในด้านเทคนิคจนสามารถใช้งานได้ ก่อนจะพัฒนามาเป็น DTI-1G
โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระบบจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี ระหว่างกองทัพบก และ สทป. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 เพื่อส่งมอบจำนวน 3 ระบบ ให้กองทัพบกนำไปทดลองใช้งาน ภายหลังสภากลาโหมได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยเทคโนโลยีจรวดและอาวุธนำวิถีของ สทป.
เนื่องจากกองทัพไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดหาจรวดและอาวุธนำวิถีเข้าประจำการอยู่จำนวนหนึ่ง เพราะถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีบทบาทในการสงครามและการป้องกันประเทศเชิงรุก เนื่องจากมีระยะยิงไกล มีอำนาจการทำลายล้าง และมีความแม่นยำสูง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ตามแผนการเสริมสร้างกำลังกองทัพ อีกทั้งเป็นอาวุธที่มีเทคโนโลยีสูง การปรนนิบัติรักษา และซ่อมบำรุงมีความซับซ้อน ขณะที่อำนาจการรบของประเทศรอบบ้านมีการพัฒนายุทโธปกรณ์จรวดที่มีศักยภาพสูงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพ เสริมอำนาจการยิงของกองทัพให้เพียงพอแก่การป้องกันตนเอง ซึ่งการพัฒนาจรวดและอาวุธนำวิถีที่พัฒนาโดยหน่วยงานวิจัยของไทยเข้าประจำการ จะทำให้กองทัพไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์และดุลยภาพความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเป็นอำนาจต่อรองในการเจรจากรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศด้านการเมืองและเศรษฐกิจ