คอลัมนิสต์

โอ้ละหนอโอเน็ต

โอ้ละหนอโอเน็ต

15 ก.พ. 2559

โอ้ละหนอโอเน็ต : โดยวิธีของเราเอง โดยไพฑูรย์ ธัญญา

           เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งการลุ้นระทึกสำหรับครูและนักเรียน เพราะเป็นเทศกาลของการสอบโอเน็ต ไม่น่าเชื่อว่า การสอบโอเน็ตสำหรับนักเรียนไทย จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตไม่ต่างอะไรกับการ “สอบจอหงวน” ของพวกขุนนางจีนโบราณไปเสียแล้ว ฤดูกาลสอบโอเน็ต เป็นช่วงที่บรรดาผู้บริหารโรงเรียนน้อยใหญ่พากันหวาดวิตก กลัวคะแนนรวมในโรงเรียนของตนจะติดอันดับรั้งท้าย ส่วนพวกนักเรียนก็ไม่ต้องได้เรียนหนังสือกันล่ะ เพราะครูจับมาติวข้อสอบ หลายแห่งมีการ “ซ้อมสอบ” เอานักเรียนมานั่งในห้องสอบ เอากรรมการคุมสอบมาคุม และสอนเรื่องการทำข้อสอบว่าต้องฝน หรือต้องกรอกข้อมูลอะไรลงไปบ้าง ทำกันขนาดนี้ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดในวันสอบจริงๆ

           การสอบโอเน็ตมีชื่อรียกเต็มๆ ว่า “การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน” เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเนื้อหาวิชาที่สอบครอบคลุม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ผลการทดสอบจะนำไปใช้ประโยชน์หลายเรื่อง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เป็นการจัดอันดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน โดยเทียบกับมาตรฐานคะแนนระดับชาติ เรื่องนี้เองที่ทำเอาผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอน ผู้บริหารพากันวิตกกังวลกันทั่วหน้า กลัวว่าผลคะแนนของเด็กๆ จะออกมาไม่ดีพอ ซึ่งเท่ากับเป็นการประจานโรงเรียนของตนนั่นเอง

           เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จนนำไปสู่การฉ้อโกงระดับชาติ เพราะคะแนนโอเน็ตเป็นคะแนนที่จัดอันดับความสำเร็จของโรงเรียนโดยปริยาย กลุ่มผู้บริหารไล่มาตั้งแต่ระดับจังหวัดและระดับสำนักงานเขตพื้นที่ไปจนถึงระดับผู้อำนวยการโรงเรียนจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้นักเรียนในสังกัด ทำคะแนนสอบให้สูงที่สุด ไม่ว่าวิธีการนั้นจะชอบมาพากลหรือไม่ ผลการสอบโอเน็ตแต่ละปี สทศ. หรือสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ จะรู้บ้างไหมว่า มีคะแนนสอบโอเน็ตของหลายจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่ไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริง สทศ.เคยส่งคนมาดูบ้างหรือเปล่าว่า กระบวนการเตรียมสอบโอเน็ตของผู้บริหารและครูในระดับเขตพื้นที่นั้น ผิดเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาและการสอบโดยสิ้นเชิง เท่านั้นยังไม่พอ มันยังก่อให้เกิดขบวนการโกงการสอบ ที่ทำกันอย่างเป็นระบบ จนถึงขั้นบางแห่งให้ครูแก้ข้อสอบของนักเรียนเสียใหม่ คือไอ้ที่นักเรียนกามาในแบบทดสอบนั้น จะถูกครูที่ได้รับคำสั่งมอบหมายจากเจ้านาย ลบออก แล้วกาใหม่ เพื่อให้มีคำตอบที่ถูกมากที่สุด

           เขาทำกันถึงขนาดนี้แล้วนะครับ จึงไม่แปลกที่บางสำนักงานเขตพื้นที่ จะมีคะแนนสอบโอเน็ตสูงติดอันดับของประเทศ ทั้งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ กลายเป็นความภาคภูมิใจของบรรดาผู้บริหารน้อยใหญ่ ว่าผลคะแนนในเขตความรับผิดชอบของตนอยู่ระดับที่น่าพอใจ ทั้งที่ช่วยกันโกงมาแท้ๆ แม้จะมีครูผู้สอนหลายคนไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับการกระทำเหล่านี้ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าออกมาเปิดโปงให้สังคมได้รับรู้ กลไกอำนาจของผู้บริหารมันมากล้นเสียจนข้าราชการตัวเล็กตัวน้อยไม่กล้าหือ พวกเขาจึงได้แต่หวานอมขมกลืนไปเท่านั้นเอง

           การสอบโอเน็ตก็ดี การประกันคุณภาพการศึกษาก็ดี เป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น มันเป็นการประเมินขีดความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน ปัญหาก็คือ โรงเรียนจำนวนมาก ไม่ได้จัดการเรียนการสอบอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่หลักสูตรกำหนด เพราะมัวแต่ไปวุ่นวายกับกิจการอื่นๆ สารพัด แต่ไม่ใช่เรื่องการเรียนการสอน พอสอนไม่ครบหลักสูตร เด็กไม่มีความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ทำให้เกิดความกลัวเรื่องการสอบโอเน็ตจนขี้ขึ้นสมอง กลัวว่าผลคะแนนของนักเรียนในความรับผิดชอบของตนจะรั้งท้ายให้ขายหน้า ก็เลยคิดหาทางสารพัดวิธี เริ่มตั้งแต่จับเด็กนักเรียนมาติวเป็นแรมเดือน รวมไปถึงวิธีการที่ไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหา “เฉลย” ข้อสอบมาบอกเด็ก การให้ครูไปแก้ไขข้อสอบของนักเรียน การทำแบบนี้ มันต้องทำเป็นระบบและขั้นตอนเท่านั้นจึงจะทำได้ เอาไปเอามาการสอบโอเน็ตก็ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายที่แท้จริง

           พูดเรื่องสอบโอเน็ตของประเทศนี้ จึงได้แต่รู้สึก โอ้ละหนอ โอละหน่าย พร้อมๆ กับให้อเนจอนาถใจกับการศึกษาของไทย คือดูไปดูมามันก็เลวร้ายไปเสียทั้งหมด ในขณะที่รัฐทุ่มเทงบประมาณในการจัดการศึกษาจำนวนมหาศาล แต่ผลที่มันออกมายิ่งถอยหลังเข้าคลองเข้าไปทุกวัน ตอนนี้ถ้าเทียบคุณภาพการศึกษาของไทยกับของประเทศในอาเซียน เราก็คงได้เอาปี๊บมาคลุมหัวกันเท่านั้น