
แรงกดดันตำรวจผู้น้อย
แรงกดดันตำรวจผู้น้อย : บทบรรณาธิการประจำวันที่3ก.พ.2559
กรณีการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเพียงตัวอย่างของความขัดแย้งระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา แรงกดดันจากการทำงานของตำรวจไม่ได้มีเพียงสำนวนการสอบสวนคดีที่พบเจอกับวิชามารมากมาย บางคนมองว่าตำรวจมักใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกับประชาชน ในขณะเดียวกันตำรวจก็ได้รับความไม่เท่าเทียมทางกฎหมายจากผู้บังคับบัญชาเช่นเดียวกัน คดีความต่างๆ มีการวิ่งเต้นผ่านเจ้าหน้าที่ทั้งสายการบังคับบัญชาโดยตรงและนายตำรวจระดับสูง เรื่อยไปจนถึงระดับนักการเมือง รัฐมนตรี และลงไปถึงผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่น ตำรวจชั้นผู้น้อยจึงกลายเป็นผู้รองรับคำสั่งเพียงอย่างเดียวไม่ว่าถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม คนไหนที่ใจถึงยอมเล่นตามน้ำกับผู้บังคับบัญชารับผลประโยชน์ก็สบายไป นายตำรวจคนไหนเห็นว่าผิดกฎหมายทำไม่ได้ก็จะได้รับแรงกดดันเหมือนอย่างพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง รายนี้ที่ใช้อาวุธปืนปลิดชีวิตตัวเอง
ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมว่า ตำรวจต้องเป็นผู้ที่รับเรื่องราวความทุกข์จากประชาชนไปทำให้เกิดความสงบ แต่ตรงกันข้ามต้นทุนที่มีอยู่ไม่ว่าความเชื่อถือ สวัสดิการที่ควรได้รับ กลับตรงกันข้าม ทำให้ตำรวจส่วนใหญ่ถูกมองว่าคอร์รัปชั่น หาเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายบ้าง ธุรกิจกลางคืนบ้าง บางคนถึงขนาดเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดเลยก็มี ตำรวจจึงมีความหลากหลายและไม่สามารถรักษาต้นทุนที่มีอยู่ได้จนไหลลงไปถึงระดับต่ำสุด องค์กรตำรวจจึงถูกเพ่งเล็งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อปรับโครงสร้าง พยายามคิดสูตรที่ทำให้ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แบบมืออาชีพ แต่วงจรของตำรวจกินลึกถึงเนื้อในแล้ว นักการเมืองที่เข้ามาคุมในสถานการณ์บ้านเมืองปกติ ก็ใช้ตำรวจไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ หาผลประโยชน์สร้างเครือข่ายเพื่อรองรับฐานเสียง แต่ละจังหวัดนักการเมืองจะเข้ามาครอบงำ ทำให้ตำรวจไม่มีอิสระ ไม่สามารถรักษากฎหมายได้ ตำรวจจึงกลายเป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อการล้มล้างฝ่ายตรงข้าม
ช่วงที่มีรัฐบาลทหารเข้ามาปกครองประเทศ มีนายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากข้าราชการประจำเป็นหนึ่งในผู้นำกองทัพ ย่อมเห็นปัญหาขององค์กรตำรวจไม่มากก็น้อย ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า นอกจากฝ่ายการเมืองแล้ว กองทัพยังส่งรายชื่อสนับสนุนนายตำรวจหลายคน แม้จะไม่เป็นทางการ แต่รับรู้กันวงในว่าใครเป็นใคร ดังนั้นตำรวจจึงตกเป็นเบี้ยล่าง กลุ่มอำนาจไม่จบสิ้น แนวคิดที่จะปรับโครงสร้างตำรวจเลยเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ว่าจะออกมาจากสูตร ย่อมต้องไม่ปล่อยวางอำนาจอย่างแน่นอน เพียงแต่รูปแบบจะมีหน้าตาอย่างไรเท่านั้น วิธีคิดของคนภายนอกก็แบบหนึ่ง ตำรวจเองก็มีแนวคิดที่จะสลัดให้หลุดจากวงจรนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลุ่มอำนาจยังคงเข้ามาครอบงำ ผลก็คือ ตำรวจถูกบีบให้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ละเว้นบ้าง ความเครียดของตำรวจจึงมีอยู่ทุกระดับเพียงแต่จะปะทุออกมาในลักษณะไหน กรณีของพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่เกิดขึ้นกับองค์กรนี้ ถ้าทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแยกตัวออกมาเหมือนกับอัยการหรือศาล ได้ อาจทำให้สิ่งเหล่านี้ลดลง เมื่อคนมีการปรับตัวเพื่อให้สังคมยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นอาจน้อยลง จะปรับโครงสร้างอย่างไรก็ขอความเห็นจากเจ้าของบ้านด้วย ไม่ใช่นึกเอาเอง จะยิ่งทำให้ความเครียดภายในเพิ่มทวีขึ้น