
ร้ายกว่าฝูงแร้ง
ร้ายกว่าฝูงแร้ง : โดยวิธีของเราเอง ไพฑูรย์ ธัญญา
ลักษณะการหนึ่งของเหล่าฝูงแร้งเมื่อจะกินเศษซากเป็นอาหาร คือพวกมันจะพากันรุมฉีกทึ้ง กระชากอย่างตะกลาม หิวกระหาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว และเป็นที่มาของสำนวน “แร้งทึ้ง” นั่นเอง
ท่ามกลางความเศร้าโศก อาดูร ของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ต่อข่าวการจากไปของคุณปอ ทฤษฎี สหวงษ์ เราก็ได้เห็นภาพที่ชวนสังเวช และขยะแขยงของบรรดาเหล่าช่างภาพทั้งหลาย ที่มักถูกมองแบบเหมารวมและ “เหมาโหล” ว่าคือผู้สื่อข่าว และสื่อมวลชน ที่พากันเบียดเสียด แย่งชิง รุกล้ำ เข้าไปเพื่อถ่ายภาพการเคลื่อนย้ายศพของดาราชื่อดัง รวมทั้งภาพคนในครอบครัว ที่เราไม่อาจใช้ถ้อยคำอื่นใดเรียกการกระทำอันกระเหี้ยนกระหือรือ และตะกละตะกลามในครั้งนี้ได้เลย นอกเสียจากคำว่า เป็นการ “รุมทึ้ง” เหยื่อ ของเหล่าฝูงอีแร้งเท่านั้น
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บรรดาผู้คนในสังคม พากันรุมประณามและตั้งคำถามต่อคนในวงการสื่อสารมวลชน ถึงเรื่องจรรยาบรรณ จิตสำนึกแห่งวิชาชีพอย่างรุนแรงและหนักหน่วง โลกในสื่อสังคมออนไลน์ ร้อนระเบิดด้วยถ้อยคำหยาบคาย และความไม่พอใจจนถึงขั้นชิงชัง ขยะแขยง ก่อนหน้านี้ สังคมพากันรุมตำหนิและโจมตีถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเหยี่ยวข่าวสายบันเทิงมาเป็นระยะ และมาร้อนแรงถึงขีดสุด เมื่อคุณปอ ทฤษฎีเสียชีวิต ฉายา “เหยี่ยวข่าว” ถูกลดระดับลงเป็น “อีแร้ง” โดยสมบูรณ์แบบ
เรื่องทั้งหมดจะไม่เลวร้ายอย่างนี้ หากผู้ตายไม่ใช่ดาราดังและมีคนรักทั้งประเทศอย่างคุณปอ เราต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของช่างภาพและนักข่าวหลายคนแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม และขาดความเคารพในสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ การปฏิบัติภารกิจของนักข่าว ถูกผลัดกันด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทุกคนอยากได้ “ภาพเด็ด” กันทั้งนั้น เพื่อให้การรายงานข่าวในสื่อของตนดู “พิเศษ” กว่าสื่ออื่นๆ แต่ความพยายามหาภาพเด็ด ในหลายครั้งก็มักจะสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ในกรณีนักข่าวจึงตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างช่วยไม่ได้
มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ดูจะเศร้ากว่าข่าวการจากไปของดาราขวัญใจชาวไทยอย่างคุณปอเสียด้วยซ้ำ หลายคนแสดงออกผ่าน “โลกโซเชียล” ว่าสิ้นหวังกับผู้คนในวงวิชาชีพนี้ ภาพลักษณ์ของนักข่าวสายบันเทิงที่แย่อยู่แล้ว ยิ่งตกต่ำติดดิน หลายคนตั้งคำถามไปถึงสำนักข่าวต้นตอ และเลยลามไปถึงสถาบันการศึกษา ที่ผลิตคนเข้าสู่วิชาชีพนี้ กว่าเรื่องราวทั้งหลายจะสร่างซาและลืมๆ กันไป ก็คงเป็นประเด็นให้โจษขานกันไปอีกพักใหญ่ แต่การตั้งคำถามและการพิพากษาตัดสินแบบเหมารวมต่อสื่อมวลชน ก็ต้องคำนึงถึงเหตุผลและข้อเท็จจริงบางอย่างด้วยเช่นกัน
ประการหนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่าในสังคมบริโภคอย่างเข้มข้น ที่รายล้อมรอบตัวเรา ข่าวกลายเป็นสินค้าตัวหนึ่ง ที่สามารถขายได้ เพราะอาชีพสื่อมวลชนโดยแท้จริงแล้วคืออาชีพ “ขายข่าว” นั่นเอง แต่ในฐานะที่เป็นวิชาชีพและเป็นถึงสถาบันที่มวลชนต่างให้การยอมรับ ก็มีการกำหนดหลักการ จิตสำนึก อุดมการณ์และจรรยาบรรณออกมา ควบคุมกำกับคนในวงการดังกล่าว กลไกและหลักการเหล่านี้ คือจริยธรรมของคนในวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นแบบบทและมาตรฐานที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ในสาขานี้ ปัญหามันอยู่ที่ว่า “คนข่าว” แต่ละคน และแต่ละสำนักจะรักษามาตรฐานในวิชาชีพของตนไว้ได้มากน้อยแค่ไหน อะไรคือ “ความพอดี” และ “เหมาะสม” จึงเป็นคำถามที่ท้าทายคนในวงการสื่อเสมอมา
แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับพฤติกรรมของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงออกอย่างน่าชิงชัง และควรได้รับการประณามยิ่งว่า นั่นคือเหล่าฝูงแร้งอิสระ ที่ไม่ได้สังกัดในสำนักวิชาชีพนี้ แต่แสดงออกอย่างกระเหี้ยนกระหือรือที่จะถ่ายภาพของตัวเองเพื่อนำมาอวดและเผยแพร่ต่อ ว่าได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆ โดยไม่อินังขังขอบ และคำนึงถึงความเหมาะสม หลายครั้งส่อถึงการแสดงออกอย่างไร้ยางอาย และขาดจิตสำนึกโดยสิ้นเชิง
ก่อนหน้านี้ ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพบุคคลสำคัญ เรายังเห็นภาพเหล่าบรรดาคุณหญิงคุณนาย และผู้สูงศักดิ์ พากันกระหน่ำถ่ายภาพตัวเองอย่าหน้าตาเฉย ในกาละและเทศะที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง นับประสาอะไรกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพิธีศพของบุคคลสาธารณะอย่างคุณปอ ทฤษฎี ที่ใครๆ ก็รักและชื่นชม พวกเขาต้องการแค่ให้ตัวเองได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญ เพื่อจะได้สร้าง “ความทรงจำส่วนบุคคล” และ “ความทรงจำร่วมทางสังคม” ในยุคที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพมันแสนสะดวกและอยู่ในมือของตัวเอง
สิ่งเดียวที่จะควบคุมเหล่าฝูงแร้งอิสระเหล่านี้ได้ ไม่ใช่จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่มันอยู่ที่ “สามัญสำนึก” ของพวกเขานั่นต่างหาก